โควิดเริ่มซา ฝีดาษลิงก็มาแทรก

-

            หลังจากไทยเราต้องรับมือการระบาดอย่างรวดเร็วของโรคโควิด-19 ระลอกสายพันธุ์โอมิครอน มากว่า 3 เดือนในช่วงต้นปี จนตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดรายใหม่รายวัน ลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับตั้งแต่ก่อนโอมิครอนระบาด หลายคนเลยมีความหวังกับชีวิตมากขึ้น ว่าโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น และเราจะกลับไปใช้ชีวิตตามปรกติได้อีกครั้ง

แต่ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกเสียก่อน เพราะมีรายงานข่าวการพบผู้ป่วยด้วยโรค “ฝีดาษลิง (monkeypox)” เกิดขึ้นในหลายประเทศ และแม้ว่าจะยังมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ไม่มากนัก คือประมาณ 300 – 400 รายใน 20 กว่าประเทศ แต่ก็สร้างความกังวลปนหวาดกลัวว่ามันจะกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ไปทั่วโลกเหมือนดั่งโควิดอีกหรือไม่

ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในกรุงลอนดอนและบางเมืองของประเทศสหราชอาณาจักร แม้หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะเน้นว่า โรคนี้ไม่สามารถแพร่ระบาดได้โดยง่าย แต่ในเดือนเดียวกันนั้นก็มีรายงานเรื่องนี้จากประเทศยุโรปอื่นๆ ได้แก่ โปรตุเกส และสเปน โดยตรวจพบว่าเป็นเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์แอฟริกันตะวันตก ที่มีอัตราการเสียชีวิตไม่สูงนัก คือน้อยกว่าร้อยละ 1 ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการไม่สบายนาน 2-4 สัปดาห์ ก่อนที่จะหายได้เอง

ลักษณะฝีและแผลที่เกิดขึ้นบนแขนและขาของเด็กหญิงอายุ 4 ขวบซี่งเป็นโรคฝีดาษลิง

จากนั้นก็มีรายงานข่าวตามมาจนเริ่มสร้างความกังวลมากขึ้น คือพบผู้ติดโรคฝีดาษลิงในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ซึ่งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ) รวมถึงผู้ป่วยในประเทศออสเตรเลีย อิสราเอล และลามไปยังประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ซึ่งโดยมากนั้นพบว่ามีจุดเริ่มต้นจากผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในแอฟริกาตะวันตก

โรคฝีดาษลิงมีลักษณะเบื้องต้นที่คล้ายกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) ในคน หรือแม้แต่โรคอีสุกอีใส (chickenpox) และโรคหัด (measles) โดยมีอาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เป็นไข้ อ่อนแรง แต่มีจุดแตกต่างสำคัญคือ จะมีอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่หู ขากรรไกร คอ หรือขาหนีบ ก่อนเริ่มมีผื่นคันตามใบหน้า และพุพองขึ้นจากของเหลวภายใน แล้วแตกออกกลายเป็นแผล ตลอดจนลามไปขึ้นในบริเวณต่างๆ เช่น หลังมือหลังเท้า มากน้อยแล้วแต่บุคคล ส่วนใหญ่ยังมีฝีพุพองนี้ขึ้นในปากอีกด้วย ขณะที่บางส่วนอาจขึ้นตามอวัยวะเพศหรือดวงตา

ตัวการที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษลิงนั้นเป็นเชื้อไวรัสในสกุลออร์โทพอกซ์ไวรัส (Orthopoxvirus) วงศ์พอกซ์วิริแด (Poxviridae) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดดีเอ็นเอสายคู่ แหล่งกำเนิดของมันอยู่ในป่าเขตร้อนของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ซึ่งใช้พื้นที่การกระจายทั้ง 2 บริเวณเป็นตัวแบ่งสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไวรัสดังกล่าวด้วย  เชื้อไวรัสนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1958 ว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคคล้ายฝีดาษคน ในลิงแสมที่เลี้ยงไว้ใช้เป็นสัตว์ทดลอง ต่อมาในปี 1970 จึงมีรายงานการติดเชื้อโรคนี้ในมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศซาอีร์และประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา ลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก

การกระจายของโรคฝีดาษลิงในประเทศต่างๆ (สีแดง) ที่มีการระบาดช่วงเดือนพฤษภาคม 2022

แม้จะถูกตั้งชื่อว่า ‘ฝีดาษลิง’ ตามการค้นพบครั้งแรก แต่สัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคหลักในธรรมชาตินั้น เชื่อกันว่าเป็นพวกสัตว์ฟันแทะในทวีปแอฟริกา เช่น หนูแกมเบียนเพาช์แรต (Gambian pouched rat) , หนูดอร์ไมซ์ (dormice) และกระรอกแอฟริกา เป็นไปได้ว่าการที่คนพื้นเมืองนำเอาสัตว์พวกนี้มาเป็นอาหารจะเป็นพาหะสำคัญที่นำเชื้อไวรัสมาสู่คน

หนู Gambian pouched rat ที่พบว่าเป็นหนึ่งในสัตว์พาหะของโรค

ดังนั้น ข่าวลือที่บอกว่ามีการระบาดของโรคฝีดาษลิงแถวจังหวัดชลบุรี โดยติดจากยุงที่กินเลือดลิง แล้วมากัดคนอีกทีนั้น จึงไม่ได้เป็นความจริงแม้แต่น้อย แต่เป็นการเอาข่าวเรื่อง “โรคมาลาเรีย” มาปนกับฝีดาษลิง รวมถึงข่าวปลอมที่บอกว่า โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดไปทั่วโลก ผ่านการฉีดวัคซีนโรคโควิด (ยี่ห้อแอสตราเซเนก้า) ก็ยิ่งเป็นเรื่องเหลวไหลและชักจะไปกันใหญ่

เชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ทั้งผ่านทางแผลตามผิวหนัง หรือผ่านเนื้อเยื่อที่มีเมือกหุ้ม เช่น ดวงตา จมูก และปาก ถ้าเราถูกสัตว์ที่ติดเชื้อมากัดหรือข่วน หรือเนื้อของมันเข้าไป ก็อาจติดโรคได้ ส่วนการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คน มักจะอยู่ในวงจำกัดของผู้ที่ใกล้ชิดคลุกคลีกัน แล้วได้รับสารคัดหลั่งโดยตรงจากผู้ติดเชื้อ เช่นผ่านการสัมผัสตัว หรือผ่านลมหายใจ หรือแม้แต่ได้รับเชื้อทางอ้อมจากเสื้อผ้า เครื่องนอน เครื่องใช้ที่ปนเปื้อนไวรัส รวมถึงการอยู่ใกล้ชิดกันระหว่างมีเพศสัมพันธ์ (แต่ไม่ได้จัดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)

นอกจากนี้ การที่โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวก่อนแสดงอาการป่วยค่อนข้างนาน คือ 7-14 วัน ทำให้เพิ่มโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะแพร่กระจายโรคออกไปโดยไม่รู้ตัวได้ เพราะยังไม่มีฝีพุพองเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับตอนที่แสดงอาการแล้วก็ตาม ปัจจุบันเราสามารถใช้วิธีตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น วิธีพีซีอาร์ (PCR) มาตรวจตัวอย่างแผลฝีจากผู้ที่น่าสงสัยได้

แม้ว่าโรคฝีดาษลิงจะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงมาก เหมือนอย่างโรคฝีดาษในคน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงกว่าร้อยละ 30 (เทียบกับร้อยละ 1 ของฝีดาษลิงสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก และร้อยละ 10 ของสายพันธุ์แอฟริกากลาง) แต่ก็มีข้อแนะนำให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับโรคฝีดาษลิง ควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน  ทั้งนี้สามารถนำเอาวัคซีนของโรคฝีดาษในคนมาฉีดป้องกันแทนได้เนื่องจากเป็นไวรัสที่คล้ายกัน สาเหตุหนึ่งที่โรคฝีดาษลิงกลับมาระบาดใหม่เริ่มจากในทวีปแอฟริกานั้น อาจเป็นเพราะว่าทั่วโลกได้เลิกปลูกฝี ให้วัคซีนโรคฝีดาษคน ไปตั้งแต่ ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) แล้วเนื่องจากประสบความสำเร็จในการกำจัดโรค และนั่นอาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่มีต่อโรคฝีดาษลิงพลอยลดลงด้วย

จริงๆ แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่พบการระบาดของโรคฝีดาษลิงนั้น ก็เพราะว่าประเทศต่างๆ พากันเปิดประเทศให้เดินทางไปมาหาสู่กันสะดวกมากขึ้นหลังจากโรคโควิดไม่ใช่ปัญหาใหญ่แล้ว และไม่แน่ว่าเราอาจมีโรคระบาดแปลกๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ที่ควรจะต้องเฝ้าระวังกันไว้ แต่ไม่แตกตื่นตระหนกกันจนเกินไป


คอลัมน: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่องและภาพ: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!