เงินคำกำแก้ว เงินทองของมีค่าในภาษาลาว

-

เงินเป็นสิ่งที่ผู้คนบนโลกนี้ต้องการ และแทบทุกภาษามีคำใช้เรียกขาน สื่อถึงความสำคัญในความเป็นอารยธรรมมนุษย์ที่พัฒนาต่อเนื่องขึ้นจากการใช้สินค้าแลกเปลี่ยน ภาษาไทยและภาษาลาวมีคำเรียกขานเงินทองของมีค่าที่คล้ายคลึงกันมาแต่โบราณ ทว่าบางคำนั้นมีความหมายแตกต่างคลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย หากทราบไว้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและสื่อสารได้ถูกต้อง

 

 

ເງິນ เงิน คำว่า เงินในภาษาลาวและภาษาไทยนั้นเป็นคำเดียวกัน หมายถึงทั้งเงินตราและโลหะธาตุเงินซึ่งมีค่าใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยน ลาวใช้เงินกีบ ກີບ (Laos Kip: LAK) เป็นสกุลเงินตราหลัก โดยใช้ธนบัตรตั้งแต่มูลค่าต่ำสุดพันกีบ ถึงธนบัตรมูลค่าสูงสุดห้าหมื่นกีบ ค่าเงินลาวปัจจุบันอยู่ที่ 1 กีบ เท่ากับ 0.003 บาท หรือพันกีบลาวแลกเงินได้สามบาทไทย รัฐบาลลาวประกาศให้ประชาชนใช้เงินกีบ แต่ในทางปฏิบัตินั้น แม่ค้าในตลาดและร้านค้ายินดีรับเงินบาทไทยในการชำระค่าสินค้าในชีวิตประจำวัน และยินดีรับเงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายสินค้ามูลค่าสูง

 

ຄຳ คำ หมายความว่า ทองคำ (Gold) อันเป็นโลหะมีค่าใช้ทำเครื่องประดับต่างๆ ภาษาลาวยังเก็บคำว่า ຄຳ ในความหมายของ “ทองคำ” ไว้ เช่นเดียวกับในภาษาไทย

 

ທອງ ทอง ในภาษาลาวหมายความว่า ทองแดง (Copper) หรือ สำริด (Bronze) เช่นในการแข่งขันกีฬา ผู้ที่ได้เหรียญรางวัลมีสามลำดับ คือ ຫຼຽນຄຳ เหลียนคำ ຫຼຽນເງິນ เหลียนเงิน และ ຫຼຽນທອງ เหลียนทอง คือเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ตามลำดับ หากฟังข่าวกีฬาในภาษาลาวแล้วต้องระวัง มิฉะนั้นอาจแปลผิดพลาดได้

 

ສະພັ້ນ สะพั้น หมายความว่า สำริดรมดำ เห็นได้มากในพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างโบราณที่มีผิวโลหะสำริดแต่เป็นสีดำมันวาวงดงามทรงคุณค่า คำนี้ในภาษาไทยหมายถึงโรคชนิดหนึ่ง มักเกิดแก่เด็กเล็กๆ เพราะผิดอากาศ

 

ແກ້ວ แก้ว ในที่นี้เมื่อกล่าวถึงของมีค่า จะหมายถึง พลอยที่เป็นหินสีมีค่า ไม่ใช่แก้วที่ประดิษฐ์ขึ้นจากทรายหลอมหรือซิลิกา แขวงในภาคเหนือของลาวเป็นพื้นที่ที่มีเหมืองพลอยอุดมสมบูรณ์ จึงได้ชื่อว่า ບໍ່ແກ້ວ

 

ແກ້ວປະເສິດ แก้วปะเสิด หมายถึง อัญมณีมีค่าทั้งปวง รวมทั้งเพชร พลอย ผลึกหินสีที่สามารถขุดขึ้นจากแผ่นดิน ประเทศลาวยังมีความอุดมสมบูรณ์ด้านแร่ธาตุและอัญมณีสูง จึงได้เริ่มเปิดสัมปทานให้เข้าไปขุดเจาะทำเหมืองในตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ อย่างไรก็ตาม คนลาวเป็นกังวลว่าทรัพยากรเงินทองแก้วมีค่าเหล่านี้จะตกเป็นของต่างชาติโดยที่ลาวไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!