นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้จัดสร้างละครเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์นำเสนอต่อสายตาผู้ชม เรียกได้ว่าละครโทรทัศน์เรื่องนี้มาถูกจังหวะและทันยุคสมัย ทั้งที่เป็นละครสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่กลับมีเนื้อหาร่วมสมัยกับผู้คนในปัจจุบันอย่างดีเยี่ยม
ปัจจุบันนี้ การพูดถึงเรื่องเพศ มีมุมมองที่กว้างไกลกว่ายุคก่อน เพศสภาพของคนเรามิได้จำกัดอยู่แค่ชายกับหญิง แต่ยังมี ‘เพศทางเลือกอื่นๆ ซึ่งผู้คนยอมรับรวมอยู่ด้วย เพศทางเลือกดังกล่าวมีศักดิ์ศรี มีบทบาท และมีกฎหมายรองรับ ปรากฏการณ์นี้แพร่หลายไปทั่วโลก และทำให้ผู้คนมีเสรีทางเพศ ซึ่งแสดงออกในด้านการแต่งกาย สิทธิทางการเมือง สิทธิในการสร้างวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มเพศของตนได้อย่างไม่ต้องเกรงกระแสต่อต้าน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กระแสต่อต้านเพศทางเลือกถูกตราไว้อย่างเคร่งครัดในตัวบทกฎหมาย ประเพณี วัฒนธรรม อาชีพ ฯลฯ โดยมีบทลงโทษทั้งทางกฎหมายและสังคม สังคมไทยก็มีตัวบทกฎหมายที่ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลอย่างเคร่งครัดเช่นกัน
ตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสยอมรับเพศทางเลือกก็คือสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่เสนอเรื่องราวของเพศทางเลือก จากสิ่งที่ถือว่า ‘อปกติ’ (ต้องนำเสนอแบบหลบๆ ซ่อนๆ) ให้กลายเป็น ‘ปกติ’ ในแต่ละสังคม สื่อมวลชนที่ว่านี้รวมถึงสื่อบันเทิงทั้งในภาพยนตร์และโทรทัศน์ ดังจะเห็นได้ว่าการแพร่หลายของละครวาย อันหมายถึงละครที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายกับชาย และละครยูริ อันหมายถึงละครที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิง ในปัจจุบัน ซึ่งนำเสนอฉายทางฟรีทีวีและผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครวายของไทยนั้น ได้รับความนิยมไปถึงนานาประเทศ จนกลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับกันทั่วโลก
แต่ดูเหมือนละครแนวยูริจะน้อยกว่าละครวาย ดังนั้น เมื่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสหยิบยกเรื่องราวของหญิง ‘เล่นเพื่อน’ ในราชสำนักมาสร้างเป็นละครขนาดยาวถึง 24 ตอน เสนอฉายและโปรโมตจนได้รับความสนใจในวงกว้างย่อมสะท้อนปรากฏการณ์ทางเพศที่น่าสนใจยิ่ง
หม่อมเป็ดสวรรค์มีที่มาจากเพลงยาว บทประพันธ์ของ “คุณสุวรรณ” กวีหญิงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งรังสรรค์ผลงานอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 แม้ว่าจะฝากฝีมือไว้เพียงไม่กี่เรื่อง แต่กลับเป็นกวีหญิงที่ได้รับความสนใจจากนักวรรณกรรมศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะบทประพันธ์ของ “คุณสุวรรณ” มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งในด้านภาษา มุมมองทางสังคม และเรื่องราวที่เลือกตีแผ่ในแง่มุมที่เป็นจริงของยุคสมัย ก็ได้รับการพรรณนาไว้ในงานกวีของท่าน
เพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นงานบันทึกภาพชีวิตที่เกิดขึ้นในราชสำนักฝ่ายใน เป็นเรื่องราวของ ‘หม่อมสุด’ กับ ‘หม่อมขำ’ ทั้งสองเคยรับราชการเป็นหม่อมห้ามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ สมเด็จเจ้าวังหน้าในรัชกาลที่ 3 หม่อมสุดมีความสามารถทางกวี เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จเจ้าวังหน้า ส่วนหม่อมขำนั้นมีความเชี่ยวชาญในด้านเครื่องเสวยทั้งคาวและหวาน แต่เมื่อสมเด็จเจ้าวังหน้าสิ้นพระชนม์ ผู้คนซึ่งเคยอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ก็เหมือนแพแตก ต้องกระจัดพลัดพรายแยกย้ายกันไป หม่อมขำกับหม่อมสุดได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าวิลาส) พระปิยธิดาในรัชกาลที่ 3 ตำหนักของพระองค์เจ้าวิลาส เรียกขานกันว่าตำหนักใหญ่ พระองค์เจ้าวิลาสทรงอุปถัมภ์กวี ดังที่ทรงอุปถัมภ์คุณสุวรรณไว้ในตำหนัก รวมถึงหม่อมสุด ตัวละครสำคัญในเรื่องด้วย นอกจากนี้ยังทรงอุปถัมภ์ศิลปินแขนงต่างๆ ตำหนักใหญ่จึงมีแต่ความครึกครื้น หากในพระราชสำนักฝ่ายในเต็มไปด้วยระเบียบแบบแผนเคร่งครัดแล้ว ตำหนักใหญ่ก็คือดินแดนเสรีซึ่งหญิงฝ่ายในจะเลือกแสดงออกได้อย่างเสรี
เมื่อเจ้านายเจ้าของตำหนักทรงเปิดทางให้ทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกตามขอบเขตอันสมควร และทรงส่งเสริมให้ก้าวหน้าในสิ่งที่เป็น การใดที่ขัดต่อกฎมณเฑียรบาลก็ให้กระทำอยู่แต่ในตำหนัก มิให้แสดงออกอย่างประเจิดประเจ้อภายนอกเป็นอันขาด ความรักของหม่อมสุดกับหม่อมขำจึงค่อยๆ สุกงอม เดิมเคยแอบรักและถูกนินทาว่าเป็นคู่เล่นเพื่อนกัน ก็เริ่มแสดงออกได้อย่างเปิดเผย แต่พระองค์เจ้าวิลาสทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลกว่านั้น ทรงเห็นว่า ‘ความเป็นหญิง’ มิควรถูกสังคมกีดกัน การใดที่ชายทำได้ หญิงก็ต้องทำได้เช่นกัน จึงมีพระประสงค์ให้หม่อมสุดได้รับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ทั้งที่ทรงทราบดีว่าผู้หญิงมิอาจรับราชการได้ แต่ก็ทรงเคี่ยวเข็ญให้หม่อมสุดแสดงความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้หญิงก็มีปรีชาไม่ด้อยกว่าชาย ส่วนหม่อมขำ ก็ทรงผลักดันให้ได้รับราชการในกองวิเสท ทั้งที่ทรงทราบดีว่าผู้ซึ่งได้รับราชการในกองวิเสทนั้น ล้วนสืบเชื้อสายกันมา อันเป็นจารีตดั้งเดิม ฝีมือของหม่อมขำมิได้ด้อยกว่าผู้อื่น แต่การที่หม่อมขำถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงเล่นเพื่อน กลับเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้หม่อมขำได้รับราชการ
ละครโทรทัศน์เรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ จึงมิได้นำเสนอแค่เรื่องเล่นเพื่อน แค่เพียงอย่างเดียว แต่เพศวิถีซึ่งขัดกับเพศสภาพตามที่สังคมคาดหวังก็ส่งผลต่อชะตากรรมของตัวละครด้วย เหตุนี้เอง หม่อมเป็ดสวรรค์จึงมิใช่เพียงเรื่องรักๆ ใคร่ ๆ หากแต่เป็นเรื่องของความรักต้องห้ามในบริบทสังคมต้นรัตนโกสินทร์ ว่าตัวละครต้องต่อสู้ฝ่าฟันผู้คนรอบข้างและกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างไร อีกทั้งตีแผ่ว่าสังคมไทยจัดการกับหญิงเล่นเพื่อน ผู้ถูกตราหน้าว่าเป็นความผิดปกติในสังคมอย่างไร และการต่อสู้ของหม่อมสุดกับหม่อมขำ สามารถฝ่ามรสุมครั้งนั้นเพื่อให้ ‘รักของห้าม’ ของตน กลายเป็น ‘รักต้องไม่ห้าม’ ได้อย่างไร และนี่คือความสนุกของละครเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์
ในปัจจุบัน เพศทางเลือกที่มีอยู่มากมายในสังคมไทย ต่างก็มีความอิสระเสรีในการใช้ชีวิต ผิดแผกจากในอดีต ละครโทรทัศน์เรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ จึงจำลองสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ว่าบุคคลที่เป็นเพศทางเลือกมีความเป็นอยู่กันอย่างไร หลายๆ ประเด็นอาจให้ข้อคิดที่น่าสนใจแก่บรรดาเพศทางเลือกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ละครโทรทัศน์เรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ จึงเป็นละครที่ห้ามพลาด
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ‘ลำเพา เพ่งวรรณ’
ภาพ: สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS