ในยามที่บ้านเมืองเผชิญภาวะวิกฤติจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความตกต่ำด้านเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ทำให้มีการนำสำนวนเปรียบตั้งแต่สมัยโบราณมาใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ที่น่าสนใจ เช่น มดแดงล้มช้าง เปลี่ยนม้ากลางศึก เป็นต้น
มดแดงล้มช้าง
มดแดงเป็นมดขนาดเล็ก ตัวยาวประมาณหนึ่งเซนติเมตร มีสีแดงปนส้ม มักทำรังอยู่ด้วยกันบนต้นไม้ เมื่อถึงฤดูกาลก็จะวางไข่เป็นกลุ่ม มีผู้นำไข่ของมันไปทำอาหาร จึงเกิดการเลี้ยงมดแดงเป็นอาชีพที่ทำรายได้งาม อย่างไรก็ตาม แม้มดแดงจะตัวเล็กแต่ก็ไม่ควรวางใจ เพราะถ้าใครถูกกัดก็จะรู้สึกระคายเคืองแสบร้อน เพราะมันปล่อยสารพิษที่เป็นกรดใส่แผล ส่วนช้างเป็นสัตว์สี่เท้าที่มีขนาดใหญ่กว่าสัตว์สี่เท้าทั้งปวงทั้งยังทรงพลังมหาศาล ดังนั้นเมื่อมดแดงและช้างต่างกันมากเหลือเกิน มดแดงจะสู้กับช้างจนสามารถเอาชนะทำให้ช้างล้มได้ต้องเกิดจากพลังปัญญาและความสามัคคีของพวกมันเท่านั้น
“มดแดงล้มช้าง” เป็นคำกล่าวมาตั้งแต่สมัยโบราณ ต่อมาเรืออากาศตรี ขุนอักษรสุทธิ์ นำมาแต่งเป็นนิทานสุภาษิตเรื่อง “ช้างกับมดแดง” พิมพ์รวมอยู่ใน “หนังสืออ่านจรรยา นิทานสุภาษิต” ซึ่งกรมศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ขึ้นใน ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) มีเนื้อเรื่องโดยย่อว่า วันหนึ่งช้างเห็นรังมดแดงที่หลุดจากกิ่งไม้ลงมาขวางทางเดินก็โกรธ หาว่ามดแดงไม่หลบหลีกตน ทั้งๆ ที่ตัวเล็กนิดเดียว ฝ่ายมดแดงได้ฟังก็โกรธ คิดว่าถึงพวกตนจะตัวเล็กแต่ก็เป็นสัตว์ที่มีชีวิตเหมือนกัน ควรแสดงฝีมือให้ช้างเห็น จึงแกล้งบอกว่าพวกตนแบกรังไม่ไหว ขอให้ช้างใช้ปลายงวงเกี่ยวรังของพวกตนขึ้นไปไว้บนกิ่งไม้ ส่วนช้างก็อยากอวดฤทธิ์จึงเอาปลายงวงจับรังมดแดง พวกมดแดงได้ทีก็กรูกันเข้าไปในงวงช้าง ช่วยกันกัดจนช้างได้รับความทุกข์ทรมานยิ่ง จะสลัดฟัดฟาดเท่าไรมดก็ไม่หลุดจากงวง จึงถามมดว่ากัดตนทำไม นายของมดตอบว่า “ที่ข้ากัดเจ้านี้ เพราะเจ้าถือตนว่ามีอำนาจกว่าผู้อื่น จึงดูหมิ่นพวกข้าที่เล็กกว่า จึงทำให้เห็นฝีมือเสียบ้าง ถ้าเจ้ายังถือตัวว่าเก่งกาจ ไม่มีผู้ใดสู้ได้อยู่ตราบใด ข้าก็จะไม่วาง จะกัดและวางพิษจนเจ้าถึงแก่ความตาย” ช้างดิ้นรนอย่างสุดความสามารถจนสิ้นความพยายามจึงต้องยอมแพ้ส่งมดขึ้นต้นไม้ไป ตั้งแต่นั้นมาช้างก็หมดทิฐิ ไม่คิดว่าตนเก่งกว่าผู้อื่นอีกเลย
เมื่อใช้ “มดแดงล้มช้าง” เป็นสำนวนเปรียบจะหมายถึงประชาชนหรือผู้น้อยด้อยอำนาจนั้น ถ้ารู้จักใช้ปัญญาและมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็สามารถเอาชนะผู้มีอำนาจยิ่งที่ลืมตนหลงตัวเองได้ เช่น นักเรียนโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอโรงเรียนหนึ่งรวมตัวกันประท้วงผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีนโยบายและพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายด้าน เช่นการตั้งสหกรณ์จำหน่ายอุปกรณ์การเรียนในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด แล้วออกกฎให้นักเรียนต้องซื้อจากสหกรณ์ นักเรียนเคยประท้วงหลายครั้งแต่ผู้อำนวยการก็ไม่สนใจ ต่อมาเมื่อเหตุการณ์ลุกลามบานปลายถึงขั้นนักเรียนรวมกลุ่มกันเดินทางไปร้องเรียนที่ศึกษาธิการจังหวัดเพื่อเรียกร้องให้ย้ายผู้อำนวยการ อาจารย์บางคนก็จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กัน ตอนหนึ่งอาจารย์สมรพูดขึ้นว่า “คราวนี้เด็กๆ เอาจริง ผอ. คงต้านไม่อยู่แน่ เข้าทำนองมดแดงล้มช้างอย่างโบราณว่านั่นแหละ”
เปลี่ยนม้ากลางศึก
ในสมัยโบราณนิยมใช้ม้าเป็นพาหนะในการทำศึกสงคราม โดยเฉพาะขุนศึกผู้นำทัพจะมีม้าประจำตน เพราะได้ผ่านการฝึกฝนบังคับขับขี่กันจนรู้ใจ ถ้าเปลี่ยนม้าขณะอยู่ในระหว่างการทำสงครามก็เท่ากับต้องเริ่มต้นใหม่ ผู้ขับขี่และม้าก็ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันใหม่ อาจต้องใช้เวลากว่าจะเคยคุ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวมาแต่โบราณว่านักรบอย่าเปลี่ยนม้ากลางศึก เพราะอาจทำให้แพ้สงครามได้ เนื่องจากในการทำสงครามนั้นได้มีการวางกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้าให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด ยกเว้นว่าม้านั้นสิ้นสภาพหรือไม่อยู่ในภาวะที่จะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนมิฉะนั้นอาจทำให้ต้องแพ้สงครามได้เช่นกัน
ได้มีการนำ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบ หมายถึงการเปลี่ยนผู้นำที่ด้อยประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อมิให้เกิดความหายนะแก่ส่วนรวมในอนาคต เช่นในการประชุมคณะกรรมการผู้บริหารบริษัทก่อสร้างคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีกรรมการคนหนึ่งเสนอความเห็นในที่ประชุมเรื่องควรพิจารณาปรับเปลี่ยนผู้จัดการโครงการหรือไม่ เพราะจากผลงานที่ผ่านมายังทำหน้าที่ได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หลังจากการอภิปรายของคณะกรรมการแล้ว ประธานได้กล่าวสรุปว่า “ผมคิดว่าขณะนี้งานฝ่ายก่อสร้างกำลังดำเนินการต่อเนื่องอยู่ ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ถ้ามีการเปลี่ยนม้ากลางศึกอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทได้ ควรจะติดตามการทำงานของผู้จัดการไปอีกสักระยะหนึ่ง ถ้าเห็นว่าไปไม่ไหวจริงๆ ค่อยพิจารณาอีกครั้งนะครับ”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์