จู่ๆ “ต้นกระท่อม” ก็กลายเป็นกระแสนิยมในตลาดต้นไม้เมืองไทยเรา มีคนแตกตื่นจับจอง สั่งซื้อกลับไปปลูกกันใหญ่ ด้วยราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน ขึ้นกับขนาดและความสมบูรณ์ของต้นและใบ รวมถึงสายพันธุ์ของกระท่อม เนื่องจากในขณะนี้ได้มีการปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 สามารถเพาะปลูกและจำหน่ายได้ กระท่อมจึงกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ในฐานะพืชสมุนไพรสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยร่างกาย
กระท่อม หรือที่บางท้องถิ่นเรียกว่า ท่อม หรือ อีถ่าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa เป็นพืชยืนต้นใบเขียว ขนาดใหญ่ปานกลาง อยู่ในวงศ์ Rubiaceae (วงศ์ต้นเข็ม ต้นกาแฟ) เป็นพืชท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และปาปัวนิวกินี ในประเทศไทยนั้น ส่วนมากพบในป่าธรรมชาติของจังหวัดภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตามข้อมูลระบุว่ามีอยู่ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์แตงกวา พันธุ์ยักษาใหญ่ และพันธุ์ก้านแดง
ใบสดหรือแห้งของกระท่อม มักนำมาใช้เคี้ยว สูบ หรือต้มน้ำชงให้เป็นชาสมุนไพร เชื่อกันว่ามีสรรพคุณบรรเทาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้นอนไม่หลับ รู้สึกผ่อนคลาย และกดความรู้สึกเมื่อยล้า จึงมีกำลังในการทำงานกลางแจ้งได้นานขึ้น ในตำรับยาพื้นบ้านแต่โบราณนั้น กระท่อมเป็นพืชที่ใช้เข้ายาแก้ท้องเสีย ท้องร่วง รักษาการติดเชื้อในลำไส้ ลดไข้ บรรเทาอาการไอ นอกจากนี้ยังมีการใช้เพื่อลดอาการขาดยาเสพติด เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ยาไอซ์ ยาบ้า เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อใช้ในระยะเวลาที่จำกัด
กระท่อมสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ลดอาการเมื่อยล้า และช่วยให้ทำงานได้นานขึ้น ก็เพราะในกระท่อมมีสารเคมีสำคัญในกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloid) และกลุ่มอื่นๆ สารเด่นคือ สารไมทราไจนีน (mitragynine) ที่ออกฤทธิ์ผ่านตัวรับของสารกลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่น (opioid receptor) โดยเป็นตัวกดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มแอลเอสดี (LSD) และยาบ้า ถ้าร่างกายได้รับสารไมทราไจนีนมากเกินไป จะมีผลเสียต่อระบบประสาทและความจำ มีผลต่อพฤติกรรม และเกิดอาการเสพติดได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดที่ได้จากใบกระท่อมของประเทศไทยมีไมทราไจนีนอยู่สูงถึงร้อยละ 66 ในขณะที่กระท่อมของมาเลเซียนั้นมีไมทราไจนีอยู่เพียงร้อยละ 12
เพราะว่าการเสพกระท่อมส่งผลต่อระบบประสาท จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยกลุ่มวัยรุ่นได้นำเอาน้ำต้มใบกระท่อมไปผสมกับยาแก้ไอ น้ำอัดลมพวกโคล่า ยาคลายกล้ามเนื้อ กาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “4×100” เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะเกิดอาการเสพติด เมื่อขาดยา อาจเกิดอาการจิตหวาดระแวง อารมณ์รุนแรง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ฯลฯ และถ้าใช้ในปริมาณมาก จะไปกดประสาทและการหายใจ ด้วยฤทธิ์ที่เสริมกันของยาหลายชนิดร่วมกัน จนอาจเสียชีวิตได้
การใช้กระท่อมยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น เกิดอาการหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน มีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ อาจมีอาการทางจิตประสาท เห็นภาพหลอนว่าคนจะมาทำร้าย พูดจาไม่รู้เรื่อง และถ้าใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็จะสีผิวคล้ำเข้มขึ้น เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ ถ้าเคี้ยวกลืนกินใบกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านออกจากใบก่อน อาจจะไปติดค้างอยู่ในลำไส้ เนื่องจากร่างกายไม่ย่อย จึงขับถ่ายออกมาไม่ได้และเกิดพังผืดมาหุ้มรอบกากกระท่อม เกิดเป็นก้อน “ถุงท่อม” ขึ้นในลำไส้
ในทางกฎหมายนั้น ประเทศไทยเราได้ควบคุมการใช้กระท่อมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 แล้ว ตามพระราชบัญญัติพืชกระท่อม โดยห้ามปลูกและครอบครอง รวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม จากนั้นใน พ.ศ. 2522 กระท่อมถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 7 โดยห้ามผลิตจำหน่าย นำเข้าหรือส่งออก มีโทษจำคุก 2–5 ปี ปรับ 20,000 –150,000 บาท และห้ามครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แต่ทั้งที่มีความผิดทางกฎหมาย ก็พบว่ายังมีการลักลอบจำหน่ายกันอยู่เรื่อยๆ ส่วนในต่างประเทศนั้น มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างหลากหลายมาก บางประเทศก็ควบคุมกระท่อมด้วยกฎหมายยาเสพติดเหมือนกับประเทศไทย บางประเทศใช้การเฝ้าระวังแทนการออกกฎควบคุม แต่ที่หลายประเทศจัดให้เป็นยาควบคุม และอีกหลายประเทศยอมให้มีการซื้อขายเพาะปลูกได้อย่างถูกกฎหมาย ส่วนองค์การสหประชาชาติ ยังไม่ได้ประกาศให้กระท่อมอยู่ในบัญชีรายชื่อยาเสพติดตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานนี้ ได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ใน พ.ศ. 2562 ผ่อนผันให้ใช้กัญชาและพืชกระท่อมในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้ และต่อมาใน พ.ศ. 2564 มีแก้ไขอีกครั้งให้ปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ยกเลิกบทลงโทษทั้งหมด ประชาชนจึงสามารถเพาะปลูกกระท่อม กิน และจำหน่ายได้อย่างเสรี ผู้ที่เคยถูกจับกุมด้วยความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ได้รับการยกฟ้องและปล่อยตัว
เมื่อเรื่องกลับตาลปัตรอย่างนี้ กระท่อมซึ่งเคยเป็นยาเสพติด ก็มีศักยภาพสูงที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ด้วยสรรพคุณทางยาสมุนไพรของมัน มีการขายกันทางออนไลน์อย่างคึกคัก แถมมีแนวโน้มที่รัฐจะเข้ามาส่งเสริมการปลูกและส่งออกสู่ตลาดในต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ โดยเริ่มมีการนำร่องแล้วในหลายจังหวัดภาคใต้
ถึงกระนั้น ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ออกมาเตือนว่า ถ้าใครจะนำเอาพืชกระท่อมมาทำเป็นอาหาร ยา หรือสมุนไพร ในลักษณะของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปนั้น ก็ต้องขออนุญาตอย.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลก่อนออกจำหน่ายเพื่อยืนยันเรื่องประสิทธิภาพ คุณประโยชน์ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของผลิตภัณฑ์พืชกระท่อมนั้น เพื่อจะนำไปใช้อุปโภคบริโภคกันได้อย่างเหมาะสม ไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ในภายหลัง
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์