ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสุขภาพในละครไทย

ถึงแม้ประเทศไทยเราจะมีหลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขซึ่งออกมาให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและคำแนะนำทางการแพทย์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายประเด็นทีเดียวที่คนไทยยังเชื่อกันแบบผิดๆ

-

ถึงแม้ประเทศไทยเราจะมีหลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขซึ่งออกมาให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและคำแนะนำทางการแพทย์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายประเด็นทีเดียวที่คนไทยยังเชื่อกันแบบผิดๆ ตามความเชื่อโบราณหรือตำนานพื้นบ้าน บางเรื่องก็เป็นสิ่งที่เคยอยู่ในตำราบทเรียนยุคเก่าและปัจจุบันได้ถูกยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนไป แถมบางเรื่องกลับกลายเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์คอยย้ำแล้วย้ำอีก

ตัวอย่างเช่น การระบุว่าต้องดื่มน้ำเยอะๆ ในแต่ละวัน หรืออย่างน้อยต้องถึง 8 แก้วต่อวัน อันที่จริงตัวเลข “8 แก้ว” นี้ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ต้องยึดไว้ตายตัว เพราะความต้องการน้ำของร่างกายแต่ละคนไม่เท่ากัน ขอแค่ได้ดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ (เช่น แกง ซุป)  รวมถึงดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ในปริมาณที่พอเพียงสำหรับร่างกาย ไม่ให้เกิดอาการหิวกระหายน้ำ ร้อนใน อ่อนเพลีย หรือสังเกตจากสีของปัสสาวะก็ได้ ว่ายังค่อนข้างใสไม่ค่อยมีสี หรือมีสีเข้มเหลืองแล้ว (เมื่อไม่ได้รับกินหรืออาหารอะไรที่จะมีผลต่อสีของปัสสาวะ) ซึ่งแปลว่าควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้น

หรืออย่างเวลาที่ไม่สบาย เป็นหวัด เกิดอาการเจ็บคอ คอแดงคออักเสบ กลืนน้ำลายลำบาก ก็ไปหาซื้อยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอาม็อกซิลิน ยาเพนนิซิลิน ฯลฯ มากินกันเอง เนื่องจากนิยมเรียกยาปฏิชีวนะว่า “ยาแก้อักเสบ” ทั้งที่ไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะยาปฏิชีวนะ (antibiotics) เป็นยาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค กลุ่มเชื้อแบคทีเรีย ส่วนไข้หวัดตามฤดูกาล หรือไข้หวัดใหญ่ หรือแม้แต่โรคโควิด-19 ต่างก็เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่สามารถฆ่าได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แพทย์จึงไม่สั่งยากลุ่มนี้ให้คนไข้ เว้นเสียแต่มีอาการติดเชื้อจากแบคทีเรียเท่านั้น

แม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งนับเป็นเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป  ทว่าอาจด้วยความเนียมอายหรือมองเป็นเรื่องต้องห้าม คนไทยเราเลยไม่ค่อยกล้าที่พูดถึงหรือสอนความรู้ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการคุมกำเนิด ซึ่งยังมีความเชื่อความเข้าใจผิดกันเยอะมาก ตั้งแต่การหลั่งอสุจิ” นอกช่องคลอด หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย แต่อาศัยการ “กลั้นอสุจิ” ไว้ไม่ให้หลั่งนั้น ก็ไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพเลย เพราะระหว่างมีเพศสัมพันธ์กัน อสุจิอาจออกมากับสารหล่อลื่นที่อวัยวะเพศชายคัดหลั่ง และนำไปสู่การตั้งครรภ์ได้ วิธีการพื้นบ้านอย่างการ “สวนล้างช่องคลอด” หรือ “ปัสสาวะทันที” หลังมีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์อย่างที่หลายคนเชื่อ หรือแม้แต่การนับวันปลอดภัย “7 วันหน้า 7 วันหลัง” ของการมีประจำเดือน ซึ่งพอจะใช้คุมกำเนิดได้ ก็ยังมีความเสี่ยงสูงอยู่ดี ถ้าสตรีท่านนั้นไม่ได้มีประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ และตรงเวลา

เวลาที่ดูละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ไทย มักมีจุดให้จับผิดเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์ได้อยู่เนืองๆ และน่าเป็นห่วงที่ฉากดังกล่าวจะทำให้ผู้ชมละครจดจำไปผิดๆ คลาดเคลื่อนจากแนวทางปฏิบัติที่ควรเป็น ตัวอย่างเช่น ฉากการปฐมพยาบาลผู้ซึ่งถูกงูกัด ตัวละครเสี่ยงตายโดยใช้ปากดูดพิษงู ก่อนฉีกเสื้อหรือถอดเข็มขัดออกมาพันรัด และขันชะเนาะเหนือจุดที่งูกัด วิธีการเหล่านี้แม้ว่าอาจเคยมีการสอนการเรียนกันมาในอดีต แต่ปัจจุบันไม่แนะนำให้ทำอีกต่อไปอย่างเด็ดขาด เพราะการใช้ปากดูดพิษงูออกจากบาดแผลนั้น นอกจากไม่ค่อยได้ผลเท่าไรแล้ว ผู้ทำยังสุ่มเสี่ยงจะโดนพิษงูเข้าสู่ร่างกาย ถ้ามีแผลภายในช่องปากหรือหลอดอาหาร ส่วนการขันชะเนาะนั้น ถ้าทำไม่ถูกต้อง รัดแน่นเกินไป หรือไม่มีการคลายออกเป็นระยะๆ  อย่างเหมาะสม ก็อาจเกิดความผิดพลาดจนเลือดไม่ไหลเวียนลงไปยังอวัยวะแขนขาที่ถูกรัด และอาจทำให้เนื้อบริเวณนั้นตาย จนต้องสูญเสียอวัยวะในที่สุด

หรือฉากที่ตัวละครเกิดอาการชัก ก็มักมีการช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการเรียกหา “ช้อน หรือแม้แต่เอา “มือ” ของตนเองไปอุดปากคนไข้ ด้วยความเชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้คนที่มีอาการชักอยู่ตรงหน้านั้น กัดลิ้นตัวเองตาย อันที่จริงคนไข้ที่มีอาการชักมักไม่กัดลิ้นตัวเองอยู่แล้ว หรือต่อให้กัด ก็มักเป็นแผลแค่เล็กน้อย ไม่ได้รุนแรงถึงกับตายอย่างที่เชื่อกัน การนำสิ่งของมาอุดปากผู้ป่วยชักจึงเปล่าประโยชน์ เป็นความเชื่อที่ผิด และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยด้วยซ้ำ เพราถ้าใช้ช้อน หรือวัตถุของแข็งาอุดปากให้ผู้ป่วยกัดไว้ ผู้ป่วยอาจกัดแรงถึงกับทำให้ฟันหัก บาดเจ็บได้ และถ้าโชคร้ายกว่านั้น ฟันที่หักอาจไหลเข้าสู่หลอดลม แล้วอุดกั้นทางเดินหายใจ จนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ส่วนการใช้มืออุดปากนั้น คนไข้ซึ่งไม่รู้สึกตัว และไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อาจกัดนิ้วหรือมือของผู้ปฐมพยาบาลจนบาดเจ็บ

ส่วนฉากที่มีเด็กตกน้ำจมน้ำ แล้วพระเอกก็รีบเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการจับเด็กมาแบกพาดบ่า เขย่ากระทุ้ง หรือวิ่งกระแทกไปมา จนเด็กคายน้ำออกจากปาก และพระเอกบอกว่าปลอดภัยแล้ว น้ำออกจากปอดแล้ว นั่นก็เป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากน้ำที่ออกจากปากของผู้จมน้ำ จะเป็นน้ำในกระเพาะอาหารที่เผลอกลืนเข้าไป ไม่ใช่น้ำจากปอดอย่างที่บอก อันที่จริงการปฐมพยาบาลคนจมน้ำแล้วหยุดหายใจ จะต้องกระตุ้นให้เขากลับมาหายใจใหม่โดยเร็วที่สุด โดยการเป่าปากช่วยหายใจ และถ้าคลำไม่พบชีพจร หัวใจหยุดเต้น ก็ใช้วิธีการนวดหัวใจทันที ก่อนรีบส่งแพทย์

ที่ซีเรียสไม่แพ้กัน คือฉากที่ตัวละครในเรื่องกินยาพิษเพื่อฆ่าตัวตาย แล้วตัวเอกมาเจอเข้าและหาทางช่วยเหลือด้วยการพยายามทำให้อาเจียน เช่น หาไข่ดิบมาผสมกับเกลือหรือเบกกิงโซดา แล้วกรอกใส่ปากผู้ป่วยคนนั้น ในความเป็นจริงแล้ว การทำให้อาเจียนไม่ใช่วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่กินสารพิษเข้าไปแบบครอบจักรวาล แต่ต้องรู้ชนิดของสารพิษนั้นเสียก่อนว่าเหมาะที่จะทำหรือไม่ เพราะถ้าเป็นสารพิษชนิดที่เป็นกรดหรือด่าง ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง สารพิษนั้นก็จะย้อนขึ้นมาทำลายหลอดอาหาร หรือถ้าเกิดสำลักขึ้น เนื่องจากกรอกปากขณะที่ผู้ป่วยไม่ได้สติ สลบไปแล้ว สารพิษก็อาจลามไหลลงสู่ปอด เป็นอันตรายร้ายแรงยิ่งขึ้น

ยังมีเรื่องราวด้านการแพทย์และสุขภาพอีกหลายเรื่อง ที่ถ้าทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ของเอกชน หรือแม้แต่สื่อมวลชนกระแสหลัก กระแสรอง ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลอย่างถูกต้อง หรือสอดแทรกไว้ในสื่อที่จดจำง่ายเช่นสื่อบันเทิง ก็จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง ไม่หลงไปทำตามความเชื่อผิดๆ ในอดีตอีก

ภาพประกอบ 1 – ภาพโปสเตอร์แนะนำของศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา เตือนว่า ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอย่างโรคไข้หวัดตามฤดูกาลได้

ภาพประกอบ 2 – การดูดพิษงูออกจากบาดแผลที่ถูกงูกัดนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด และไม่ควรทำ

ภาพประกอบ 3 – เมื่อพบคนจมน้ำจนไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น วิธีปฐมพยาบาลที่ต้องรีบทำ คือการปั๊มหัวใจผายปอด


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!