หนึ่งในคำถามด้านสุขภาพที่ยังได้รับมาอยู่เรื่อย คือเรื่องการดื่มนม เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อความอ้างว่า คนเราโตแล้วไม่ควรดื่มนมอีก เพราะนมส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เป็นโรคได้สารพัด หากไม่จำเป็น ควรเลิกดื่มนม !?
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า แนวคิดต่อต้านการดื่มนมนั้นเป็นความเชื่อซึ่งคนบางกลุ่มพยายามเสกสรรปั้นแต่งให้เกิดความหวาดกลัวจนเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวีแกน (ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ นม และไข่) กลุ่มศาสตร์ชะลอวัย รวมถึงกลุ่มต่อต้านโลกร้อนจากการเลี้ยงปศุสัตว์ แต่ในทางการแพทย์กระแสหลักแล้ว นมเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์สูง และได้รับการส่งเสริมให้บริโภคกันมาโดยตลอด
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (หรือ FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนเป็นวันดื่มนมโลก รณรงค์ให้คนดื่มนมกันเพื่อสุขภาพ เพราะนมเป็นแหล่งของโปรตีนที่ดี มีแคลเซียมในปริมาณสูงและดูดซึมได้ดี ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง และช่วยเพิ่มส่วนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กและวัยรุ่นซึ่งร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ นมยังมีวิตามินหลายชนิดที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี 2 และวิตามินบี 12
แต่ความเชื่อของคนไทยยุคเก่าที่คิดว่าเด็กควรหยุดดื่มนมไปเลยเมื่อหย่านมแม่แล้ว ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความสูงของเด็กไทยที่ค่อนข้างเตี้ยกว่ามาตรฐานโลกมาโดยตลอด สอดคล้องกับข้อมูลว่าเด็กไทยดื่มนมเฉลี่ยเพียงวันละครึ่งแก้ว ดังนั้นจึงต้องมีการรณรงค์กันให้เด็กไทยดื่มนมเพิ่มขึ้นเป็น 2 แก้วต่อวัน
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดื่มนมที่มักโดนอ้างถึง ก็คือ “นมมีน้ำตาลแล็กโทส (lactose) ที่ร่างกายย่อยไม่ได้ ทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นอันตรายแก่สุขภาพ” แต่ความจริงแล้ว คนส่วนใหญ่สามารถย่อยแล็กโทสที่อยู่ในนมได้ตั้งแต่แรกเกิด เพราะไม่ว่าจะเป็นนมแม่ นมวัว หรือนมแพะ ต่างก็มีน้ำตาลแล็กโทส โดยร่างกายจะผลิตเอนไซม์แล็กเทส (lactase) มาย่อยให้เป็นน้ำตาลกลูโคสและกาแล็กโทส ทารกจึงสามารถกินนมแม่ได้ และกินต่อได้เรื่อยๆ
แต่ถ้าเราเลิกดื่มนมไปตั้งแต่เด็กๆ พบว่ามีหลายคนเมื่อโตขึ้นจะเกิดอาการแพ้น้ำตาลแล็กโทส (lactose intolerance) เพราะร่างกายผลิตเอนไซม์แล็กเทสได้น้อยลง แล็กโทสเลยถูกเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ย่อยเป็นอาหารแทน จึงเกิดอาการไม่สบายท้องขึ้นหลังจากดื่มนม เช่น ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย ฯลฯ และจากงานวิจัยของ Densupsoontorn และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Association of Thailand พบว่ามีประมาณร้อยละ 50 ของคนไทยอายุระหว่าง 21-31 ปี ซึ่งมีภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสที่ใช้ย่อยแล็กโทสในนม เนื่องจากไม่ค่อยบริโภคนมในอาหารประจำวัน
แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการกินผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการลดน้ำตาลแล็กโทสให้น้อยลง เช่น เนย ชีส โยเกิร์ต หรือน้ำนมแล็คโทส (lactose free) ซึ่งผู้บริโภคก็จะยังได้รับแคลเซียมและสารอาหารอื่นๆ ในนมอย่างครบถ้วน ที่สำคัญคือ อย่าเอาเรื่องการย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่ได้ไปปนกับการแพ้โปรตีนในนมวัว (cow milk protein allergy) ที่มักถูกนำมาสร้างความหวาดกลัวการดื่มนม เพราะแม้ว่าการแพ้โปรตีนในนมวัวนั้นอาจก่อให้เกิดความผิดปกติกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างรุนแรงและรวดเร็วได้ แต่ก็เกิดกับคนส่วนน้อยมาก (พบประมาณร้อยละ 7 ของทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี) และส่วนใหญ่เด็กที่แพ้โปรตีนในนมวัวนี้จะหายได้เองเมื่ออายุ 5 ขวบขึ้นไป
ยังมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการดื่มนมอีกหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น “นมมีแคลอรีสูง มีแต่ไขมัน น้ำตาล ทำให้อ้วน เป็นโรคเบาหวาน” แต่จริงๆ แล้ว นมไม่ได้เป็นอาหารที่ให้แคลอรีสูงนัก และปริมาณไขมันที่อ้างว่ามีอยู่มากนั้น ก็มีเพียง 4% ในนมปกติที่มีไขมันเต็ม (full fat milk) หรือถ้าเป็นนมที่พร่องไขมัน (skimmed milk) ก็จะมีไขมันน้อยกว่า 2% ด้วยซ้ำ ส่วนน้ำตาลในน้ำนม ก็มีอยู่แค่ประมาณ 4.7% และไม่มีหลักฐานยืนยันว่านมเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานหรือโรคอ้วน ตรงกันข้ามกลับช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในระยะยาวได้ด้วย
บางคนบอกว่า “ดื่มนมแล้วจะเป็นสิว หน้ามัน ผิวหนังอักเสบ” แต่ความจริงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังอย่างสมาคม British Association of Dermatologists แย้งว่า ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่านม หรือฮอร์โมนในผลิตภัณฑ์นม จะเป็นสาเหตุของการเกิดสิว หรือโรคผิวหนังอักเสบ ในทางกลับกัน นมและผลิตภัณฑ์นม อย่างเนยแข็งและโยเกิร์ต ให้สารอาหาร เช่น ซิงก์ (สังกะสี) ไอโอดีน วิตามินเอ และวิตามินบีสอง ที่ดีต่อการรักษาผิวของคุณให้เป็นปกติ
บางกลุ่มก็โจมตีว่า “นมเต็มไปด้วยฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ” แม้ว่าในน้ำนมจะมีฮอร์โมนตามธรรมชาติอย่างเอสโตรเจน (estrogen) อยู่จริง แต่ก็มีน้อยมาก น้อยกว่าที่ร่างกายเราสร้างขึ้นเอง และที่อ้างว่ามีการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต เช่น ฮอร์โมนโบวีนโซมาโทโทรพิน (bovine somatotropin) เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม ก็ไม่เป็นความจริง เพราะได้ถูกห้ามทำมานานแล้ว ในกรณีของยาปฏิชีวนะนั้น มีการใช้จริงเพื่อรักษาวัวตัวที่ป่วย แต่ก็มีกฎเกณฑ์ห้ามนำน้ำนมจากวัวตัวนั้นมาใช้ จนกว่าร่างกายของมันจะกำจัดยาปฏิชีวนะไปหมดแล้ว อนึ่งในการรับซื้อน้ำนมจากฟาร์ม ก็จะมีการตรวจหายาปฏิชีวนะและสารอื่นๆ เสียก่อน ซึ่งถ้าปริมาณเกินกำหนด ก็จะถูกยกเลิกการรับซื้อทั้งแท็งก์
อีกเรื่องที่กลุ่มต่อต้านการดื่มนมชอบอ้างกัน คือบอกว่า การบริโภคนมมากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่าง World Cancer Research Fund ได้ระบุว่า หลักฐานเรื่องนี้ยังมีไม่มากพอที่จะยืนยันว่านมเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง ในขณะที่กลับมีหลักฐานบ่งชี้ว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์นมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในช่วงก่อนหมดประจำเดือน มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักได้
จะเห็นได้ว่า ข้อกล่าวอ้างต่อต้านการดื่มนมที่แชร์กันนั้น จริงๆ แล้วเป็นความเชื่อผิดๆ ที่สามารถอธิบายโต้แย้งได้ด้วยความรู้ทางการแพทย์ ทางโภชนาการ ทางปศุสัตว์ และหวังว่าคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในวัยกำลังเจริญเติบโต จะไม่พลอยหลงเชื่อ จนทำให้ขาดโอกาสได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์แก่สุขภาพ อย่างเช่นนมและผลิตภัณฑ์จากนม
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์