ผู้เขียนชื่นชอบมิลลิก่อนจะได้เจอตัวจริงเสียอีก จากความสามารถที่สะท้อนผ่านผลงาน รวมถึงบุคลิกและทัศนคติ ไม่ยากเลยที่เธอจะ “ตก” ผู้ชมให้กลายเป็นแฟนคลับ เราเองยังเผลอเรียกเธอว่า “ลูกสาว” ด้วยความเอ็นดูโดยไม่รู้ตัว
‘มินนี่’ ดนุภา คณาธีรกุล AKA มิลลิ (Milli) เข้าวงการด้วยการประกวดเวที The Rapper ซีซั่น 2 แต่เรารู้จักเธอครั้งแรกจากเพลง พักก่อน ซึ่งมาพร้อมกระแสวิจารณ์เนื้อหา อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเพลงของเธอนั้นแปลกใหม่และติดหู แม้มีเสียงติชมต่างๆ แต่ก็สร้างความโด่งดังและแจ้งเกิดให้แก่เธอ
มิลลิกลับมาในซิงเกิลที่สอง สุดปัง ครั้งนี้เธอได้รับเสียงชื่นชมอย่างท่วมท้น ด้วยเสน่ห์ของเนื้อเพลงที่มีการใช้ภาษาอันหลากหลาย ทักษะการร้องและแรพที่ไม่ซ้ำใคร สุดปัง จึงปัง! สมชื่อ หนุนส่งให้มิลลิกวาดรางวัลหลายเวที และไปไกลถึงขั้นคว้ารางวัล Mnet Asian Music Awards 2020 (MAMA) ในสาขา Best New Asian Artist Thailand ซึ่งเป็นเวทีมอบรางวัลของประเทศเกาหลีใต้
นอกจากความสามารถด้านงานเพลง หลายครั้งที่มิลลิเป็นตัวแทนของเด็กรุ่นใหม่แสดงทัศนคติต่อประเด็นต่างๆ ซึ่งเธอทำออกมาได้ดี การพูดจาที่ฉะฉาน กล้าแสดงออก ชี้แจงแต่ไม่ก้าวร้าว จนทำให้ผู้ใหญ่หลายคนชื่นชมในตัวเธอ เราจึงยินดีมากที่ได้นั่งสนทนากับสาวน้อยวัยเพียง 18 ปีคนนี้ ที่เชื่อว่าเจเนอเรชั่นแก็ป (generation gap) ไม่น่ากลัวถ้าเราพูดคุย รับฟัง และเรียนรู้ไปด้วยกัน
1
ภาพลักษณ์ของมิลลิคือเด็กวัยรุ่นที่กล้าพูดกล้าแสดงออกและดูมั่นใจในตัวเอง เราจึงอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นตัวเธอ มิลลิสารภาพว่าจริงๆ เธอไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น แต่เป็นคนกล้าทำมากกว่า บางครั้งพลั้งปากพูดไป แต่ถามว่าแน่ใจไหม ก็ไม่ได้แน่ใจทุกอย่าง แค่มีความกล้าที่จะแสดงออกมากกว่า ความกล้าแสดงออกนั้นส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่เปิดกว้างทางความคิด “ครอบครัวของหนูมีสามคน พ่อ แม่ และตัวหนูซึ่งเป็นลูกคนเดียว แต่ว่าญาติๆ ก็อาศัยในละแวกเดียวกัน ครอบครัวหนูเองนั้นค่อนข้างเปิดกว้าง สามารถพูดแสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่อง คุณพ่อคุณแม่รับฟัง แต่รับได้ทั้งหมดรึเปล่าไม่รู้ แต่หนูสามารถพูดในสิ่งที่คิดได้แน่นอน”
นอกจากนั้นเธอยังเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่หล่อหลอมตัวตน “หนูทำกิจกรรมมาตั้งแต่ประถม จนม.ปลายได้ไปประกวดทั้งในและนอกโรงเรียน และเป็นประธานนักเรียนด้วย จริงๆ หนูไม่ได้ตั้งใจอยากเป็นประธานนักเรียนนะคะ อยากเป็นรองประธานมากกว่า เพราะรู้สึกว่าประธานงานเยอะ แต่หนูดันเท่เกินเลยได้เป็นประธาน (หัวเราะ) จุดเริ่มต้นคืออยากเข้าทีมสภานักเรียนเฉยๆ คือตอนแรกตั้งใจจะย้ายโรงเรียน สอบติดแล้วนะคะ แต่พ่อแม่ไม่ให้ย้าย ไหนๆ ก็ต้องอยู่โรงเรียนเดิมต่อแล้ว ก็ทำให้โรงเรียนดีขึ้นกว่าเดิมเลยละกัน”
เมื่อมีใครถามว่าอนาคตอยากเป็นอะไร มิลลิมักตอบว่าเรียนต่อจิตวิทยา ซึ่งเป็นความฝันของเธอ แต่ไม่ใช่ความฝันสูงสุด “จริงๆ หนูอยากเป็นศิลปินตั้งแต่ประถมเลย เป็นความฝันอันดับศูนย์ ไม่กล้าใส่ไว้ในอันดับหนึ่งถึงสิบด้วยซ้ำ คือมีฝันแต่ไม่บอกใคร คิดสภาพเด็กคนหนึ่งโดนผู้ใหญ่ถาม อยากเป็นอะไรลูก อ๋อ หนูอยากเป็นดาราค่ะ เอิ่ม…ลูกปรึกษาแม่ก่อนไหม เราไม่อยากโดนแบบนี้ เราเลยไม่พูดออกไป แต่เดินสายประกวดทุกอย่างนะคะ ทั้งเดินแบบ มิสทีนไทยแลนด์ ไปออดิชั่นค่าย JYP ของเกาหลีก็เคย ไปเดอะว๊อยซ์คิดส์ เดอะว๊อยซ์ผู้ใหญ่ เยอะมาก จนในที่สุดมาติดรายการเดอะแร็ปเปอร์ ซีซั่นสอง
“หนูไม่เคยแร็ปมาก่อน เป็นแค่เด็กที่พูดเร็วเฉยๆ จุดเริ่มต้นที่ทำให้หนูมีแรงฮึดไปสมัครเดอะแร็ปเปอร์ คือ ตอนนั้นไอจีสตอรี่ยังไม่สามารถถ่ายต่อเนื่องได้ ถ่ายได้คลิปละ 15 วินาทีแล้วตัดไป หนูพยายามจะถ่ายไอจีสตอรี่เล่าความรู้สึกกลัวแมลงสาบที่เจอ ซึ่งต้องเล่าให้จบใน 15 วินาที ก็รัวจนจบทัน เพื่อนมาเห็นต่างบอกว่าสมัครแข่งเดอะแร็ปเปอร์ ซีซั่นสองเถอะ เลยตัดสินใจลองดู พอเข้ารอบปุ๊บยิ่งรู้สึก เฮ้ย หรือเราควรเอาดีทางแร็ปวะ (หัวเราะ)”
จากคนไม่เคยแต่งท่อนแร็ปหรือแต่งเพลง แล้วต้องแต่งครั้งแรกเพื่อประกวดในรายการ จนกลายเป็นคนที่ศิลปินต่างๆ อยากร่วมงาน และมีผลงานฟีทเจอริ่งกับศิลปินมากเป็นอันดับต้นๆ คนหนึ่ง สาวน้อยคนนี้มีวิธีพัฒนาตัวเองอย่างไร “ต้องขอบคุณคุณครูสามท่านที่โรงเรียนหนู ที่ช่วยฝึกฝนให้หนูระหว่างแข่งขันในรายการ ครูต้นสอนคณิตศาสตร์ เคยอยู่วงดุริยางค์ ช่วยหนูในเรื่องจังหวะเพลง ครูแพนสอนสังคม เคยอยู่วงฉ่อย ช่วยดูในเรื่องเนื้อเพลง การสัมผัสคำ ครูตองสอนศิลปะ ช่วยดูการอัดวิดีโอ ครูทั้งสามท่านช่วยเกลา ช่วยคอมเมนต์ แล้วหนูก็เอามาปรับอีกที หลังจากนั้นถึงเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง
“คำที่ใช้แต่งเพลง หนูเก็บมาจากที่ได้ยินในชีวิตประจำวัน หนูไปทำงานเจอแก๊งแม่ๆ สไตลิสต์หรือช่างแต่งหน้า บางครั้งเขาอัพเดทคำศัพท์ใหม่ๆ ให้ เช่น เพลงล่าสุด ตาแตก ท่อนแรกหนูร้องว่า ‘ฉ่ำสิมิหลาสงขลาปัตนีแฟนตาซีภูเก็ต’ ท่อนนี้ได้มาจากพี่ช่างแต่งหน้าเลยค่ะ มันฉ่ำ ฉ่ำอย่างอื่นไม่ได้นะ ต้องฉ่ำสิมิหลาสงขลาปัตตานีแฟนตาซีภูเก็ต จดเลยจ้า บางครั้งนำคำที่กำลังฮิตของแม่ๆ เพศที่สาม ซึ่งหนูติดตามตลอดมาใช้
“ในเพลง สุดปัง หนูเป็นคนแร็ปภาษาไทยค่อนข้างเหน่ออยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นเหน่อให้สุดเลยละกัน ก็เป็นภาษากลาง จากนั้นอยากได้ภาษาอีสาน ภาษาใต้ และภาษาเหนือ ให้ครบสี่ภาคเลย ในการแต่งหนูโทร.ถามเพื่อนหรือญาติที่เป็นคนพื้นถิ่นว่าอยากได้คำศัพท์แบบนี้ เขาบอกมา เราก็นำมาประกอบกัน ปรับให้เข้าปากเรา ส่วนสำเนียงก็ฝึกค่ะ ภาษาเหนือเพื่อนบอกต้องออกเสียงว่า บ่า ไม่ใช่ บ่อ เช่น ไม่สามารถ ก็ต้อง บ่าสามารถ ไม่ใช่ บ่อสามารถ นอกจากคำพื้นถิ่นไทย พวกคำภาษาอังกฤษหนูให้เพื่อนที่เก่งภาษาช่วย เราอยากได้คำที่ลงเสียงแบบนี้ๆ เขาจะบอกมา จากนั้นก็ฮึมฮัมๆ ของหนูไปเรื่อย ให้มันรื่นไหลเองตามธรรมชาติ”
นอกจากใช้สัญาตญาณนำในการแต่งเพลงแล้ว มิลลิยังพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้นด้วยการเรียนต่อคณะดนตรี ในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ “หนูกำลังเรียนปีหนึ่งคณะดนตรี แต่ไม่ใช่เอกร้องเพลงนะคะ คนส่วนมากคิดว่าน้องต้องเรียนเอกว๊อยซ์แน่ๆ เปล่าค่ะ หนูเรียนเอกเปียโนแจ๊ส และหนูไม่เคยเล่นเปียโนด้วย เพิ่งหัดเล่น ที่ไม่เรียนเอกขับร้อง แม้หนูจะไม่เคยเรียนร้องเพลงเลย แต่เรามีเพื่อนที่เป็นนักร้องเยอะ เลยคิดว่าไว้ถามเพื่อนเอาก็ได้ (หัวเราะ) ส่วนเหตุผลที่เลือกเปียโนเพราะหนูถามพี่โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เขาแนะนำให้เรียนเปียโน เพราะศิลปินแนวเพลงฮิพฮอพส่วนมากใช้สัญชาตญาณแต่งเพลง ฮึมฮำเมโลดี้ขึ้นมาเอง แล้ววันหนึ่งจะถึงทางตัน ได้แต่เมโลดี้แนวเดิม แต่ถ้าเรียนเปียโนเราจะรู้โครงสร้างการเรียงคอร์ด และสามารถข้ามบางตัวโน้ตเพื่อเปลี่ยนอารมณ์เพลง ยิ่งถ้าเราเอาสัญชาตญาณมาประกอบกับความรู้ เพลงของเรายิ่งพัฒนา ส่วนที่เลือกเปียโนแจ๊สเพราะว่าเท่ แจ๊สมีการด้นสด (improvise) เยอะ
“ในอนาคตหนูอยากพัฒนาตัวเองจนสามารถโปรดิวซ์เพลงเองได้ทั้งหมด ปัจจุบันนี้เวลาหนูทำเพลง หนูบอกพี่โปรดิวเซอร์อยากได้ดนตรีแบบแรดๆ ค่ะ เขางง อะไรคือดนตรีแรดๆ ถ้าหนูสามารถทำเองได้ก็จะดีมาก อยากเห็นเครดิตเพลงเขียนว่า Lyric by Milli, Beat by Milli, Produced by Milli มันเท่ด้วย”
2
มิลลิเริ่มแข่งขันในรายการเดอะแร็ปเปอร์ตอนอายุ 16 ปี และก้าวเข้าสู่การทำงานเต็มตัวอย่างมืออาชีพที่ไม่ใช่การทำกิจกรรมในโรงเรียน แม้เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่เธอรักและเลือกด้วยตนเอง แต่ก็ต้องแลกกับบางสิ่งเช่นกัน “เพราะชอบเลยคิดแค่ว่าต่อให้ยากแค่ไหนก็อยากทำ แต่หนูเอาหลายอย่างแลกกับสิ่งที่หนูชอบเหมือนกัน อย่างหนึ่งคือเวลา เวลาให้ตัวเอง เวลาในการพักผ่อน เวลาที่ได้อยู่กับเพื่อนๆ หรือครอบครัว ก็ลดลงไปแล้วทุ่มให้แก่การทำงานแทน ถามว่าคุ้มค่ากับการแลกไหม ก็คิดว่าคุ้มค่านะคะ เพราะได้เงิน (หัวเราะ) เพราะความสุขของหนูมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงิน ตอนนี้เริ่มหาเงินได้เอง พอเราได้ใช้เงินตัวเองเพื่อป๊ากับแม่ ก็ยิ่งภูมิใจ”
อย่างไรก็ตาม ในโลกบันเทิงไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม สิ่งหนึ่งที่คนบันเทิงต้องประสบคือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ มิลลิได้รู้จักสิ่งนี้ตั้งแต่ก้าวแรกของการเป็นศิลปิน เมื่อเธอปล่อยซิงเกิลแรก พักก่อน ก็โดนกระแสดราม่าถึงความเหมาะสมของเนื้อเพลง ซึ่งบางคนมองว่าเป็นการดูแคลนเพศหญิง แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้นแล้ว แต่บทเรียนยังคงอยู่ “คนถามเยอะว่าหนูรับมือไหวได้ยังไง หนูตอบว่าหนูไม่เคยรับมือได้เลย ณ ปัจจุบันก็ยังทำไม่ได้ ถ้ากลับไปอ่านคอมเมนต์ก็ยังเสียใจ แต่เราเข้าใจมากขึ้น จริงอย่างที่หลายท่านติ เนื้อเพลงนั้นสามารถมองในมุมแบบที่เขามองได้ เราเองไม่รอบคอบมากพอในการแต่งเพลง หลังจากนั้นก็ใช้ศัพท์อย่างระมัดระวังมากขึ้น รอบคอบยิ่งขึ้น”
รู้สึกว่าตัวเองแกร่งขึ้นไหม เราเอ่ยถาม “ใช้คำว่าเรียนรู้และเปิดใจมากขึ้นดีกว่า เราเรียนรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้ถูกเกลียดและเป็นที่รัก
มิลลิเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า เธอเคยแชทกับคนที่ตามคอมเมนต์เธอ “หนูอยากรู้ว่าเขาตามว่าหนูตลอดเพราะสาเหตุอะไร หนูได้รับรางวัลเขาก็ตามว่าหนู เลิกเหยียดผู้หญิงรึยังคะมิลลิ จะได้พักก่อน น้องทักไปคุยเลย ไม่พอใจตรงไหนช่วยให้ความรู้น้องหน่อย พี่ๆ ศิลปินหลายคนก็ถามว่าหนูจะมานั่งคุยแบบนี้ทำไม เหนื่อยใจเปล่าๆ เพราะหนูอยากรู้ ถ้าหนูไม่ถามก็ไม่ได้รู้ กลายเป็นว่าพอหนูพูดคุยกับคนที่ด่าว่าหนู ภายหลังเขาเปลี่ยนมามองหนูในแง่ดี เขาเห็นว่าหนูพร้อมจะเรียนรู้และปรับปรุง หันมาขอโทษเรา หลังจากนั้นพอมีคนด่าหนูอีก กลายเป็นเขาช่วยปกป้องแทน แต่กับบางกลุ่มก็ตรงกันข้าม เขาไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าคำด่าเหล่านั้นส่งผลให้เราเจ็บหรือเสียใจรึเปล่า พอหนูทักไปหา เขาตอบกลับมาว่าเห็นด้วยเหรอคะ นึกว่าไม่เห็น หนูเห็นหมดนะคะ”
อยากย้อนไปแก้ไขอะไรในเพลงพักก่อนไหม “ไม่อยากค่ะ เพลงโตตามตัวหนู นั่นคือมุมมองของหนู ณ เวลานั้น ถามว่าหนูแต่งเพลงเกินจริงไหม ไม่นะคะ นั่นคือสังคมที่หนูโตขึ้นมาแล้วพบเห็นพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยตัวเองจริงๆ”
ถึงกระนั้นนักร้องสาวก็ได้นำคำวิจารณ์มาปรับปรุงในเพลงลำดับถัดมา “หนูปรับการเล่าเรื่อง การใช้ภาษา ต้องยอมรับว่า พักก่อน เนื้อหาเชิงลบหน่อย แต่ สุดปัง เปลี่ยนมาเล่าเชิงบวกสุดๆ เลยค่ะ แต่ถ้าถามว่าเข็ดกับการแต่งเพลงเชิงลบไหม ไม่นะคะ สมมติถ้าหนูอยากด่าเก้าอี้ไม้ตัวนี้ในเพลง แน่นอนเนื้อหาย่อมต้องเป็นลบอยู่แล้วอย่างช่วยไม่ได้ โชคดีที่หนูมาจากฮิพฮอพ ซึ่งเป็นแนวเพลงที่สามารถพูดหรือวิจารณ์ใดๆ ได้หมด
ในเมื่อผลงานของมิลลิที่ปล่อยออกมาโด่งดังทุกเพลง สิ่งนี้สร้างความกดดันต่อการทำผลงานชิ้นต่อไปหรือไม่ “พี่กอล์ฟ Fucking Hero สอนไว้ว่ายิ่งได้รับความสนใจเร็วเท่าไหร่ ยิ่งต้องพัฒนาทักษะให้เร็วกว่าเป็นสองเท่า ถ้าเรายังย่ำอยู่กับที่ วันหนึ่งคนจะเลิกสนใจเรา ส่วนตัวหนูชอบการพัฒนาอยู่แล้ว เราไม่อยากเป็นเด็กที่น้ำเต็มแก้ว หนูพยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆ โดยไม่สนว่าต้องรองรับความคาดหวังของใคร”
3.
ด้วยบุคลิกแบบเด็กรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงออกอย่างสมเหตุสมผล มิลลิจึงมักถูกถามถึงความคิดเห็นต่อแง่มุมต่างๆ และกลายเป็นกระบอกเสียงแทนคนรุ่นใหม่ “ถามว่าหนูเป็นกระบอกเสียงให้คนรุ่นใหม่ไหม หนูรู้สึกว่าหนูช่วยพูดแทนเพื่อนมากกว่า ไม่ว่าจะได้ยินเพื่อนพูดให้ฟัง หรือพบเจอด้วยตัวเองในสังคม อย่างที่บ้านของหนูเนี่ยสามารถพูดคุยแสดงความคิดเห็นได้สบาย แต่บ้านของเพื่อนคนอื่นๆ เขาอาจพูดไม่ได้ ในเมื่อหนูมีพื้นที่ให้พูดออกมาดังๆ หนูก็อยากพูด แล้วหนูก็มีแพชชั่นด้วย ทุกอย่างที่หนูแสดงความคิดเห็นระหว่างสัมภาษณ์ นั่นคือหนูพูดแบบเดียวกันนั้นกับที่บ้านมาแล้ว เช่นเรื่องเรียนต่อ หนูเลือกคณะดนตรี ซึ่งไม่ใช่คณะที่เด็กหลายคนจะได้มีโอกาสเรียน เพราะไม่ใช่คณะยอดฮิตอย่างบัญชี หมอ วิศวะ ถ้าหนูต้องทนเรียนสิ่งที่ไม่อยากเรียน หนูไม่ยอม รู้สึกว่าไม่โอเค หนูเลือกจิตวิทยาเพราะหนูอยากเรียน ถ้าเด็กคนหนึ่งต้องเรียนแพทย์ ควรเป็นเพราะว่านั่นคือสิ่งที่เขาอยากเรียน เพราะเขาไม่ใช่ second life ของใคร หนูได้ยินเพื่อนบ่น ไม่อยากเรียนบัญชีเลย อยากเรียนฟิล์ม เรามีพื้นที่พูดได้ก็อยากพูด เผื่อพ่อแม่เพื่อนจะแวะมาได้ยิน”
แม้เป็นเสียงของคนรุ่นใหม่ แต่มิลลิก็มิได้เพิกเฉยต่อความเห็นของผู้ใหญ่หรือคนต่างวัย กลับกันเธอกล่าวว่าชอบพูดคุยกับผู้ใหญ่ หรือขอคำปรึกษา รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “อย่างที่บอกหนูไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น หนูเลยชอบอยู่กับผู้ใหญ่ เพราะเวลามีเรื่องอะไรหนูสามารถถามได้ ผู้ใหญ่บางท่านเขามีวิสัยทัศน์ที่กว้าง เขามองอะไรได้ไกล อย่างตอนเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หนูถามอาจารย์ทั้ง English Program Office ทุกคนมายืนล้อม เรียนดนตรีดียังไง เรียนการแสดงส่งผลต่องานอย่างไร หนูฟังมุมมองของหลายๆ คนประกอบการตัดสินใจ
“จริงๆ หนูชอบอยู่ท่ามกลางการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น หนูว่านี่คือหน้าที่ของประธานนักเรียนที่แท้จริง คือคนกลางที่ประสานระหว่างนักเรียนซึ่งเป็นเด็ก กับอาจารย์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ รับฟังความคิดเห็นของทั้งคู่แล้วประสานงานต่อ ทว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยครั้ง แต่หนูพยายามทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหนูจึงค่อนข้างกล้าพูดกับผู้ใหญ่ที่รับฟัง แต่ถ้าผู้ใหญ่ที่ไม่รับฟังก็…” อดีตประธานนักเรียนเงียบไป เราจึงซักเพื่อให้เธออธิบายต่อว่า มีวิธีเข้าหาและรับมือผู้ใหญ่อย่างไร เพราะจากที่เราเห็น เธอค่อนข้างมัดใจผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี
“คนอาจจะคิดว่าด้วยลุคแบบหนูต้องเกรี้ยวกราด ฟาดเป็นฟาดแน่นอน แต่แท้จริงหนูพูดจาน่ารักนะคะ สมมติเพื่อนมาบ่น โหย อาจารย์ตัดงบไม่ให้ทำนั่นทำนี่ โอเค เดี๋ยวเคลียร์ให้เอง ป๊าบ อาจารย์ขา (ลากเสียง) ทำไมกลุ่มหนูถึงไม่ได้…ละคะ พูดดีๆ สุภาพก่อน ถ้าอาจารย์ไม่รับฟัง หนูเถียง แต่เถียงในแบบชี้แจง เพราะยิ่งเรารุนแรง เขายิ่งปิดกั้น ยิ่งผู้ใหญ่ที่เป็นไดโนเสาร์ยิ่งฟาดยิ่งปิดกั้น แม้ในใจอยากกรี๊ดใส่หน้าก็ตาม แต่ในความเป็นจริงคือเราพูดจาไพเราะ ยิ้มสู้ คืออย่างนี้นะคะอาจารย์ หนูมีความประสงค์นำงบประมาณมาใช้แบบนี้ๆ มีข้อดีข้อเสียแบบนี้ พอน้องพูดดีๆ ผู้ใหญ่จะรู้สึกว่าเราอยู่ในโอวาทนะ และเปิดใจรับฟังเรา” เทคนิคเหล่านี้เรียนรู้มาจากไหน เราถามเธอ “การทำงานสภานักเรียนค่ะ สังคมโรงเรียนสอนเราให้รู้จักปรับตัวและอยู่เป็น”
ในโลกของการทำงาน มิลลิได้เจอกับผู้คนหลากหลาย แม้ประสบกับเจเนอเรชั่นแก๊ป หรือช่องว่างระหว่างวัย แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาแก่ศิลปินสาวเท่าใดนัก “ด้วยความที่หนูชอบคุยกับผู้ใหญ่ด้วย การต้องเจอคนหลายๆ เจเนอเรชั่นไม่ได้สร้างปัญหาขนาดนั้น หนูไม่ชอบมองอะไรด้านเดียว โลกเรายังทรงกลมเลย ทำไมเราต้องมองมุม เดียว ความเห็นต่างทำให้เรามองอะไรกว้างขึ้นด้วย แต่ใช่ว่าหนูไม่เจอปัญหาเลย ในครอบครัวก็มีเจเนอเรชั่นแก็ป ตอนนี้หนูให้ความสนใจเรื่องเพศซึ่งปัจจุบันไม่จำกัดแค่หญิงหรือชาย พอหนูคุยให้พ่อกับแม่ฟัง เขางงๆ หน่อย เพราะโตมากับความเป็นหญิงชาย ไม่ได้เข้าใจตรงกัน ต้องอาศัยการอธิบาย หนูเชื่อว่าเจเนอเรชั่นแก๊ปลดลงได้เมื่อมีการพูดคุย แต่ต้องเปิดรับก่อนนะคะ ไม่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องเปิด เด็กวัยหนูก็ด้วย หลายครั้งแค่เป็นผู้ใหญ่มาพูดก็มองว่าได้โนเสาร์แล้ว ไม่คุยด้วย ความเป็นจริงเราต้องเจอกันตรงกลาง หนูพยายามเรียนรู้อยู่เพราะยังไม่เก่งขนาดนั้น”
เราขอความเห็นของเด็กรุ่นใหม่อย่างเธอถึงวาทกรรมที่ว่า ‘เด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน’ “หนูอยากถามกลับว่าแล้วเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องอดทนรึเปล่า เรื่องที่คุณเคยอดทนกันมาจำเป็นต้องอดทนต่ออีกไหม สมมติหนูต้องอดทนรอคิวซื้อไอศกรีมที่อยากกิน หนูอดทนได้ แต่บางเรื่องไม่จำเป็น แล้วจะทนทำไม หนูว่าเด็กรุ่นหลังมีการตั้งคำถามกันบ่อย สิ่งต่างๆ รอบตัวเหล่านี้ทำไปทำไม ทำแล้วดีจริงรึเปล่า ถ้าแค่เมื่อก่อนเคยดี แล้วปัจจุบันยังดีอยู่ไหม ถ้าไม่ดีแล้วทนทำไม เสียเวลา ทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อผลลัพธ์ใหม่น่าจะดีกว่า เพื่อนๆ หนูมักมองในแง่มุมอย่างนี้กัน หนูเข้าใจนะ เพราะคิดเห็นเช่นเดียวกัน จะทนทำไม”
เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก เราถามถึงสิ่งที่เธอรักมากที่สุดสามอันดับ “เงินค่ะ” นั่นคือคำตอบแรกที่เธอไม่ต้องไตร่ตรองนาน “อีกสองอย่างก็งานและคนที่เรารักค่ะ เหมารวมทั้งเพื่อนกับครอบครัวไว้ด้วยกัน” ยังไม่อยากมีแฟนเหรอ เราถาม “งั้นอยากได้แฟนที่มีเงินค่ะ ทูอินวัน (หัวเราะ)”
เราจบบทสนทนากับสาวน้อยมหัศจรรย์คนนี้ด้วยเสียงหัวเราะอันสดใส เฉกเช่นอนาคตอันแจ่มใสในฐานะศิลปินของเธอ