แตกตื่นกันใหญ่ในแวดวงผู้รักการดื่มน้ำชาเมื่อมีข่าวต่างประเทศว่า “ผลการวิจัยจากประเทศแคนาดาพบว่าถุงชา 1 ถุง สามารถปลดปล่อยไมโครพลาสติกออกมาหลายพันล้านชิ้นในถ้วยชาของคุณ!” ไมโครพลาสติกคืออะไร? มันออกมาจากถุงชาได้อย่างไร และมีอันตรายต่อสุขภาพของเรามากน้อยแค่ไหน ถึงได้เป็นข่าวดังทั่วโลกแบบนี้?
ไมโครพลาสติกคือเศษชิ้นพลาสติกขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งกำลังเป็นประเด็นให้จับตามองว่าเป็นมลพิษตัวใหม่ต่อสิ่งแวดล้อม ไมโครพลาสติกไม่ได้จำกัดอยู่แค่พลาสติกชนิดใดชนิดหนึ่ง ขอเพียงมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร (ครึ่งเซนติเมตร) เราก็นับว่าเป็นไมโครพลาสติกแล้ว เราพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป จากหลายแหล่งที่มา เช่น จากกระบวนการทางอุตสาหกรรม จากเสื้อผ้าสิ่งทอ หรือแม้แต่จากเครื่องสำอาง
ปกติเราแบ่งไมโครพลาสติกเป็น 2 กลุ่ม คือ ไมโครพลาสติกกลุ่มปฐมภูมิ ซึ่งเป็นชิ้นพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก่อนปนเปื้อนเข้าไปในสิ่งแวดล้อม เช่น พวกเส้นใยสังเคราะห์ของเสื้อผ้า เม็ดไมโครบีดในสบู่หรือเครื่องสำอาง และเม็ดพลาสติกสำหรับแปรรูป ส่วนไมโครพลาสติกกลุ่มทุติยภูมินั้น เกิดจากการที่ผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ปนเปื้อนเข้าไปในสิ่งแวดล้อม แล้วถูกกัดเซาะจนมีขนาดเล็กจิ๋ว ตัวอย่างเช่น ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม แหและอวนจับปลา ถุงและหลอดพลาสติก ฯลฯ
ไม่ว่าจะเป็นไมโครพลาสติกกลุ่มใด เราพบว่าพวกมันสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานแสนนาน โดยเฉพาะระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำทะเล เนื่องจากพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายช้ามาก เป็นหลายร้อยหลายพันปี ที่สำคัญ พวกมันมีโอกาสถูกสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติกลืนกิน แล้วไปสะสมอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้น
ผลการศึกษาในปัจจุบันระบุว่า เราพบไมโครพลาสติกปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกแห่งหน ไม่ว่าจะในทะเล ในแหล่งน้ำจืด หรือบนแผ่นดินของทวีปต่างๆ และกำลังเป็นประเด็นน่ากังวลว่าจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตในทะเล ก่อนหน้านี้มีการตรวจพบว่าเหล่าขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ๆ เป็นอันตรายแก่ชีวิตสัตว์ทะเลที่กินมันเข้าไป ส่วนไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กจนแทบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ก็มีรายงานว่าสามารถเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่ออวัยวะในระบบทางเดินอาหารหรือระบบหายใจของสัตว์ที่กินหรือหายใจเข้าไป ไม่ว่าในกลุ่มหนอนทะเล กุ้งกั้งปู แมงดาทะเล ปะการัง หอย พวกปลิงทะเลที่หากินอยู่ตามพื้นทะเล รวมถึงพวกแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดจิ๋ว
ตามห่วงโซ่อาหารแล้ว ไมโครพลาสติกในสัตว์เหล่านี้ถูกส่งผ่านจากสัตว์เล็กที่เป็นเหยื่อ ไปยังสัตว์ผู้ล่าที่ตัวใหญ่กว่า และหมักหมมมากขึ้น ดังเช่นที่นักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทะเลขนาดเล็กหลายชนิด ซึ่งเป็นอาหารของปลาเศรษฐกิจที่คนนิยมบริโภค อย่างปลาทูน่า ปลาดาบ รวมถึงปลาทูของไทยเราด้วย
ผลเสียโดยตรงที่เกิดขึ้นคือ ร่างกายสัตว์ขนาดเล็กอาจเป็นอันตรายได้หลังจากที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป หรือแม้แต่เกิดภาวะขาดสารอาหาร ยิ่งกว่านั้น ไมโครพลาสติกยังสามารถดูดซับเอาสารเคมีที่เป็นอันตรายในสิ่งแวดล้อม เช่น พวกโลหะหนัก สารโพลีคลอริเนตเตดไบฟีนีล (สารพีซีบี) และสารพิษอื่นๆ ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ แล้วส่งต่อไปยังเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่กินมันเข้าไป และสุดท้ายไมโครพลาสติกที่เป็นพิษนี้ก็จะมาถึงมนุษย์เรา ผ่านการกินอาหาร
นั่นจึงทำให้เกิดความกังวลว่า ไมโครพลาสติกจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราเช่นกัน ตามปริมาณของสารเคมีที่เป็นพิษหรือสารก่อมะเร็ง ที่ใช้ผลิตพลาสติกหรือที่ไมโครพลาสติกไปดูดซับมา รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ ที่ไมโครพลาสติกอาจดูดซับได้เหมือนกับที่มันดูดโลหะหนักเอาไว้ แถมยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะหลีกเลี่ยงไม่บริโภคไมโครพลาสติกเข้าไป เพราะมีการตรวจพบไมโครพลาสติกในอาหารหลากหลายชนิด ตัวอย่างเช่น นักวิจัยจีนได้ทดสอบเกลือที่จำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต และพบไมโครพลาสติกในทุกอย่างที่สุ่มตรวจ แต่พบในเกลือทะเลมากกว่าเกลือสินเธาว์
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้แตกตื่นกันคือ นอกจากเคยตรวจพบไมโครพลาสติกในน้ำประปาแล้ว ยังตรวจพบในน้ำดื่มบรรจุขวดหลายยี่ห้อ ทั้งที่ยังไม่ได้เปิดขวดเสียด้วยซ้ำ และนี่อาจสะท้อนปัญหาของการผลิตน้ำดื่มและบรรจุลงในขวดพลาสติก ซึ่งผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้ดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดเจือปน แม้แต่พลาสติกขนาดเล็กจิ๋ว
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงว่า จากผลการศึกษาขั้นต้น ไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ดื่ม เนื่องจากชิ้นไมโครพลาสติกขนาดใหญ่ทั้งหมด และพวกชิ้นขนาดเล็กส่วนใหญ่ จะถูกขับถ่ายออกนอกร่างกาย โดยไม่ถูกดูดซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อทางเดินอาหาร
ย้อนกลับมาที่ผลการวิจัย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแม็กกิล ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้พบไมโครพลาสติกมากถึง 11,600 ล้านชิ้น หลังจากเอาถุงชาเพียงถุงเดียวไปแช่ในน้ำร้อนจัด 95 องศาเซลเซียส เหมือนกันกับเวลาที่ชงน้ำชา ปริมาณของชิ้นไมโครพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วซึ่งมองไม่เห็นจากถุงชานี้ นับว่ามีจำนวนมหาศาลกว่าปริมาณที่เคยตรวจพบในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดอื่นใด หรือแม้แต่ในกรณีของน้ำดื่มบรรจุขวดก่อนหน้านี้
แต่อย่าพึ่งแตกตื่นตกใจกันไป โดยเฉพาะกับผู้ที่ชอบชงน้ำชา เพราะถุงชาซึ่งนำมาวิจัยเป็นถุงชนิดตาข่ายพลาสติก ที่มีรูปทรงปิรามิดและเชื่อกันว่าทำให้น้ำร้อนเข้าไปในถุงได้ดีขึ้น ไม่ใช่ถุงชาชนิดกระดาษที่อาจจะมีพลาสติกอยู่เพียงเล็กน้อยในการซีลปิดรอบถุง ดังนั้น อุทาหรณ์สำหรับผู้ที่กังวลว่าจะดื่มน้ำชาผสมไมโครพลาสติกเข้าไปก็คือ ควรหลีกเลี่ยงถุงชายี่ห้อที่ทำจากพลาสติก และใช้ถุงชาที่ทำจากกระดาษ หรือไม่ก็ตักใบชาไปชงดื่มโดยตรงเลย
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์