ดาวตก ลูกไฟ อุกกาบาต อุลกมณี

-

            “มีใครได้ยิน เสียงดังสนั่นเลยเจ้า พื้นที่ไหนได้ยินบ้าง!?” เกิดคำถามแบบนี้เต็มไปหมดในเพจต่างๆ ของคนเชียงใหม่และชาวภาคเหนือ เมื่อเวลาประมาณ 1 ทุ่มของวันที่ 22 มิถุนายน และตามมาด้วยคำตอบหลากหลาย ดังเช่น “ในเมืองก็ได้ยินเหมือนกัน” “ท่าศาลาก็ได้ยิน” “อยู่แม่โจ้ เห็นแสงสีเขียวยาว ตกลงมาจากฟ้าแล้วแตกเป็นเศษ สักพักได้ยินเสียงระเบิด” “เราก็เห็นแสง ถ่ายรูปไว้ด้วย” “เห็นเหมือนกัน ชัดมากเพราะอยู่หน้าบ้านพอดี หลังจากนั้นสักพักได้ยินเสียงระเบิด” ฯลฯ

รวมความแล้ว หลายพื้นที่ของเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ได้มีรายงานเหตุการณ์ประหลาดว่า ประชาชนได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นพร้อมกัน โดยไม่ทราบสาเหตุและจุดที่เกิดขึ้นแน่ชัด  ขณะที่หลายคนก็ให้ข้อมูลว่าก่อนเกิดเหตุเสียงระเบิดนั้น ได้พบเห็นแสงประหลาดปรากฏบนท้องฟ้า จึงวิตกกังวลกันว่าอาจมีอุบัติเหตุเครื่องบินตกหรือภัยพิบัติอะไร แต่ก็หาคำตอบไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร

คงเนื่องด้วยเป็นเวลาเริ่มค่ำแล้ว นักข่าวเลยไม่สามารถติดต่อหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งก็คือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) หลายสำนักข่าวจึงได้โทรศัพท์มาขอความเห็นจากผม และผมก็ตอบว่า ถ้าเป็นไปตามข้อมูลที่มีคนมาคอมเมนต์กันในโลกโซเชียล ว่านอกจากได้ยินเสียงดังสนั่นแล้ว ยังเห็นเทหวัตถุคล้ายลูกไฟสีเขียวสว่างวาบพุ่งผ่านท้องฟ้า ซึ่งน่าจะเป็นผลจากดาวตก (meteor) แต่จะเป็นชนิดไหน คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญระบุอีกที

มีคำศัพท์หลายคำที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางฟากฟ้าของการมีดาวตกนั้น และทำให้คนสับสนกัน เริ่มจากคำว่า “สะเก็ดดาว (meteoroid)” ซึ่งเป็นเศษวัตถุที่ล่องลอยอยู่ในระบบสุริยะของเรา มีขนาดตั้งแต่ผงฝุ่นจนถึงก้อนหินขนาดใหญ่หนักเป็นตันๆ และมีวัตถุต้นกำเนิด ได้แก่ ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) ดาวหาง (comet) หรือแม้แต่เศษชิ้นส่วนอันเกิดจากการที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนผิวของดวงจันทร์หรือดาวอังคาร แล้วกระเด็นออกมา

 

ชื่อเรียกวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดาวตก ขณะที่เคลื่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

 

เมื่อสะเก็ดดาวเคลื่อนผ่านเข้ามาในวงโคจรของโลก และถูกแรงดึงดูดให้พุ่งเข้าสู่พื้นผิวโลกผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาถึง 100 กิโลเมตร จะเกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างสะเก็ดดาวที่เคลื่อนอย่างรวดเร็วกับอนุภาคต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ อากาศจึงมีการอัดตัวขึ้นอย่างฉับพลัน เกิดความร้อนสูง จนสะเก็ดดาวลุกไหม้ และอาจเห็นเป็นแสงสว่างวาบพุ่งผ่านท้องฟ้าไป ถ้ามีแสงวาบเช่นนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ “ผีพุ่งไต้ (shooting  star)” ในแต่ละวันมีดาวตกเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน หรือประมาณ 1 หมื่นล้านดวง และความเร็วของดาวตกอยู่ระหว่าง 12-72 กิโลเมตรต่อวินาที ขึ้นกับว่าดาวตกนั้นพุ่งตรงเข้าชนโลก หรือพุ่งแฉลบออกไป

แสงสว่างที่เกิดขึ้นพร้อมกับดาวตกนั้น เป็นผลจากการแตกตัวเป็นไอออน (ionization) ของอนุภาคต่างๆ ในบรรยากาศเมื่อเสียดสีกับดาวตกจนเกิดความร้อนสูง ร่วมกับการเผาไหม้ของสะเก็ดดาว จึงเกิดการเปล่งแสงออกมาในช่วงความยาวคลื่นต่างๆ เห็นเป็นสีสันแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโมเลกุลของอนุภาคในอากาศโดยรอบ และองค์ประกอบของดาวตกที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ โมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกนั้น มีส่วนประกอบหลักเป็นอะตอมของธาตุออกซิเจน (O) และไนโตรเจน (N) ซึ่งจะเปล่งแสงเมื่อร้อนจัดเป็นแสงสีแดง ขณะที่ถ้าดาวตกมีอะตอมของธาตุแคลเซียม (Ca) จะให้แสงสีม่วง แมกนีเซียม (Mg) ให้แสงสีฟ้าเขียว โซเดียม (Na) ให้แสงสีส้มเหลือง และเหล็ก (Fe) ให้แสงสีเหลือง แต่โดยมากแล้ว เราจะเห็นแสงดาวตกสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก ตามระดับความสูงที่ดาวตกกำลังอยู่เหนือพื้นโลก

สะเก็ดดาวที่มีขนาดใหญ่มักทำให้ดาวตกเกิดความร้อนสูงขึ้นและมีแสงสว่างมากขึ้นด้วย และถ้าดาวตกนั้นมีแสงสว่างมาก โดยมีค่าโชติมาตรปรากฏประมาณ -4 คือมีความสว่างเทียบเท่าความสว่างของดาวศุกร์ เราจะมีคำศัพท์เรียกเฉพาะว่า “ลูกไฟ (fire ball)” และหากดาวตกมีความสว่างเทียบเท่าความสว่างของพระจันทร์เต็มดวง หรือดาวตกนั้นเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ จะเรียกว่า “ดาวตกชนิดระเบิด (bolide)” ซึ่งน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะน่าจะมีวัตถุต้นกำเนิดขนาดใหญ่ และอาจมีเศษชิ้นส่วนหลงเหลือจากการเผาไหม้ขณะผ่านชั้นบรรยากาศ ตกลงมาถึงพื้นได้ เราเรียกเศษชิ้นส่วนที่หลงเหลืออยู่นี้ว่า อุกกาบาต (meteorite)

 

อุกกาบาต โฮบา (Hoba meteorite) จากประเทศนามิเบีย มีขนาดใหญ่ถึง 60 ตัน ยาวถึง 2.7 เมตร

 

เราแบ่งอุกกาบาตเป็น 3 ชนิดตามองค์ประกอบของมัน คือ ชนิดคาร์บอน (C-type) มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคาร์บอน , ชนิดหิน (S-type) มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นซิลิกา และชนิดโลหะ (M-type) มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นโลหะจำพวกเหล็กและนิเกิล โดยมากแล้ว อุกกาบาตมักมีขนาดเล็กเนื่องจากถูกเผาไหม้ไปจนเกือบหมด แต่บางครั้งก็พบอุกกาบาตขนาดใหญ่ และอาจพบหลุมอุกกาบาตหรือเครเตอร์ (crater) ได้ด้วย ดังเช่น อุกกาบาตยักษ์ที่เคยพุ่งเข้าชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน บริเวณคาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก จนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป

อุกกาบาตเป็นสิ่งที่หายากและมักมีราคาสูง แต่อย่าสับสนกับ “อุลกมณี (tektite)” ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นสะเก็ดดาวจากนอกโลก และตกลงมาบนพื้นโลกแบบอุกกาบาต ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันเป็นทรายของโลกเรานี้เอง ที่หลอมละลายด้วยความร้อนเมื่อมีอุกกาบาตพุ่งชน ทรายหลอมเหลวนี้ได้กระเซ็นขึ้นไปบนฟ้า เกิดการเย็นตัวและแข็งตัวใหม่กลางอากาศ ก่อนจะตกสู่พื้นดิน จึงมีรูปทรงอย่างที่เห็น คือ สัณฐานไม่แน่นอน ตั้งแต่เป็นก้อนกลม เป็นแท่งยาว หรือแบน มีเนื้อคล้ายแก้ว และผิวเป็นหลุมเล็กๆ โดยรอบ มักมีสีดำทึบคล้ายนิล แต่บางชิ้นก็มีเนื้อใสสีน้ำตาลหรือเขียว ขึ้นกับว่าตอนที่เกิดขึ้นนั้น มีแร่ธาตุอะไรเข้าไปผสมอยู่กับเนื้อของทรายด้วย

 

ตัวอย่างก้อนอุลกมณีที่พบบนพื้นผิวโลก และคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอุกกาบาต

 

สำหรับดาวตกซึ่งพบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นั้น ทาง สดร. คาดว่าเป็น “ดาวตกชนิดระเบิด” ที่อาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก (sonic boom) ออกมาด้วย จึงทำให้เห็นแสงวาบและมีเสียงระเบิดตามมา แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีอุกกาบาตหลงเหลือหรือไม่ พร้อมทั้งย้ำว่าในแต่ละวันมีดาวตกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องปกติ สามารถอธิบายได้ อย่าตื่นตระหนกตกใจ เพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินนั้นเป็นไปได้ยากมาก


คอลัมน์ : คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!