เป็นข่าวฮือฮากันอีกครั้งกับกรณีของอิทธิปาฏิหาริย์ “พระใช้มือเปล่าจับปรอทป่า” อ้างว่าเป็นธาตุกายสิทธิ์ที่ผ่านการทำพิธีถอนพิษแล้ว สามารถจับได้ด้วยมือเปล่า พร้อมกับให้ญาติโยมมาสัมผัส โดยไม่ต้องกลัวอันตรายจากพิษปรอท
เรื่องราวดังกล่าว เกิดขึ้นที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพระภิกษุรูปนั้นปฏิบัติธรรมอยู่และได้นำ “ปรอทป่า” ออกมาโชว์ อีกทั้งอ้างว่าปรอทแบบนี้ไม่เป็นอันตรายเพราะได้ลงวิชาอาคมแล้ว มีไว้ใช้แก้คุณไสย แก้คนถูกของ โดยนำปรอทใส่ขวดหรือหม้อดินแล้วนำไข่ลงไปผสมพร้อมลงอาคมให้ ถ้าใครมีวิชา ก็สามารถจับต้องได้ จากนั้นก็ใช้มือเปล่าจับแร่ปรอทนั้นให้ดู จนชาวบ้านเกิดความศรัทธา
ปรอทเป็นธาตุชนิดหนึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า เมอร์คิวรี (mercury) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับดาวพุธในระบบสุริย และมีสัญลักษณ์ทางเคมีเป็น Hg (เนื่องจากชื่อของธาตุนี้ในภาษาละตินคือ hydrargyrum) เป็นธาตุลำดับที่ 80 ในตารางธาตุตามจำนวนเลขอะตอมของมัน ปรอทเป็นโลหะหนัก มีสีเงิน และมีลักษณะพิเศษกว่าธาตุโลหะอื่นๆ เพราะสามารถเป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิห้องและที่ความดันบรรยากาศปกติมาตรฐาน
ปัจจุบันเราสามารถนำเอาปรอทมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ตั้งแต่การนำไปใส่ในเครื่องมือวัดค่าต่างๆ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ (วัดอุณหภูมิ) บารอมิเตอร์ (วัดความดันบรรยากาศ) สฟิกโมมาโนมิเตอร์ (วัดความดันโลหิต) หรือใส่ไอของปรอทในหลอดฟลูออเรสเซนต์ เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป จะเกิดแสงอัลตราไวโอเลตขึ้น ทำให้ผงฟอสเฟอร์ในหลอดเรืองแสงสว่างได้ หรือที่คุ้นเคยกันดีอีกอย่าง คือการนำไปผสมกับโลหะอื่นๆ เกิดเป็นอะมัลกัม (amalgam) สำหรับใช้อุดฟันที่ผุ

แต่ถ้าย้อนไปในอดีต มีหลักฐานว่ามนุษย์เรารู้จักการนำเอาปรอทมาใช้เนิ่นนานแล้ว ดังเช่นที่พบว่าสีแดงที่ใช้เขียนภาพฝาผนังถ้ำในประเทศสเปนและประเทศฝรั่งเศสเมื่อกว่า 3 หมื่นปีก่อน ในยุคหินเก่า มีส่วนผสมของสารประกอบของปรอทอยู่ด้วย อนึ่งในสุสานของอียิปต์โบราณอายุกว่า 1.5 พันปีก่อน ค.ศ. ก็พบปรอทอยู่ในนั้น อีกทั้งพบอ่างที่มีปรอทอยู่เป็นจำนวนมากใต้พีระมิดเก่าแก่กว่า 1.8 พันปีของชนเผ่ามายา ในประเทศเม็กซิโก
ตามความเชื่อของพวกเล่นแร่แปรธาตุ (alchemist) ปรอทเป็นสสารแรกเริ่ม ก่อนที่จะกลายเป็นโลหะชนิดอื่นๆ พวกเขาจึงเชื่อว่าสามารถนำเอาปรอทมาแปรธาตุด้วยการเติมกำมะถันลงไปในปริมาณและความบริสุทธิ์ต่างๆ กัน และน่าจะทำให้เกิดโลหะมีค่าอย่างทองคำหรือเงินได้ ส่วนศาสตร์การแพทย์โบราณของจีนและทิเบตนั้น ปรอทถูกนำมาใช้เป็นยารักษากระดูกที่แตกหัก และบำรุงร่างกายให้อายุยืนยาว กล่าวกันว่าแม้แต่จอมจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ก็ทรงดื่มยาอายุวัฒนะที่นักเล่นแร่แปรธาตุจัดเตรียมให้ ด้วยการผสมปรอทและผงหยกป่นลงไป (จนสุดท้ายกลับสวรรคตด้วยพิษของปรอท) และพบว่าในสุสานก็มีการสร้างแบบจำลองของแผ่นดินที่เคยปกครอง โดยมีแม่น้ำจำลองซึ่งใส่ปรอทให้ไหลไปมา
ประเทศไทยเราก็มีความเชื่อแต่โบราณเกี่ยวกับปรอทเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอาปรอทมาเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคต่างๆ หรือการใช้วิชา “หุงปรอท” เล่นแร่แปรธาตุให้ปรอทแข็งตัว เพราะเชื่อว่าปรอทเป็นแร่ธาตุที่มีอานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ ไม่แปรเปลี่ยนสภาพไป ปรอทของแท้นั้น แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน ก็ยังคงมีสีเงินแวววาว ลื่นไหลคล้ายน้ำ เอามือจับถูก็จะกลายเป็นสีดำติดมือ เอาไปถูกับซองบุหรี่ที่เป็นตะกั่ว ก็จะเกิดความร้อนขึ้น (แต่ที่จริงเป็นผลจากปฏิกิริยาเคมีของปรอทกับผิวหนังของเรา หรือกับธาตุอื่นอย่างตะกั่ว) จึงนำมาทำเป็นพระเครื่อง ไว้ป้องกันอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะใช้ปิดแผลห้ามเลือด กันไข้ป่า ดูดพิษงูแมลงสัตว์กัดต่อย ทารักษากลากเกลื้อน ฝีหนอง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันระบุชัดเจนว่า ปรอทเป็นหนึ่งในโลหะหนักที่เป็นพิษแก่ร่างกาย สามารถเข้าสู่ร่างกายเราโดยไม่รู้ตัว และสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในร่างกายจนถึงระดับที่แสดงอาการผิดปกติได้ มีการตรวจพบปรอทปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ทั้งในน้ำ ในดิน และในอากาศ ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เผาขยะ โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้สารปรอทเป็นวัตถุดิบ โรงงานไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน และการปล่อยน้ำเสียที่มีปรอทปนเปื้อน หลายคนยังได้รับจากการใช้เครื่องสำอางที่มีการผสมปรอทด้วย ส่วนอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเล ก็พบสารปรอทสะสมอยู่ แม้กระทั่งหูฉลาม (ที่จริงคือครีบของปลาฉลาม) ก็มีรายงานการปนเปื้อนของปรอทเช่นกัน
ร่างกายสามารถรับสารปรอทเข้าไปได้หลายทาง ทั้งจากการกินน้ำและอาหารที่ปนเปื้อน จากการสัมผัสสารแล้วผ่านผิวหนังเข้าไป และจากการหายใจเอาไอระเหยของปรอท ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้ว ปรอทจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยึดจับกับเม็ดเลือดแดง และส่งกระจายไปส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างรวดเร็ว แต่กลับถูกขับออกจากร่างกายในรูปของเสียได้เล็กน้อย ถ้าได้รับเป็นปริมาณมากในครั้งเดียว ก็จะเกิดอาการพิษแบบเฉียบพลัน ทำให้มีไข้ ปอดอักเสบ คลื่นไส้อาเจียน ไตวายถ่ายเป็นเลือด ชักกระตุก เดินเซ ฯลฯ ถ้าได้รับเป็นปริมาณน้อย แต่สะสมอยู่เรื่อยๆ เป็นระยะเวลานาน ก็จะเกิดอาการพิษแบบเรื้อรัง ต่ออวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ไต ตับ และผิวหนัง เกิดอาการรุนแรงในที่สุดได้เช่นกัน
เมื่อพ.ศ. 2499 เคยเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับสารปรอทขึ้นที่เมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น เมืองนี้มีประชากรเพียงไม่กี่หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง แต่ต่อมามีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น และโรงงานได้ปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทลงสู่แหล่งน้ำ จนกระทั่งพบความผิดปกติในเด็กทารกและคนในพื้นที่ รวมถึงสัตว์ในธรรมชาติอีกด้วย จึงมีการตั้งชื่อให้ว่าเป็น “โรคมินามาตะ” ซึ่งเกิดจากสารปรอทไปสะสมอยู่ที่บริเวณสมองจนถูกทำลาย เนื้อสมองหายไปดูคล้ายกับฟองน้ำมีรูพรุน เกิดอาการชาและกระตุกที่มือเท้า แขนขา และริมฝีปาก จนพูดไม่เป็นภาษา ฟังไม่ได้ยิน รายที่อาการหนักมากอาจควบคุมสติไม่ได้ และมีอาการตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง ไม่สามารถรักษาได้ คนที่ได้รับสารเยอะจะตายเร็ว ส่วนผู้ที่ได้รับน้อยก็มีชีวิตต่ออย่างพิกลพิการ ถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น

ดังนั้น เมื่อย้อนมาพิจารณาเรื่อง “ปรอทป่า” ตามข่าว ก็ต้องบอกว่ามันคือปรอท คือสารเคมีที่มีจำหน่ายแล้วเอามาอวดอ้างความเชื่อแบบผิดๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพทั้งกับผู้ที่ทำพิธีและผู้เข้าร่วมพิธี แม้จะสัมผัสได้แบบไม่เกิดอันตรายฉับพลัน ก็สุ่มเสี่ยงจะสะสมในร่างกายเป็นพิษเรื้อรัง หวังว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งห้ามทำอีกต่อไป
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์