“สั่งซื้อด่วน มีขายแล้ว เยลลี่เมลาโทนิน รสสตรอว์เบอรี่ อร่อยกินง่าย กินแล้วหลับสบาย ร่างกายได้พักผ่อน เหมาะกับคนนอนไม่หลับ หรือเดินทางข้ามประเทศบ่อยๆ” เดี๋ยวนี้มีการโฆษณาขาย “อาหารเสริมเมลาโทนิน” กันมาก ด้วยสรรพคุณที่อ้างว่าสามารถจะช่วยให้คนที่นอนไม่ค่อยหลับ นั้นนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่อาหารเสริมพวกนี้ไม่มีวางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป กลับเป็นการขายตามเว็บหรือช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่า แล้วมันจะใช้ได้จริงอย่างที่อ้างหรือ
เมลาโทนิน (melatonin) เป็นฮอร์โมนในร่างกายของเราที่ควบคุมวงรอบของการนอนหลับ (cycles of sleep) เกิดจากการสังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนทริปโตเฟน สร้างขึ้นที่ลำไส้ใหญ่ จอตา และต่อมไพเนียลในสมอง โดยมีความมืดเป็นตัวกระตุ้นในการสร้าง และหยุดหลั่งเมื่อดวงตาเจอแสงสว่าง เมลาโทนินถือว่าเป็นสารที่ช่วยปรับสภาพร่างกายในรอบวัน โดยจะเหนี่ยวนำให้เกิดการนอนหลับลึก ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโตของร่างกาย การลดลงของปริมาณเมลาโทนินในเลือดจะทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับ หรือความผิดปกติของวงจรการหลับและการตื่นในรอบวันได้ ดังนั้น การรับประทานเมลาโทนินเพิ่มเข้าไป จึงช่วยเพิ่มปริมาณเมลาโทนินในร่างกาย และอาจช่วยเรื่องการนอนหลับด้วย ส่วนเรื่องที่เชื่อกันว่าช่วยบรรเทาอาการเพลียหลังการเดินทางข้ามประเทศ หรือการทำงานกะดึกนั้น ยังมีข้อโต้แย้งเรื่องนี้กันอยู่
แต่เมลาโทนินที่จำหน่ายและใช้บริโภคกันอยู่นั้น มีทั้งแบบที่เป็นยาและที่เป็นอาหารเสริม ยาเมลาโทนินต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ว่าเป็นยา และต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย ในขณะที่พวกอาหารเสริม เช่น ขนมเยลลี่เมลาโทนิน นั้น โดยมากนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปในประเทศเหล่านี้ แถมยังมีการโฆษณาสรรพคุณไว้มากมาย ไกลกว่าเรื่องของการนอนไม่หลับเสียอีก เช่น ป้องกันอาการไมเกรน กระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอริ้วรอย ป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ฯลฯ
แต่สำหรับประเทศไทย เมลาโทนินนั้นถูกพิจารณาว่าเป็นฮอร์โมน จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ขายในรูปของอาหารเสริม และที่มีจำหน่ายกันอยู่นั้นก็ลักลอบนำเข้ามา โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องหรือผ่านการตรวจสอบจาก อ.ย. และน่ากังวลถึงเรื่องของมาตรฐานการผลิต ปริมาณสารสำคัญต่อเม็ด ตลอดจนความปลอดภัยในเรื่องผลข้างเคียง เพราะอาหารเสริมเมลาโทนินนั้นไม่ต้องผ่านการควบคุมคุณภาพในระดับเดียวกับการผลิตเป็นยา จึงไม่สามารถรับรองถึงผลในเชิงการรักษาได้
นอกจากนี้ เมลาโทนินยังเป็นสารที่ค่าครึ่งชีวิตในการสลายตัวค่อนข้างสั้น เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะคงอยู่ในกระแสเลือดได้ไม่นานนัก ต่างจากเมลาโทนินที่อยู่ในรูปของยาจริงๆ ซึ่งมีกลไกการปลดปล่อยตัวยาอย่างช้าๆ (เรียกว่า prolonged-release melatonin) จึงออกฤทธิ์ได้นาน มีผลครอบคลุมช่วงเวลาการนอนตลอดทั้งคืน ในขณะที่เมลาโทนินที่เป็นแบบอาหารเสริม จะออกฤทธิ์เร็ว (immediate-release melatonin) คล้ายกับการรับประทานอาหารทั่วๆ ไป จึงคงอยู่ในกระแสเลือดได้ไม่นาน ก็หมดฤทธิ์
ถึงแม้ว่า การใช้เมลาโทนินเพื่อช่วยให้นอนหลับดีขึ้นนั้น อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพในการทำให้หลับโดยทันที มากเท่ากับการรับประทานยานอนหลับ (sleeping pill) แต่ก็มีข้อดีที่ช่วยให้การนอนนั้นเป็นไปตามธรรมชาติมากกว่าการใช้ยานอนหลับ เนื่องจากไม่ค่อยรบกวนโครงสร้างของการนอน โดยเฉพาะการนอนหลับช่วง REM (rapid-eye-movement sleep) ซึ่งเป็นช่วงการนอนที่สำคัญต่อพัฒนาการของสมอง การเก็บความจำ และการควบคุมอารมณ์
นอกจากนี้ การใช้เมลาโทนินช่วยให้นอนหลับ ยังลดความเสี่ยงที่อาจตามมาจากการใช้ยานอนหลับ เช่น การดื้อยา (tolerance) ภาวะพึ่งพายา (dependence) หรือการกลับมานอนไม่หลับซ้ำหลังจากหยุดยา (rebound effects) ถ้าเป็นการใช้ยาเมลาโทนินแบบที่ออกฤทธิ์นาน จะมีความปลอดภัยสูง ทั้งเมื่อใช้ในระยะสั้นหรือเมื่อใช้ต่อเนื่องในระยะยาว มีผลข้างเคียงต่ำและไม่รุนแรง ไม่ทำให้เกิดการดื้อยาหรือภาวะพึ่งพายา และไม่เกิดอาการนอนไม่หลับซ้ำเมื่อหยุดใช้ยา จึงเหมาะกับการใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ แม้จะเป็นในผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การรับประทานเมลาโทนินสามารถส่งผลข้างเคียงได้หลายประการ เช่น ไปลดการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินที่ร่างกายสร้างขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อรับประทานเป็นเวลานาน (แต่ถ้าเป็นยาเมลาโทนินแบบที่ออกฤทธิ์ช้า พบว่าไม่ได้กดการสร้างเมลาโทนินในร่างกาย แม้จะใช้ไปเป็นเวลานาน) ส่งผลต่อร่างกาย เช่น ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ง่วงนอน จึงไม่ควรขับรถหรือใช้เครื่องจักรหลังจากรับประทาน เมลาโทนินยังอาจทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิลดลง เป็นอุปสรรคแก่ผู้ที่ร่างกายมีปัญหาในการรักษาความอบอุ่น และอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด จนอาการของโรคบางโรคแย่ลง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ถ้ามีโรคประจำตัว
โดยสรุปแล้ว ถ้าจะใช้เมลาโทนินเพื่อช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ ก็ควรใช้ประเภทที่เป็นยาออกฤทธิ์ช้า โดยให้แพทย์เป็นผู้สั่งยา และรับประทานตามปริมาณที่ระบุเท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อชนิดที่เป็นอาหารเสริมเมลาโทนิน อย่างที่ขายกันตามช้อปปิ้งออนไลน์มารับประทานเอง ถ้าเป็นเด็ก สตรีมีครรภ์ และมารดาที่กำลังให้นมบุตร ก็ยิ่งไม่ควรรับประทานด้วย
จริงๆ แล้ว เราควรจะลองพยายามเพิ่มระดับการสร้างเมลาโทนินเองในร่างกายให้ได้ก่อน โดยไม่ต้องไปกินยาหรืออาหารเสริม ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการนอนให้ดีขึ้น พยายามลดความตื่นตัวของสมองช่วงก่อนนอน เช่น หลีกเลี่ยงการดูทีวี การใช้คอมพิวเตอร์ หรือการโทรศัพท์ก่อนนอน และพยายามปรับวิธีการนอนให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น ควรปิดไฟในเวลานอน เพื่อให้ศูนย์ควบคุมการนอนหลับของสมองนั้นทำงานได้ดีขึ้น เกิดการนอนหลับที่เป็นไปตามธรรมชาติมากขึ้น
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์