แม็กซ์ เจนมานะ: ก้าวข้ามความกลัว

-

ปี 2555 เรารู้จักน้ำเสียงและลีลาการร้องเพลงของ ‘แม็กซ์’ ณัฐวุฒิ เจนมานะ จากการเป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการ The Voice Thailand Season 1 ปี 2560 เรารู้จักตัวตนทางดนตรีของเขาลึกซึ้งขึ้น จากอัลบั้ม Let There Be Light ซึ่งมีเพลงฮิตชื่อ วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า นับตั้งแต่วันที่ชื่อของเขาเป็นที่รู้จัก สถานะนักร้อง-นักแต่งเพลงคือภาพจำของเขา และเชื่อว่าหลายคนรู้จักชีวิตด้านนี้ของแม็กซ์พอสมควร ทว่าแม็กซ์ยังมีอีกความสามารถซึ่งโดดเด่นไม่แพ้กัน นั่นคือ “การเป็นนักเขียน” เจ้าตัวเคยกล่าวว่านักเขียนคืออาชีพแรกที่ใฝ่ฝัน

แม็กซ์ผ่านงานเขียนคอลัมน์ในนิตยสาร แล้วก้าวสู่การมีผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิตชื่อ Strange to Meet You น่าแปลกที่แปลกหน้า เรื่องสั้นรวมประสบการณ์การพบเจอผู้คนของเขา แต่นั่นก็ยังไม่ได้โชว์ศักยภาพหรือปล่อยของที่มีอยู่ทั้งหมด จนกระทั่งผลงานลำดับถัดมาซึ่งเขาท้าทายตัวเองยิ่งขึ้นด้วยการขยับเข้าสู่โลกนิยาย แม็กซ์ขุดเค้นคลังคำที่สะสมไว้ทั้งชีวิต ร้อยเรียงเข้ากับพล็อตเรื่องที่อยากเล่า เกิดเป็นผลงาน The Boy Who Never Grows เด็กไม่รู้จักโต และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2563

การพบกันระหว่างเรากับแม็กซ์ในครั้งนี้ จึงมิใช่เพื่อสนทนาถึงเส้นทางดนตรีของเขา แต่เป็นการสำรวจการเดินทางท่องโลกอักษร ไถ่ถามไปถึงช่วงเวลาแห่งการเติบโต และความนึกคิดในวัย 30 ปี

 

ผมจะไม่เป็นนักร้องที่มาเขียนหนังสือ ผมจะเป็นนักเขียนที่จริงจัง

พอแม็กซ์เดินทางถึงสถานที่นัดหมาย เราก็ทักทายกันสักพัก แสดงความยินดีที่หนังสือของเขาได้รางวัล จากนั้นชวนเขาย้อนกลับไปยังวันที่ความฝันในการเป็นนักเขียนก่อกำเนิดขึ้นมา

“ผมเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ห้าหกขวบ หนังสือที่อ่านอย่างแรกเลยคือหนังสือพิมพ์ บ้านผมขายวัสดุก่อสร้างจึงมีหนังสือพิมพ์เตรียมไว้ให้ลูกค้าเวลานั่งรอ ผมได้อ่านทุกวันเลยอ่านหนังสือออกเร็ว พอโตขึ้นหน่อยเริ่มชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชน แฮร์รี่ พอตเตอร์ นี่ติดมาก หนังสือโซนวรรณกรรมเยาวชนในห้องสมุดโรงเรียนผมอ่านหมดทุกเล่ม ระหว่างรอรถโรงเรียนจะนั่งอ่าน กลับมาบ้านก็อ่านจนไม่ทำการบ้าน ตกกลางคืนพ่อไล่ให้นอน ผมก็คลุมโปงส่องไฟฉายอ่านหนังสือต่อ จนสายตาสั้น 800 แต่ตอนนี้ทำเลสิกแล้วครับ  พอปิดเทอมมีเวลาว่าง ผมเลยเขียนนิยายเล่นๆ ดู เขียนไปร้อยกว่าหน้านะ เรื่องแรกชื่อ ‘อภินิหารดาบสีเงิน’ ทุกวันนี้จำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้วแหละ สมัยนั้นอยากเป็นนักเขียนมากถึงขนาดคิดจะเรียนคณะอักษรศาสตร์เลย แต่เราก็สนใจอย่างอื่นด้วย เลยไม่ได้เลือกเรียน”

เสน่ห์ของงานเขียนที่จับใจแม็กซ์นั้น คือการที่นักเขียนสามารถใช้ถ้อยคำเปรียบเปรย และซ่อนนัยบางอย่างไว้ภายในข้อความนั้น “ผมชอบการเสียดสีเปรียบเทียบ งานเขียนที่ผมชอบมักมีกลิ่นอายเหล่านั้น ถ้าเขียนถึงประตู คงไม่อธิบายเรียบๆ แค่ นั่นคือประตูสีขาวที่มีลูกบิดอะลูมิเนียม แต่จะพูดถึงประตูนั้นว่า นั่นคือประตูสีขาวซึ่งทำให้ฉันนึกถึงวันอันแสนอบอ้าว และเป็นวันที่ฉันเจ็บปวดที่สุด เมื่อฉันยื่นมือไปจับลูกบิด ความเย็นจากลูกบิดก็แล่นเข้ามากระทบใจฉัน ดังนั้นเหตุผลที่ผมอยากเป็นนักเขียน เพราะนักเขียนคือบุคคลที่สามารถกวนตีนใครก็ได้ในเรื่องแต่งของเขา แล้วคนฉลาดเท่านั้นที่จะรู้ว่ากูด่ามึง (หัวเราะ)”

แม้ไม่ได้เลือกเรียนสายอักษรโดยตรง แต่แม็กซ์ก็ไม่ทิ้งความชอบด้านนี้ สมัยเรียนมหา’ลัยเขาเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยบ้าง เขียนคอลัมน์ลงนิตยสารเศรษฐศาสตร์บ้าง และเคยเขียนให้นิตยสารชื่อดังอย่าง  Cheeze มาก่อน เมื่อใดก็ตามที่มีโอกาสทำงานเขียน เขาไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสนั้น เช่นเดียวกับเมื่อมีผู้ชักชวนให้ทำหนังสือรวมเรื่องสั้นของตัวเอง แม็กซ์ย่อมไม่ปฏิเสธอย่างแน่นอน ด้วยความศรัทธาในศิลปะแห่งการประพันธ์ แม็กซ์ตั้งใจกับการเขียนเป็นอย่างยิ่ง เขาไม่ต้องการเป็นเพียงคนดังที่ออกหนังสือ แต่เขาต้องการเป็นนักเขียนที่แท้จริง ดังที่ศิลปินหนุ่มเคยกล่าวว่า “ผมจะไม่เป็นนักร้องที่มาเขียนหนังสือ แต่ผมจะเป็นนักเขียนที่จริงจัง”

“ถึงหนังสือเล่มแรกของผมจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัว

แต่ผมพยายามเล่าในทำนองนักเขียนคนหนึ่งกำลังเล่าเรื่อง

ไม่ใช่ชีวประวัติตัวเอง

เวลาที่เราทำงานเขียน เราก็อยากสวมหมวกของนักเขียนจริงๆ”

“สำหรับผมงานเขียนเป็นงานยิ่งใหญ่ ผมจึงไม่อยากเหวี่ยงแห อยากเขียนเมื่อพร้อม มีเรื่องให้เขียน ไม่ใช่เขียนเพื่อตอบโจทย์ตลาด เขียนไปก็เหนื่อย เขียนไม่จบด้วย แล้วผมไม่อยากเขียนเกี่ยวกับตัวเอง ถึงหนังสือเล่มแรกของผมจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัว แต่ผมพยายามเล่าในทำนองนักเขียนคนหนึ่งกำลังเล่าเรื่อง ไม่ใช่ชีวประวัติตัวเอง เวลาที่เราทำงานเขียน เราก็อยากสวมหมวกของนักเขียนจริงๆ”

แม็กซ์ยังเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่เขาทำงานเขียนนั้น เขาพยายามอ่านหนังสือภาษาไทยมากขึ้น เพื่อซึมซับสำนวนภาษา “ผมอยากเคารพภาษาไทย เหมือนช่วงที่เขียนเพลงไทยก็พยายามฟังเพลงไทยมากๆ หนังสือเล่มไหนที่คนเขาบอกว่าดี จะไปหามาอ่าน เพราะมีคนเคยสอนว่า ถ้าเราเป็นนักดนตรี ในหนึ่งวันเราควรนั่งฟังเพลงเฉยๆ เพื่อซึมซับอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ผมจึงใช้วิธีนี้กับการเขียนด้วย คืออ่านหนังสือเพื่อซึมซับภาษา”

 

เมื่อผลงานหนังสือเล่มแรกคลอดออกมาได้สำเร็จ แม็กซ์ก็สร้างสรรค์ผลงานเล่มที่สอง The Boy Who Never Grows เด็กไม่รู้จักโต ซึ่งเขาท้าทายตัวเองยิ่งขึ้นด้วยการเปลี่ยนแนวการเขียนจากเรื่องสั้นสู่นิยาย

“จริงๆ สันดานของผมคือชอบเรื่องโกหกครับ (หัวเราะ) เลยชอบนิยาย อ่านตั้งแต่เด็กด้วย อยากเขียนอะไรที่เหนือจริงหน่อย เขียนไปก็แอบหลอกด่าคนโน้นคนนี้ด้วย จึงตัดสินใจว่าเล่มที่สองต้องเป็นนิยาย”

หากได้ลองหยิบนิยายของเขาขึ้นมาอ่านโดยไม่รู้มาก่อนว่าผู้แต่งคือใคร เชื่อว่าหลายคนต้องคิดว่านี่คือหนังสือวรรณกรรมแปลจากต่างประเทศ ด้วยฉากของเรื่องที่เกิดในต่างแดน ตัวละครที่ไม่บ่งบอกชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ชื่อตัวละครก็มิได้กำหนดไว้ หนังสือเล่มนี้จึงพาเราหลุดจากขนบวรรณกรรมไทย

“ส่วนตัวผมชอบอ่านหนังสือแปล หนังสือต่างประเทศ แล้วช่วงที่เครียดๆ นั้นผมก็มีโอกาสได้หนีไปเที่ยวหลายประเทศ เราจึงมีภาพในหัวคร่าวๆ ว่าอยากให้นิยายของเรามีฉากเป็นนอร์เวย์ นิวยอร์ก หรืออินเดียเพราะชอบทัชมาฮาล แล้วที่ผมไม่ได้กำหนดลักษณะตัวละครก็เป็นความตั้งใจด้วย เพราะรู้สึกว่าเราเป็นนักเขียนไทยที่แรดเขียนเรื่องของคนซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของโลก แล้วจะตั้งชื่ออะไรดี ชื่อไทยคงไม่เวิร์ค ชื่อฝรั่งก็รู้สึกยังไงๆ เป็นนักเขียนไทยแต่แรดตั้งชื่อตัวละครภาษาฝรั่งเนี่ยนะ ถ้าอย่างนั้นไม่มีชื่อเลยแล้วกัน ซึ่งเป็นการดีด้วยเพราะไม่ระบุเท่ากับเราไม่ได้ตีกรอบ ผู้อ่านอาจเข้าถึงตัวละครได้ง่ายกว่า”

Growing Up ยากจะยอมรับ แต่ง่ายที่จะทำ

แรงบันดาลใจของ เด็กไม่รู้จักโต นักเขียนเจ้าของผลงานเล่าว่า มาจากช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่เขากำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้ในส่วนลึกจะไม่ต้องการ แต่ก็มิอาจหนีพ้น ซึ่งสร้างความทุกข์ใจแก่เขา และยากที่จะยอมรับความจริง

“เป็นช่วงอายุ 25 ปีครับ กำลังเดือดเลย เป็นจังหวะชีวิตที่กดดันเข้มข้น เหมือนเด็กเฟรชชี่เพิ่งเข้ามหา’ลัยครั้งแรก ไม่รู้เลยว่ากำลังเจอกับอะไร ทั้งเรียนทั้งกิจกรรมทำควบคู่กันไปหมด แต่ตอนนี้ผมเลยวัยนั้นแล้ว ก็ชิลล์ขึ้น เหมือนเด็กที่ขึ้นปีสามปีสี่ โอเค กูรู้แล้ว จะจัดการชีวิตยังไง ผมมองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือกึ่งเด็กกึ่งโต จริงๆ เป็นเรื่องของผมแหละ แต่คิดว่าคนอ่านสามารถรู้สึกร่วมได้ เพราะน่าจะเคยรู้สึกเหมือนกัน ทำไมต้องมาทำเรื่องภาษีวะ ทำไมต้องทำเอกสาร ทำไมต้องเลี้ยงครอบครัว ไหนจะยังต้องผ่อนบ้านผ่อนรถอีก ชีวิตไม่ง่ายเหมือนสมัยเด็ก simple things มันหายไป”

สำหรับนักเขียนหนุ่มการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ถือเป็นเรื่องยากหรือง่าย แม็กซ์นิ่งคิดสักพักก่อนตอบว่า “ยากที่จะยอมรับ แต่ง่ายที่จะทำ คือยากที่จะยอมรับว่าถึงเวลาที่เราต้องโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้วนะ แต่การเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องง่ายมากเลยถ้าคุณลุยไปข้างหน้าตามจังหวะของชีวิตโดยไม่คิดอะไรมาก ยอมรับว่านี่คือด่านหนึ่งของชีวิตมนุษย์ มองทุกอย่างให้เป็นเรื่องง่าย เมื่อนั้นคุณจะพบว่าความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จริงๆ ไม่ต่างกันหรอก แค่ผู้ใหญ่มีเรื่องต้องทำมากขึ้นเท่านั้นเอง”

 

มีสิ่งใดที่หายไปและสิ่งใดที่ยังหลงเหลืออยู่ระหว่างการเติบโตบ้าง เราถามเขาต่อ

“สิ่งที่หายไปคือความโรแมนติก ความแฟนตาซี แต่ถ้าพูดตามจริง ณ ตอนนี้ผมมองว่าโลกแห่งความจริงมีเสน่ห์มากกว่าโลกในหนังสืออีกนะ กลายเป็นว่าความจริงเย้ายวนกว่าความฝัน ความฝันนั้นเราได้แต่นั่งคิดอยู่ในหัว แต่พอเราโตเป็นผู้ใหญ่ เราโดนบังคับให้ต้องลงมือทำสิ่งที่ไม่เคย เหมือนเราได้เปิดประตูบานใหม่ออกไปเรื่อยๆ แล้วการทำสิ่งที่ฝันให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น มันเจ๋งว่ะ ส่วนนิสัยเด็กๆ ที่ยังเหลืออยู่คือนิสัยขี้แกล้ง ชอบแกล้งคนอื่น แต่ต้องสนิทหน่อยนะ เพราะผมค่อนข้างกลัวโดนเตะ”

ในบทนำของหนังสือ เด็กไม่รู้จักโต พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ปี 2559 เราสัมผัสถึงความอึดอัดของผู้แต่งที่มีต่อการเติบโต ดังที่เขาเขียนบรรยายความรู้สึกไว้ “…ผมค้นพบว่าตัวเองเปลี่ยนไปมาก เปลี่ยนไปเป็นคนที่ผมไม่คิดว่าจะเป็น ซึ่งหากตัวผมในวัยเด็กมาเจอตัวผมในตอนนี้ ก็คงจะมีร้องยี้กันบ้าง…” ถ้าเด็กชายแม็กซ์มาเจอนายแม็กซ์ปัจจุบันนี้จะยังร้องยี้อีกไหม เราถามเขา

“โห ไม่ยี้ ชอบ เท่ว่ะ ตอนนี้ผมกำลังเรียนวาดรูปอยู่ ผมเคยชอบวาดรูป ตอนนี้ก็กลับไปเรียนใหม่ แล้วในคลาสเขาให้วาดรูปตัวเอง แล้วผมนึกขึ้นได้ว่าตอนเด็กเคยวาดภาพตัวเองตอนโต ในมือกำลังถือสเกตบอร์ด มีหนวด มีรอยสัก แล้วมาดูผมตอนนี้สิ ผมมีทุกอย่างที่เคยฝัน เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้เล่นเกม มีรอยสัก วาดรูป เล่นดนตรี เขียนหนังสือ ได้เป็นคนคูลๆ ในแบบที่ตัวเองคิด”

หากมีเด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาบอกแม็กซ์ว่า ตัวเขารู้สึกเหนื่อยกับการเป็นโตเป็นผู้ใหญ่เหลือเกิน แม็กซ์จะให้คำแนะนำแก่เด็กคนนั้นว่า “เหนื่อยก็นอน อย่าไปคิดเยอะเลย นอนดีกว่า” เขาขยายความคำตอบของเขา  “ที่แนะนำให้นอนนั้นเพราะถ้านอนไม่พอจะยิ่งเหนื่อยกว่าเดิม แล้วใช้การพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวรับวันใหม่ ตื่นขึ้นมาเขียนสิ่งที่จะทำในหนึ่งวัน จากนั้นก็ไล่ทำทีละข้อ ไม่ครบไม่เป็นไรเพราะหนึ่งวันมีเวลาทำได้ไม่กี่อย่างหรอก จากนั้นภูมิใจกับสิ่งที่ทำสำเร็จในวันนั้น อย่าโทษตัวเอง กูห่วย กูทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง เพราะการใช้ชีวิตของผู้ใหญ่ก็แค่วันต่อวัน live day by day อย่าไปคิดเรื่องเมื่อวาน เอนจอยกับช่วงเวลาปัจจุบัน ปล่อยให้เรื่องพรุ่งนี้เป็นของพรุ่งนี้ แล้วคุณจะผ่านแต่ละวันไปได้เอง”

 

วันนี้แม็กซ์เป็นทั้งนักแต่งเพลงและนักเขียนหนังสือ แต่เมื่อถามว่าเขาถนัดด้านใดมากกว่า แม็กซ์ปฏิเสธว่าเขาไม่ถนัดสักด้านเลย ยังต้องพยายามต่อไป

“สำหรับผมนั้นชอบทั้งการแต่งเพลงและการเขียนหนังสือ แต่หนังสืออาจมีแพชชั่นมากกว่าเพลงหน่อย เพราะเราไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ยังมีคนอ่านอยู่ไหม และเราไม่ได้ทำเพื่อเลี้ยงชีพใดๆ เราทำเพื่อสนองแพชชั่นแค่นั้น แต่ให้พูดตรงๆ ก็ยังไม่เก่งสักอย่าง ไม่ว่าจะเขียนเพลงหรือเขียนหนังสือยังต้องพัฒนา จำได้ว่าตอนไอเดียบรรเจิดไปขายงานกับบก. โอ้โห ขายเก่ง ผมจะเขียนเรื่องนี้ครับ อย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอนั่งลงเริ่มจุดแรกเนี่ยแหละ เขียนอะไรดีวะ ได้คำแนะนำจากบก.ว่าให้เขียนโครงแต่ละบทเรียงต่อกันหลายๆ บทก่อน ทีนี้เราจะวางไคลแมกซ์ยังไง จะร่อนลงยังไงให้สวย ผมต้องไปศึกษางานเขียน ดูว่าเขาทำยังไงกัน อีกทั้งการเขียนอย่างไรให้ตรงกับภาพในใจเราได้นั้นก็ไม่ง่าย เพราะเป็นนิยายเรื่องแรกในชีวิต ทุกอย่างเลยยากไปหมด แถมเล่นใหญ่จะตีพิมพ์อีก แต่ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี

และรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดคือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงฝีมือและคุณค่าในสิ่งที่เขาทุ่มเททำ “ดีใจมาก ตอนแรกที่รู้ข่าวคิดในใจ ใช่แน่เหรอ สำนักพิมพ์ให้ใต้โต๊ะรึเปล่า (หัวเราะ) เป็นรางวัลที่เราอยากอวด เฮ้ย กูได้รางวัลงานเขียนนะเว้ย ไม่กระจอกนะ พี่ไม่ได้มาเล่นๆ”

สิ่งที่อยากพัฒนาต่อไปคือการสร้างสไตล์การเขียนให้ชัดเจนขึ้น อ่านแล้วรู้ว่าสำนวนภาษานี้เป็นผลงานของใคร แม็กซ์เล่าถึงความตั้งใจบนเส้นทางอักษรของเขา

ผมโตขึ้นแล้ว

เราหยุดการสนทนาชั่วครู่ เพราะแม็กซ์และช่างผมกำลังปรึกษาถึงทรงผมที่จะจัดแต่งสำหรับการถ่ายรูป เมื่อช่างเสยผมของเขาขึ้น และกำลังนำสเปรย์มาพ่นกลบเส้นผมสีเงินซึ่งแซมอยู่ประปรายให้กลายเป็นสีดำโดยทั่ว ศิลปินหนุ่มก็เปรยกับช่างผมว่า ตัวเขาไม่ติดใจอะไรหากจะปล่อยผมสีเงินเหล่านั้นไว้ เพราะชอบเสียด้วยซ้ำ เราเลยถามเหตุผลความชอบของเขา “มันดูแด๊ดดี้ดี ผมสีดอกเลา เท่ๆ ตอนอายุ 50 ก็อยากเท่แบบอาหนิง (นิรุตติ์ ศิริจรรยา)” ชายหนุ่มดูพึงพอใจกับการเติบโตทั้งภายในและภายนอกในวัย 30 เราจึงสงสัยว่า มีความนึกคิดใดที่เปลี่ยนไปในวัยนี้บ้างไหม

“ผมกลัวตายก่อนลูกโต เพราะผมใช้ชีวิตหนักอยู่ แล้วก็กลัวไม่ได้ทำในสิ่งที่อยาก ผมไม่ได้กลัวความตายนะ เมื่อก่อนเราแค่ไม่แคร์ว่าจะตายเมื่อไหร่ แต่ตอนนี้เรารู้สึกยังไม่พร้อม ขอร้องเลย ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกเยอะ มีอัลบั้มใหม่ มีหนังสือที่ต้องออก ต้องฝึกสเกตบอร์ด ต้องเรียนวาดรูปให้เจ๋ง มีลูกที่ต้องดูเขาโต คือมีสิ่งที่อยากทำเต็มไปหมด เลยพยายามรักษาร่างกายนิดหนึ่ง ว่าแล้วก็ขอออกไปดูดบุหรี่หน่อยนะฮะ (หัวเราะ) ล้อเล่น เรื่องลูกนี่เป็นเรื่องใหญ่เลย ผมอยากอยู่ส่งเขาผ่านช่วงวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ให้ราบรื่นที่สุด ดังนั้นจึงกลัวถ้าตัวเองจะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลานั้น อยากเป็นพ่อที่ไปเที่ยวกับลูก เป็นเพื่อนลูก”

แล้วจะเอาหนังสือเด็กไม่รู้จักโตให้เขาอ่านด้วยไหม เราลองถาม

“ไม่ให้ อย่าอ่านนะ เขิน ไม่ต้องมายุ่ง ทุกวันนี้ก็ร้องเพลงของผมทุกวันอยู่แล้ว (หัวเราะ)”

“เด็กจะเอาแต่ฝัน ทำวันนี้ไม่เสร็จไม่เป็นไร ไว้ทำพรุ่งนี้

พรุ่งนี้ไม่เสร็จก็อาทิตย์หน้า

แต่ถ้าผู้ใหญ่จะรู้ว่าหมดเวลาฝัน ทำๆ ให้เสร็จเถอะ ยิ่งหนียิ่งเหนื่อย

แถมต้องกลับมาเก็บกวาดสิ่งที่ซุกไว้อีก

แต่ตอนนี้ผมไม่หนีแล้วนะ ผมชนอย่างเดียวเลย”

ในอดีตแม็กซ์เลี่ยงปัญหาที่กังวลโดยการหนี แต่วันนี้เขาเรียนรู้และพบวิธีใหม่แล้ว “เมื่อก่อนผมหนีเลย ใกล้ไกลไปหมด ขอแค่ได้หนี อาจหนีไปหลบอยู่คนเดียว หนีไปเพื่อไม่ต้องยอมรับ หรือหนีไปใช้ตัวช่วยอื่นที่ทำให้เราหนีได้ต่อ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น เหมือนการบ้านที่พอกหางหมู ทางแก้คือทำๆ ให้มันเสร็จ นี่คือการคิดของผู้ใหญ่นะ เด็กจะเอาแต่ฝัน ทำวันนี้ไม่เสร็จไม่เป็นไร ไว้ทำพรุ่งนี้ พรุ่งนี้ไม่เสร็จก็อาทิตย์หน้า แต่ถ้าผู้ใหญ่จะรู้ว่าหมดเวลาฝัน ทำๆ ให้เสร็จเถอะ ยิ่งหนียิ่งเหนื่อย แถมต้องกลับมาเก็บกวาดสิ่งที่ซุกไว้อีก แต่ตอนนี้ผมไม่หนีแล้วนะ ผมชนอย่างเดียวเลย”

จากบทนำครั้งที่ 1 ในหนังสือ เด็กไม่รู้จักโต เราพลิกสู่หน้าถัดไปซึ่งเป็นบทนำที่ 2 เขียนขึ้นสำหรับการพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 3 บรรทัดแรกเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “ผมโตขึ้นแล้ว”  แม็กซ์ในวัย 30 ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลง และน้อมรับสภาวะผู้ใหญ่ด้วยใจเบิกบาน แม้เจ้าตัวจะยังค้านว่าไม่เชื่อในเส้นแบ่งระหว่าง “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” ก็ตาม


3 เล่ม ในดวงใจของ แม็กซ์ เจนมานะ

  • สูญสิ้นความเป็นคน ฉบับการ์ตูน วาดโดย จุนจิ อิโต้

สไตล์การวาดของเขาทำให้เนื้อเรื่องหลอนขึ้น

  • Hole (หลุม) เขียนโดย หลุยส์ ซาชาร์

เป็นวรรณกรรมเด็กที่ชื่นชอบ

  • Chronicle: Volume One เขียนโดย บ็อบ ดิลลัล

ผมยืมมาจากพีเป้ อารักษ์ หนังสือเล่มนี้พูดถึงช่วงแรกที่บ็อบเป็นศิลปิน และเริ่มทัวร์คอนเสิร์ต เป็นหนังสือที่กวนดี เพราะปกติถ้าจั่วหัวว่าโครนิเคิลต้องมีสามเล่ม แต่บ็อบเขียนแค่เล่มเดียวและไม่เขียนอีกแล้ว


ขอบคุณสถานที่

ME Style MIXX

97 ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 18 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

โทรศัพท์: 08 5807 3074, 0 2690 6789

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!