นวนิยายเรื่องมาตาลดา ผลงานประพันธ์ของ “ณัฐณรา” ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 3 และกลายเป็นละครที่สร้างกระแสฮือฮาในฐานะละครน้ำดีเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน
มาตาลดาเล่าเรื่องของคนธรรมดาสามัญที่มีข้อบกพร่องในตนเอง และเสนอให้เห็นว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ แต่ต่างก็มีข้อบกพร่องหรือมี “ปม” ในจิตใจที่ต้องแก้ไขให้คลี่คลาย แล้วแสวงหาจุดลงตัวให้ได้ ซึ่งจะต้องแสดงให้ผู้เสพ (ทั้งผู้อ่านและผู้ชม) ยอมรับและเข้าถึงตัวละคร เข้าใจและลุ้นไปกับการเปลี่ยนแปลงของตัวละครได้ ดังนั้น งานหนักของผู้ประพันธ์นวนิยาย ผู้เขียนบท ผู้กำกับ และนักแสดงจึงจำต้องเก็บ “ละเอียด” ชีวิตของตัวละครให้มากที่สุด
ความแตกต่างระหว่างละครโทรทัศน์เรื่องมาตาลดากับละครโทรทัศน์เรื่องอื่นๆ ในช่วงเดียวกันนี้ ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือมาตาลดา เล่นกับ “โลกภายใน” ของตัวละคร ขณะที่ละครโทรทัศน์เรื่องอื่นเล่นกับ “คู่ความขัดแย้ง” ของตัวละคร ความขัดแย้งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ หรือนาฏการจากฉากหนึ่งไปสู่ฉากหนึ่ง ชวนให้คนดูลุ้น และติดตามคู่ความขัดแย้งดังกล่าวจากต้นเรื่องไปจนจบเรื่อง แต่การเล่นกับโลกภายในของตัวละคร จะต้องทำให้คนดูเข้าถึงจิตใจของตัวละครซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง หากทำได้ไม่ถึง ละครมาตาลดาก็จะกลายเป็นละครลูกกวาด ที่ชวนดูเพียงประเดี๋ยวประด๋าว สนุกกับแต่ละฉาก แต่ไม่ชวนให้ติดตามไปจนจบเรื่อง
ตามปกติแล้ว ละครไทยหรือนิยายจะเน้น “ความขัดแย้ง” ของตัวละคร เชื่อว่าความขัดแย้งจะทำให้เกิดเหตุการณ์ ยิ่งความขัดแย้งซับซ้อน และเขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ จนพบกับจุดสุดยอดของเรื่องก็จะยิ่งทำให้นิยายหรือละครออกรส ความขัดแย้งในเรื่องเล่าไทยก็อิงพื้นฐานปัญหาของสังคมไทย เมื่อสังคมไทยยังเห็นว่าการมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข ความขัดแย้งในเรื่องเล่าไทยจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องการแย่งชิงมรดก ยิ่งหากเป็นผู้หญิงแล้ว การไต่เต้าไปสู่การมีฐานะร่ำรวยนั้นเส้นทางลัดก็คือการได้แต่งงานกับผู้ชายรวยๆ สักคน นามสกุลของสามีย่อมการันตีความสุขสบายไปตลอดชีวิต
เหตุนี้เอง เรื่องเล่าไทยจึงนำเสนอประเด็นซ้ำๆ กัน มุ่งให้ตัวละครมองออกไปนอกตัวเอง ชักชวนคนเสพ ทั้งคนอ่านและคนดูลุ้นไปกับตัวละครว่าจะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เพื่อสร้างสู่ความมั่นคงในชีวิตได้หรือไม่ จนหลงลืมการเพ่งดูภายในตนเอง เป็นการแสวงหาความสมบูรณ์แบบของชีวิต และปกปิดความพร่องที่มีอยู่ให้มากที่สุด
แต่มาตาลดากลับนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างน่าสนใจ แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะจัดอยู่ในจำพวกนวนิยายแนวครอบครัว ซึ่งเป็นประเภทของนวนิยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสังคมไทย แต่การนำเสนอความเป็น “ครอบครัว” ในนิยายเรื่องนี้กลับแตกต่างจากนวนิยายเรื่องอื่น
มาตาลดามุ่งเน้น “โลกภายใน” มากกว่า “โลกภายนอก” แต่ก็ยังอิงพื้นฐานของบริบทสังคมที่น่าสนใจ ผ่านตัวละครสามตัว ได้แก่ มาตา ปุริม และพ่อเกรซ “ณัฐณรา” นำเสนอให้เห็นถึงความพร่องในชีวิตของตัวละครแต่ละตัว สิ่งที่ตัวละครจะต้องฝ่าฟันก็คือ สามารถจัดการกับปัญหาของความพร่องนั้นอย่างไร
มาตาลดาเกิดในครอบครัวแตกแยก ไม่มีความสมบูรณ์ แม้แต่คนที่เธอเรียกว่า “พ่อ” เนื่องจากพ่อของเธอมีชีวิตทางเพศเป็น LGBTQ+ แต่เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ไม่สามารถเปิดเผยและใช้ชีวิตอย่างที่อยากเป็นได้ พ่อเกรซใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ ที่มีชีวิตแบบเดียวกัน แต่มาตาก็สามารถเติบโตภายใต้ร่มเงาของบิดาผู้มีเพศสภาพ “ประหลาด” แตกต่างจากบิดามารดาของคนอื่น ทว่าความพร่องในชีวิตอันเกิดจากการใช้ชีวิตของบิดา มิได้ทำให้มาตารู้สึกถึงปมด้อย เธอกลับภาคภูมิใจ และคิดอยู่เสมอมาว่าจะต้องทำให้คนอื่นยอมรับพ่อของเธอให้ได้
เมื่อยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ มาตาจึงมองโลกด้วยสายตาที่ไม่เศร้าหมอง มองโลกด้วยสายตาที่เข้าใจทุกชีวิต ดังนั้นแม้สิ่งที่เล็กที่สุด ไร้ค่าที่สุด ก็ยังเป็นสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกับสิ่งอื่นในมุมมองของเธอ ด้วยการมองโลกอย่างเข้าใจนี้เอง มาตาจึงสามารถเก็บรายละเอียดในชีวิตและปรารถนาให้ทุกคนตระหนักถึงค่าของชีวิตมากขึ้น
ปุริม นายแพทย์หนุ่มหล่อผู้มีชีวิตสมบูรณ์แบบ บุพการีสอนให้เขาแสวงหาความสมบูรณ์แบบในชีวิตให้มากที่สุด ตามแบบแผนของสังคม ทั้งเรื่อง การศึกษา หน้าที่การงาน การยอมรับของสังคม ตลอดจนชีวิตแต่งงาน ความคาดหวังให้มีชีวิตที่ไม่ขาดตกบกพร่อง กดทับให้ปุริมหมกมุ่นอยู่กับความทุกข์ ไม่รู้แม้กระทั่งความสดชื่นของชีวิต ดังนั้นเมื่อคนที่มีชีวิตสมบูรณ์ทางกาย แต่พร่องทางใจอย่างปุริม ได้พบกับมาตา ซึ่งด้อยฐานะทางสังคม แต่กลับมีหัวใจอย่างที่มนุษย์ควรเป็น จึงกลายเป็นความแตกต่างที่แสนจะลงตัวของคนทั้งคู่ “ณัฐณรา” เสนอให้เห็นว่าความรักที่แท้จริงก็คือการยอมรับข้อบกพร่องของอีกฝ่าย และเมื่อทั้งสองยอมรับความแตกต่างและปรับเข้าหากัน นั่นย่อมเป็นความรักอันแสนบริสุทธิ์ที่คนดูและคนอ่านเชื่อและตามลุ้นตลอดเวลา ส่วนพ่อเกรซ แม้จะมีชีวิตทางเพศนอกกรอบของสังคม แต่เขาก็มิได้บกพร่องในฐานะ “พ่อ” เขาอาจจะเป็นตัวตลกของคนอื่น แต่เขาเป็นฮีโร่ของลูกสาว นั่นเป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของเกรซ
มาตาลดาอาจจะไม่ใช่ละครที่หวือหวา มีฉากใหญ่น่าจดจำ และไม่ได้มีเนื้อเรื่องเข้มข้นให้ชวนลุ้นทุกฉาก แต่มาตาลดากลับเป็นละครซึ่งชำระล้างจิตใจคนดูในยุคที่เราชอบให้ค่าแก่สิ่งอื่นนอกตัว และกลายเป็นละครที่ทำให้เราต้องแอบมอง แอบเก็บรายละเอียดเล็กๆ แม้กระทั่งการปอกผลไม้ การเลี้ยงสัตว์ และบทสนทนาอันแสนจะธรรมดา แต่ลึกซึ้งขั้นเป็นคัมภีร์ชีวิตได้
มาตาลดาเป็นนวนิยายและเป็นละครโทรทัศน์ที่อาจจะเป็นเทรนด์ใหม่ของเรื่องเล่าไทย ซึ่งฉีกออกจากขนบของเรื่องเล่าที่เราคุ้นชิน และเป็นแบบอย่างอันดีของประพันธกรไทยต่อไปในวันหน้า
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: “ลำเพา เพ่งวรรณ”
ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีสีช่อง 3