รู้กันอยู่แล้วว่าการถูก bully หรือรังแก อาจทำให้เหยื่อเกิดภาวะซึมเศร้า การ body shaming หรือล้อเลียนให้อับอายในเรื่องรูปร่าง อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจ ลด self – esteem รู้สึกด้อยค่าในตัวเอง
แต่ซีรี่ส์ Mask Girl ทำให้เห็นพัฒนาการของคนไกลกว่านั้น คือไม่ใช่จบแค่ปัญหาสุขภาพจิตตรงซึมเศร้า สิ้นหวัง หรือรู้สึกไร้ค่า แต่ยังแสดงให้เห็นว่ามันกระทบต่อวิถีชีวิต การเลือกใช้ชีวิต และส่งผลให้บุคลิกภาพตอนโตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ปัจจัยที่ส่งผลให้แผลใจเล็กๆ นั้นฝังลึกในแต่ละคน เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จากสารตั้งต้นที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’
==
คิมโมมี
==
Mask Girl เปิดเรื่องด้วยชีวิตของคิมโมมี พนักงานออฟฟิศสาวซึ่งมีฉากหลังตอนอยู่บ้านใส่หน้ากากแล้วเต้นในไลฟ์สตรีมมิ่ง ในชื่อของ Mask Girl
ย้อนไปตอนเป็นเด็กอนุบาลขึ้นเวทีการแสดงของโรงเรียน คิมโมมีรักการเต้นรำแถมเต้นเก่ง มีพรสวรรค์ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นดารา เต้นเสร็จได้รับเสียงปรบมือดังสนั่นจากคนดู ห้าปีต่อมา เมื่อโตขึ้น เธอยังรักการเต้น แต่ความมั่นใจกลับลดลงเพราะหน้าตาของเธอถูกสังคมตัดสินว่าขี้เหร่ ถูกล้อเลียนตอนขึ้นเวที การเติบโตมาพร้อมกับความคิดว่าตัวเอง ‘ไม่สวย’ ฝังใจเธอและถูกกระหน่ำด้วยคำพูดของแม่ว่า
“จะเป็นนักร้องด้วยหน้าตาแบบนั้นเหรอ เลิกฝันเถอะ”
แม่ของคิมโมมีอาจส่งเสียเลี้ยงดูเธออย่างดี แต่ไม่เคยรู้ตัวว่าการพูดเน้นย้ำเรื่อง “หน้าตาไม่ดี” รวมถึงการขยี้ความใฝ่ฝันในการจะเป็นนักเต้นของเธอ คือการทำลาย self – esteem และคุณค่าในตัวลูกสาวจนมีผลไปถึงวัยผู้ใหญ่
คิมโมมีอายุ 27 ปี เป็นหญิงสาวที่ขาดความมั่นใจแต่บุคลิกจะเปลี่ยนไปทันที่เมื่อได้สวมหน้ากาก เธอมีปัญหาในการพัฒนาความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามเพราะรู้สึกว่าตัวเองหน้าตาไม่ดี เธอยังโหยหาสิ่งที่เธอเคยรักและทำได้ดีคือการเต้น แต่ไม่เหลือความมั่นใจที่จะเต้นด้วยหน้าตาแบบนี้ จึงเลือกสวมใส่หน้ากากเป็น mask girl เธอยังโหยหาใครสักคนที่รักและยอมรับเธอว่าเธอก็สวยและเป็นที่รักได้จากรูปร่างหน้าตา เธอจึงตกเป็นเหยื่อของคนหวังร้ายที่พูดจาล่อหลอกให้เธอภูมิใจในรูปร่างหน้าตา เจอคนที่รักจริงใจก็ไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะรักเธอจากใจจริง และทางออกสุดท้ายที่เธอหวังว่าจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ก็คือเลือกไปทำศัลยกรรม
==
จูโอนัม และ คิมคยองจา (แม่)
จูโอนัม คือตัวละครอีกคนใน Mask Girl ที่ทำให้คนดูเห็นปัญหาแบบเดียวกับคิมโมมี
ครอบครัวของคิมโมมีกับจูโอนัมคล้ายกันมาก คือ พ่อแม่รักลูก ทุ่มเทเลี้ยงลูกอย่างดี ส่งเสริมปัจจัยภายนอก เช่น เสื้อผ้า ค่าเทอม ฯลฯ แต่หลงลืมเรื่องสำคัญคือ ‘จิตใจของลูก’ ละเลยบาดแผลที่ลูกมี ละเลยการใส่ใจความรู้สึกที่ลูกพยายามหลบซ่อนเพราะความกลัวหรือความอาย และพ่อแม่ก็พยายาม ‘สั่งสอน’ คือทำหน้าที่ครูได้ดี แต่ไม่อาจเป็น safe zone หรือที่พักใจให้ลูกได้เลย
‘อ้วน เตี้ย’ คือสิ่งที่จูโอนัมนิยามตัวเองและเป็นเหตุให้โดนล้อเลียนกับรังแกมาแต่เล็ก สิ่งที่เขาเรียนรู้คือทำตัวให้ไร้ตัวตนจนถึงที่สุด เขาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือหรือปกป้อง แม่ของเขาไม่เคยรู้เรื่องนี้ เขาจึงต้องสู้กับชีวิตของการมีปมด้อยและโดนกลั่นแกล้งคนเดียวตั้งแต่เด็ก
โตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน จูโอนัมจึงใช้ชีวิตคล้ายโอตาคุ ชอบอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อนในชีวิตจริง มีแค่ตุ๊กตายางในห้องที่เขานั่งพูดคุยหรือกินข้าวด้วยทุกวัน ชีวิตหมกมุ่นกับการดูสื่อลามกและไลฟ์สตรีมมิ่งของสาวๆ ในห้องมืดๆ
คนจริงๆ ที่เขาพูดคุยได้บ่อยๆ นอกจากเพื่อนร่วมงานก็คือแม่ แต่แทบทุกครั้งที่ได้คุยกับแม่ก็มีแต่ ‘ความกดดัน ความคาดหวัง’ เช่น แม่โทร.มาก็คุย แต่ชอบเปรียบเทียบลูกชายบ้านอื่นว่าได้งานดี ส่งเงินให้พ่อแม่ที่บ้าน เมื่อไหร่เขาจะเป็นแบบนั้น เมื่อไหร่เขาจะแต่งงาน ฯลฯ เป็นความสัมพันธ์เชิงกดดันแบบเดียวกับที่เขาได้รับมาตลอดตั้งแต่เด็ก
จูโอนัมมีแม่ชื่อคิมคยองจา
ในสถานะแม่ของจูโอนัม คิมคยองจาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวฐานะยากจน ทำงานหนัก และเหนื่อยตลอดวัน ตกเย็นลูกกลับบ้านก็จะเห็นแต่ปัญหา เช่น ข้าวของลูกหาย เห็นรอยฟกช้ำหรือหมากฝรั่งติดหัว ฯลฯ พอลูกโกหกว่าหกล้มบ้าง ลืมบ้าง เพราะไม่อยากบอกว่าโดนเพื่อนรังแก คิมคยองจาก็ตำหนิลูกว่าเฟอะฟะ ไม่เคยเอะใจว่าเขาโดนกลั่นแกล้ง เธอจึงได้แต่ตำหนิลูกชายวัยเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วคิดว่าเธอล้มเหลวในการเลี้ยงลูก คาดหวังว่าลูกจะต้องดีกว่านี้
สิ่งยึดเหนี่ยวศรัทธาของเธอคือศาสนา และพาลูกเข้าทำพิธีกรรมทางศาสนามากมายโดยหวังว่าลูกชายจะได้ดี สนใจแต่เรื่องผลการเรียน คาดหวังว่าจะได้เรียนจบมหาวิทยาลัยดังๆ เป็นหน้าเป็นตา
แม่อาจช่วยเหลือ ปลอบขวัญ เข้าไปจัดการปัญหา bully ได้ตามสไตล์แม่ซึ่งเป็นขาลุยเพียงแค่รับรู้ปัญหา แต่แก่นเรื่องของซีรีส์คือทำให้คนดูเห็นว่า นี่คือแม่ที่มองเห็นแต่เปลือกนอกของลูกชาย ไม่เคยเห็น ‘จิตใจ’ อันที่เต็มไปด้วยบาดแผลและความกลัว เมื่อพ่อแม่มองไม่เห็น ถึงรักแค่ไหนก็ช่วยเหลือได้ไม่ตรงจุดที่ลูกต้องการ
Mask girl
Mask Girl อาจเป็นซีรีส์ที่พยายามเล่าประเด็นหรือปัญหาในสังคมเยอะไปหน่อย และพล็อตก็ค่อนข้างซับซ้อน เช่น ตัวละครมีสามช่วงวัย สามใบหน้า เริ่มต้นจากการเจาะปัญหาหนึ่งในช่วงต้น นำไปสู่พล็อตเชิงล้างแค้นในครึ่งหลัง ฯลฯ ซึ่งก็จวนเจียนจะสะเปะสะปะ แทนที่จะเน้นแก่นเรื่องให้ชัดเจน (แต่ได้เปรียบตรงที่ยังสนุก)
จุดแข็งของซีรีส์คือ ‘การเล่าเรื่อง’ ซึ่งแบ่งแต่ละตอนเป็นชีวิตของแต่ละตัวละคร เราจึงได้เห็นภูมิหลังและความลึกของตัวละครอย่างละเอียด จากนั้นค่อยๆ เผยว่าตัวละครหนึ่งๆ ไปมีส่วนร่วมหรือซ้อนทับชีวิตตัวละครอีกคนได้อย่างไร ได้เห็นผ่านมุมมองที่ต่างกันของตัวละครแต่ละตอนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งแม้จะเป็นการเล่าย้อนหลังทุก ep. แต่ก็สามารถผลักให้เรื่องเดินหน้าได้เรื่อยๆ
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่า Mask Girl นำเสนอสารตั้งต้นที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ให้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงดูที่ละเลยเรื่องของจิตใจว่า มีอิทธิพลต่อลูกอย่างไรในตอนเป็นเด็ก จนบาดแผลใจติดตัวและส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพเมื่อเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่
นอกจากนี้ยังสะท้อนภาพโครงสร้างใหญ่กว่านั้นคือเมื่อพวกเขาผู้ซึ่งโตมากับแผลใจ (คิมโมมี,จูโอนัม) ในวัยผู้ใหญ่ ผลของแผลใจที่เคยมีนั้น กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้อย่างไร (ความลุ่มหลง, ความไม่ไว้วางใจ, ความรุนแรง, การขาดความยับยั้งชั่งใจ ฯลฯ) อีกทั้งบาดแผลของพวกเขายังส่งผลต่อเนื่องถึงชีวิตของลูกหลาน (ลูกของคิมโมมี) ได้ด้วย
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”
( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )
ภาพ: อินเทอร์เน็ต