‘มาร์ค’ ภาคิน ไขว่คว้าล่าฝัน

-

‘มาร์ค’ ภาคิน เป็นนักแสดงรุ่นใหม่ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจจนเราอยากแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จัก เขาเคยเป็นนักแบดมินตันเยาวชนทีมชาติดาวรุ่งอนาคตไกล เคยเป็นพ่อค้าขายเสื้อผ้ามือสองยอดขายปัง และก้าวสู่วงการบันเทิงโดยการไขว่คว้าโอกาสด้วยตนเอง นอกจากนั้นบุคลิกของเขายังมีเสน่ห์ที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมด้วยพรสวรรค์การเป็นเอนเทอร์เทนเนอร์ ในฐานะนักแสดง มาร์คพัฒนาไม่หยุดยั้งด้วยการรับบทเด็กพิเศษที่ตกเป็นเป้าของการรังแก ในผลงานซีรีส์เรื่องล่าสุด High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู อีกบทพิสูจน์การเป็นนักแสดงตัวจริงผู้ทุ่มเทและใส่เต็มร้อยกับทุกโอกาส 

พาร์ต 1: นักแบดมินตัน 

เราเริ่มบทสนทนากับนักแสดงหนุ่มด้วยการย้อนไปในวัยเด็ก ตอนนั้นเขาเติบโตมาในบรรยากาศครอบครัวอย่างไร และอะไรที่ผลักดันให้เขาก้าวสู่เส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพ “ผมมีพี่น้องสามคน มีพี่สาวกับน้องสาว ผมเป็นลูกคนกลาง และเป็นหลานชายเพียงคนเดียวของตระกูล ด้วยความที่ญาติๆ ยกเว้นพี่น้องแท้ๆ เอาใจเรา เลยติดเอาแต่ใจพอดู และขี้แยมาก ตอนประถมเวลาเล่นกีฬาแพ้ ผมจะร้องไห้ไม่ยอมออกจากสนาม จะแข่งใหม่ให้ได้ จนพ่อหรือแม่ต้องอุ้มออกจากสนาม  

“อันที่จริงกีฬาแรกที่เล่นไม่ใช่แบดมินตันแต่เป็นฟุตบอล ผมฝึกฟุตบอลตั้งแต่ 7 ขวบ มีแผลกลับบ้านทุกวันเพราะเล่นแล้วต้องมีสไลด์สกัดบอล แม่เห็นก็ไม่อยากให้เราเล่น เลยบอกป๊าให้เลิกฟุตบอลแล้วเรียนอย่างอื่นแทน เผอิญว่าผมชอบตีแบดเล่นๆ แถวบ้าน และคอร์ตที่ผมตีก็มีสโมสรเปิด เลยไปลงเรียน เป้าหมายตอนนั้นแค่ต้องการออกกำลังกาย หากิจกรรมทำ ทว่าไปๆ มาๆ เขาเห็นแววจึงชวนให้ไปลงแข่งดู” 

แล้วมาร์คเริ่มจริงจังกับเส้นทางกีฬาแบดมินตันตอนไหน “ผมเริ่มเล่นแบดตั้งแต่ 8 ขวบ ก็เล่นสนุกๆ ได้เจอเพื่อน ได้ออกกำลังกาย จนถึงคราวต้องเลือกระหว่างเรียนกับกีฬา ตอนอายุ 14 ปี ผมต้องตัดสินใจว่าจะไปเข้า academy หรือไม่ หากเลือกเส้นทางนี้ก็เป็นการก้าวสูงขึ้นกว่าระดับสโมสร เป้าหมายคือการติดเยาวชนทีมชาติ และแทบจะต้องทิ้งการเรียนแบบเพื่อนๆ เพราะแม้จะยังเป็นนักเรียน แต่เราต้องฝึกฝนในฐานะนักกีฬาด้วย เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ ผมถามตัวเองว่าเราจริงจังกับแบดมินตันแค่ไหน สิ่งนี้จะเป็นอาชีพของเราในอนาคตได้ไหม สุดท้ายด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ฐานะทางบ้าน โอกาสที่จะได้รับ เช่น รายได้ ทุนการศึกษา ทุนสำหรับไปแข่งต่างประเทศ ผมก็ตัดสินใจเลือกเข้า academy และเปิดรับโอกาสเหล่านั้นไว้” 

อะไรคือความแตกต่างระหว่างนักกีฬาอาชีพกับสมัครเล่น “มีเงินเดือนครับ หากเราทำอันดับโลกได้ดี เงินเดือนก็เพิ่มขึ้นตาม และต้องทำผลงานให้ดีเพื่อจะได้เซ็นสัญญาต่อ ตั้งแต่อายุ 14 ปี ผมก็ไม่ขอเงินทางบ้านเลย บอกป๊าว่าไม่ต้องให้เงินแล้ว ดูแลพี่กับน้องเถอะ เราดูแลตัวเองได้” 

ความรู้สึกของมาร์คเมื่อก้าวสู่เส้นทางมืออาชีพ “ผมอาจไม่ได้ชอบกีฬาแบดมินตันมากตั้งแต่ต้น เราแค่ทำสิ่งนี้ได้ดีและมีโอกาสเข้ามา เลยไปต่อ มันไม่ได้เกิดจากแพชชัน เราสู้เพื่อป๊าจะได้ไม่ต้องส่งเสียเลี้ยงดู เรามีอาชีพ มีเงิน ถ้าโชคดีหน่อยได้แชมป์บ่อยๆ อาจติดทีมชาติแล้วได้เงินสักก้อน ทว่าปลายทางคือการเป็นโค้ชนั้น ผมไม่ได้อยากเป็น” 

จุดพลิกผันซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจยุติชีวิตนักแบดมินตัน “จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นชั่วข้ามคืนเองครับ วันหนึ่งผมรู้สึกไม่อยากตื่นมาซ้อมแล้ว เราเล่นฝีมือตกไหม ก็ไม่ เราจัดอยู่ในกลุ่มดาวรุ่งอนาคตไกลในวงการ เป็นอันดับต้นๆ ที่ส่งไปแข่งตลอดด้วยซ้ำ ทว่าที่ผ่านมาเรามีเพื่อนที่ซ้อมด้วยกัน แต่พอเลยรุ่นเยาวชนก็เข้าสู่การตีอาชีพ ต้องไปเจอแชมป์โลก แชมป์โอลิมปิก เรายังถูกส่งไปแข่งอยู่ แต่เพื่อนที่เคยซ้อมด้วยกันเขาไม่อยู่กับเราแล้ว มองไปไม่เห็นใคร เล่นไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อน อันที่จริงสิ่งที่ทำให้ผมยังตีต่อไปเพราะเราสนุกที่ได้อยู่กับเพื่อน ไม่ได้อยากตีเพราะหวังเป็นแชมป์โลกหรือโอลิมปิกเลย แพชชันของผมคือเงิน ไม่อยากคว้าเหรียญอะไรทั้งนั้น ไม่ต้องการให้คนเชิดชู มาร์คได้เหรียญทอง เราเล่นเพื่อเงิน ดังนั้นเวลาผมตีแพ้ ตอบตามตรง ผมแทบไม่เคยเสียใจ เพราะเราไม่ได้รักสิ่งนี้ขนาดนั้น แต่ผมเสียใจที่ทำให้โค้ชผิดหวัง คู่ตีผิดหวัง ส่วนตัวผมนั้นไม่รู้สึกอะไร เราตีเอาสนุกแล้วดันทำได้ดีเท่านั้นเอง 

“พอรู้สึกไม่อยากซ้อม ผมก็ออกอาการ โค้ชเห็นก็รู้แล้วว่าไอ้นี่ถอดใจ เขาก็เรียกคุยพร้อมผู้ปกครอง ตอนนั้นผมเซ็นสัญญาถึงโอลิมปิกโตเกียว เหลืออีกหนึ่งปีจะครบสัญญา พ่อเตือนว่าอย่าไปบอกเขาว่าไม่อยากตี เดี๋ยวโดนปรับเป็นเงินหลักล้าน แต่ ณ ตอนนั้นผมอยากหยุดแล้ว ก็พูดในที่ประชุม โชคดีที่โค้ชเข้าใจ ปล่อยผมไปและไม่ปรับด้วย ทว่าก็โดนที่บ้านว่ากล่าวเยอะ เขาเป็นห่วงแหละ เขาไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรต่อ หนังสือก็ไม่ได้เรียน”

 

พาร์ต 2: พ่อค้าออนไลน์ 

หลังจากยุติการเป็นนักแบดมินตันแล้ว มาร์คทำอะไรต่อจากนั้น “หูย เหมือนหลงในกิเลสตัณหา ผมสังสรรค์ปาร์ตี้เยอะมาก เพราะเราไม่เคยมีชีวิตวัยรุ่นมัธยมหรือมหา’ลัย ไม่เคยร่วมกิจกรรมกีฬาสีหรือรับน้อง กิจวัตรของผมคือซ้อมแบดฯ ตั้งแต่ตีห้า-เจ็ดโมงเช้า เก้าโมงเข้าเรียน บ่ายสามรถตู้มารับหน้าโรงเรียนเพื่อซ้อมตอนหกโมงเย็น สามทุ่มครึ่งเก็บโทรศัพท์มือถือ และเข้านอนตอนสามทุ่มสี่สิบห้า ไม่มีเวลาเล่นโซเชียลมีเดียเหมือนเพื่อน พอเลิกแบดฯ ก็เที่ยวชดเชยช่วงเวลาที่หายไป ใช้เงินที่หาจากการตีแบดฯ จนแทบหมด ต้องขอยืมจากเพื่อน ผมทำงานหลายอย่างที่หาเงินได้ เช่น ขายเสื้อผ้าวินเทจเพราะชอบแต่งตัว ขายน้ำพริกที่แม่ทำ ขายขนม ให้เพื่อนที่เป็นเชฟช่วยสอน ผมไลฟ์สดเฟซบุ๊กขายออนไลน์หาเงินประทังชีวิต เราไม่มีความรู้ จะสมัครงานที่ไหนก็คงไม่รับ 

“จริงๆ แล้วขายเสื้อผ้าวินเทจรายได้ดีนะครับ ต่อเดือนได้แปดหมื่นถึงหลักแสน ผมติดต่อทางอเมริกาให้ส่งมาเลย ขายตั้งแต่หลักสิบบาทถึงสี่ห้าหมื่น ส่วนตัวผมเป็นคนมีแค่ ศูนย์ หรือ ร้อย คือถ้าชอบผมเต็มร้อยเลย แต่ถ้าไม่เอาก็คือไม่ทำเลย” 

แล้วทำไมถึงตัดสินใจเลิกเป็นพ่อค้า “ผมถามตัวเองว่า อีก 10 ปีจะทำอะไรต่อ จะขายของอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหรอ ผมมองว่าตลาดวินเทจไม่มีทางโตกว่านี้ ไม่มีทางที่ยอดขายจะถึงหลักล้าน 

“ถ้าอย่างนั้นเราอยากทำอะไรล่ะ เราออกมาเพราะไม่อยากอยู่ในคอร์ตแบดฯ ตลอดชีวิต ไม่อยากเป็นโค้ช แล้วเราอยากทำอะไรกันแน่ ผมนึกถึงความฝันวัยเด็ก เราอยากเป็นตลกคาเฟ่ ป๊ามักพาไปดู แล้วผมชอบมาก ตอนนั้นเสาะหาข้อมูลว่าการเป็นตลกคาเฟ่ต้องทำยังไง ไปสมัครงานที่ไหน พบว่าทุกวันนี้คาเฟ่ไม่เหลือแล้ว ถ้างั้นมีความฝันอะไรนอกเหนือจากนี้บ้าง ผมชอบดูภาพยนตร์ ผมมักได้กำลังใจจากการดูภาพยนตร์ ถ้าเป็นตลกคาเฟ่ไม่ได้ เราเป็นนักแสดงดีกว่า” 

พาร์ต 3: นักแสดง 

เมื่อตัดสินใจอยากทำงานเป็นนักแสดงแล้ว มาร์คเข้าวงการบันเทิงได้ยังไง “ผมเดินเข้าไปเอง นาดาวบางกอกเปิดแคสติ้ง ผมก็ไปสมัคร ที่จริงอายุเกินเกณฑ์ด้วยครับ แต่ก็ส่งไปเผื่อฟลุก สุดท้ายก็ไม่ได้ แต่เขาเก็บประวัติผมไว้ พี่ที่เป็นแคสติ้งชวนผมไปแคสต์ที่ไลน์ทีวี เขาจะมีโปรเจ็กต์ใหม่ ผมก็ไปแคสต์แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ และติด 1 ใน 4 แบบงงๆ”  

เคยมีแมวมองชักชวนหรือทักข้อความว่าสนใจในตัวเรามาก่อนไหม “ไม่มีเลยครับ ตอนผมเป็นนักกีฬาแทบไม่เล่นโซเชียลมีเดียเลย ไม่เคยลงรูปเท่ๆ กับเขา มีแต่ลงรูปขำๆ แบบเด็กผู้ชาย ถ่ายรูปกันเอง ทั้งหมดผมเดินเข้าไปหาโอกาสเอง  

“ผมเป็นศิลปินฝึกหัดของไลน์ทีวี ฝึกร้อง เต้น แสดง และพี่แคสติ้งที่นาดาวบางกอกคนเดิม ก็ชวนให้ไปแคสต์ซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ ซีซัน 2 และแค่เพื่อนครับเพื่อน ซึ่งผมก็ผ่านการคัดเลือกและได้แสดงซีรีส์ทั้งสองเรื่องครับ 

“จากนั้นพี่อ๊อฟ นพณัช ถามผมว่ามีสังกัดรึยัง เขาชอบแคแรกเตอร์แบบเรา เลยชวนเข้าสังกัด GMMTV ทางไลน์ทีวียุติโปรเจ็กต์พอดีตอนนั้น ผมเลยได้เข้าสังกัด GMMTV 

จากนักกีฬาสู่การมายืนอยู่หน้ากล้อง มาร์คมีช่วงเขิน เกร็ง และต้องใช้เวลาปรับตัวไหม “โห แทบไม่มีเลยครับ ผมเป็นคนกล้าแสดงออก หรือพูดตรงๆ ผมหน้าด้าน ไม่อาย ไม่เขิน ไม่ตื่นเต้นเมื่อมีคนจ้องมอง เลยปรับตัวเข้ากับการทำงานได้ง่าย” 

แล้วมาร์ครู้สึกอินกับการแสดงตอนไหน “ตั้งแต่เป็นศิลปินฝึกหัดอยู่ไลน์ทีวีแล้วครับ เขาให้ฝึกร้อง เต้น แสดง ผมแทบจะอินแค่การแสดงอย่างเดียว ชอบมาก พอได้โอกาสแสดงในซีรีส์ก็ดีใจบอกป๊ากับแม่ ต่อให้เป็นบทสมทบเล็กๆ ผมก็ดีใจ ไม่จำเป็นต้องรับบทนำ เพียงแค่เป็นบทบาทที่ผมชอบ ให้อะไรแก่คนดู ผมเชื่อว่าทุกตัวละครเป็นตัวนำได้หมด เพียงแต่แอร์ไทม์อาจไม่เท่ากัน ถ้าเชื่อว่าเราคือนักแสดงนำ เราจะเห็นแคแรกเตอร์ชัด และถ้าเชื่อในตัวละคร 100% คนก็จะดูคุณเอง” 

พาร์ต 4: ท้าทายฝีมือ 

แม้ว่าจะไม่ใช่นักแสดงนำ แต่บทบาทที่มาร์คได้รับในผลงานซีรีส์เรื่องล่าสุด High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู ก็ท้าทายความสามารถในฐานะนักแสดงเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือการสวมบทเด็กพิเศษ “High School Frenemy มิตรภาพคราบศัตรู เป็นเรื่องการทะเลาะและกลั่นแกล้งในรั้วโรงเรียน ตอนแรกผมมีความคิดว่าประเด็นนี้เก่าไปแล้วไหม แต่เมื่อดูข่าวก็ยังเห็นว่าความรุนแรงเหล่านี้มีปรากฏอยู่ทุกวัน ตัวละครที่ผมรับบทชื่อว่า ‘ชัดเจน’ เป็นเด็กพิเศษ เราอาจพอเห็นภาพของชั้นเรียนซึ่งมีเด็กพิเศษบางกลุ่มที่สามารถสื่อสารและเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ เผลอๆ เรียนเก่งกว่าผมอีก พอได้รับการทาบทามผมก็ตัดสินใจตกลงรับบทนี้ทันที เป็นแคแรกเตอร์ที่ชาเลนจ์มากๆ ชัดเจนเป็นคนที่โดนแกล้ง และเป็นตัวละครที่สำคัญในการเชื่อมเรื่องราว ผมเชื่อว่าหากได้ดูซีรีส์แล้วคุณจะหลงรักตัวละครนี้เช่นเดียวกันกับผม ซึ่งอยากเป็นเพื่อนกับเขาในชีวิตจริง” 

กว่าจะดีไซน์แคแรกเตอร์จนเป็น ‘ชัดเจน’ ในแบบของมาร์ค ยาก-ง่ายอย่างไรบ้าง “ตัวละครนี้ผมกลับไม่รู้สึกว่ายาก แน่นอนว่าผมได้ไปศึกษาข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของเด็กพิเศษ ฟังเรื่องเล่าจากคุณแม่ เขามีพฤติกรรมยังไง อาการยังไง และนำมาปรับใช้ ส่วนตัวผมเป็นคนชอบสังเกตความเป็นมนุษย์ และลอกเลียนแบบพฤติกรรมอยู่แล้ว คอยสังเกตว่าคนที่มีท่าทางแบบนี้ ลึกลงไปภายในเขามีความรู้สึกนึกคิดแท้จริงอย่างไร ตัวละครก็เช่นกัน ผมชอบทำความเข้าใจความเป็นมาของแต่ละตัว  

“เรื่องนี้ถ่ายทำสนุกและเหนื่อยมาก เพราะนักแสดงเยอะ กว่าจะรวมกันได้แต่ละคิวก็ยาก และมีฉากแอ็กชันเยอะ ส่วน ‘ชัดเจน’ ซึ่งผมสวมบทนั้นเป็นตัวละครที่ชอบครุ่นคิด มีความแพนิก เลยเหนื่อยจากภายในด้วยครับ” 

มาร์คยังมีอีกโปรเจ็กต์ให้ติดตามชมในปีหน้าคือการเป็นนักแสดงนำครั้งแรกในซีรีส์วายแฟนที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำ “ตื่นเต้นกับโอกาสครั้งนี้มาก อีกทั้งบทบาทที่ได้รับยังโคตรจะเป็นตัวผม เรื่องนี้ดีไซน์แคแรกเตอร์ขึ้นใหม่โดยอ้างอิงจากตัวตนของผม ทว่าอาชีพหมอกลับผิดกับบุคลิกมากๆ ไม่มีทางเลย อย่างมากผมเป็นได้แค่หมอดู (หัวเราะ) ถึงจะแสดงในซีรีส์วายแล้วหลายเรื่อง ทว่าบทตัวนำกับตัวสมทบความรู้สึกต่างกัน มีเรื่องความคาดหวังจากแฟนคลับและทีมงานอีก แต่ถามว่ากลัวหรือประหม่าไหม ไม่ เพราะผมอยู่กับแรงกดดันมาทั้งชีวิตตั้งแต่สมัยเป็นนักแบดมินตัน ต้องไปแข่งในนามของประเทศ ผมเลยจัดการแรงกดดันได้ และสนุกกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สนุกกับการทำอย่างไรให้ตัวละครนี้น่าสนใจ” 

เคมีระหว่าง มาร์ค กับ ‘โอม’ ฐิภากร พาร์ตเนอร์ในการแสดง “เราใช้เวลาหนึ่งปีในการแคสต์คนที่จะมาแสดงคู่กันกับผม โอมเป็นคนเดียวที่ผมรู้สึกว่าประฝีมือเราได้ ด้วยความที่เราอาวุโสกว่าหลายคนก็เกรงใจ เพราะส่วนมากเป็นเด็กใหม่ในสังกัด แต่โอมไม่กลัวหรือเกร็งเวลาอยู่กับผม และโอมเป็นเด็กฉลาด เป็นคนที่โตมาแตกต่างจากเรา เขาเป็นเด็กเรียน ในขณะที่ผมเป็นนักกีฬา ยิ่งต่างกันก็ยิ่งมีเรื่องให้เรียนรู้ระหว่างกัน” 

พาร์ต 5: บทเรียนจากประสบการณ์ 

การเป็นนักแสดงเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวมาร์คบ้าง “คงเป็นการใช้ชีวิตครับ ผมเก็บตัวมากขึ้น ไม่ใช่เพราะไม่อยากเจอใคร แต่การทำงานวงการบันเทิงนั้นเราได้เจอผู้คนเยอะ จนรู้สึกเหนื่อย และอยากพักเพื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ออกไปกินข้าว ดูหนัง ต่อเลโก้” 

ความเป็นนักกีฬาสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานทุกวันนี้ได้ไหม “โห ใช้มากครับ ผมมักโทร.ไปคุยกับป๊าว่าโชคดีที่ตีแบดฯ มาก่อน เพราะการเป็นนักแบดฯ นั้นโหดและหนักกว่า เหมือนผมเคยวิ่ง 20 กิโลเมตรมาแล้ว ส่วนงานที่เจอทุกวันนี้วิ่งแค่ 10-15 กิโลเมตร แล้วนักกีฬาจะมีแรงฮึดสู้ ในวงการบันเทิงผมก็ต้องใช้เหมือนกันเมื่อถึงวันที่เราเหนื่อยมากๆ ผมมักจะบอกตัวเองว่า ตอนนี้มึงสบายมากแล้วมาร์ค อยากทิ้งเหรอ อยากกลับไปทุ่มเทขนาดนั้นอีกเหรอ” 

ยังมีทักษะอะไรที่เราอยากฝึกเพิ่มเติมอีก “ตอนนี้สนใจการเป็นวันสแตนด์อัปคอเมดี ผมชอบฟังคนพูดหรือเล่าเรื่องเก่งๆ ผมคิดว่าทักษะนี้ช่วยเสริมการแสดงได้ เพราะคุณจะเล่าเรื่องได้ดี ภาพในหัวต้องชัด และถ้าภาพชัด คนดูก็จะเห็นคล้อยตาม ผมอาจไม่ถนัดร้องหรือเต้น แต่นี่คือสิ่งที่ผมชอบ และคิดว่าน่าจะทำได้”

อะไรคือสิ่งที่มาร์คให้ความสำคัญในปัจจุบันนี้ “อันดับแรกคือครอบครัว ผมไม่ชอบเห็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่รักทะเลาะกัน แม้ว่าเรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับผม ขาดเหลือหรือมีปัญหาอะไรก็บอกดิ อย่าทะเลาะ นี่คือเรื่องที่กระทบใจผมและรู้สึกดิ่งได้ง่าย สองคืองาน สามนี่มีหลายอย่าง ทั้งแฟนคลับ เพื่อน หมา ภาพยนตร์” 

ในยามเจออุปสรรค มาร์คใช้วิธีต่อสู้ฟันฝ่าอย่างไร “ผมโชคดีที่เป็นคนพอใจง่าย สบายๆ ชิลล์ ผมว่าผมมีกลไกป้องกันตัวด้วยการหาช่องโหว่ของอุปสรรค มองหาให้เจอ ต่อให้เจอคนที่ชีวิตดีกว่าเรา ผมก็ไม่เปรียบเทียบ แค่นี้เราพอใจแล้ว ถึงจะเหมือนกุศโลบายไว้หลอกตัวเอง แต่ผมมีความสุขจริงๆ ผมเคยมีน้อยมาก่อน จึงพอใจง่าย ก็เลยสบายครับ” 


ขอบคุณสถานที่
Vince hotel 

26/2 Alley 2 Petchaburi Road Soi 11 Bangkok, Thailand 

Reservations: +66 2254 6480 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!