‘อ้ายมะม่วงหมาเลีย’ มาแล้ว

-

นอกจาก “เสือเฒ่าเจ้าเล่ห์” ซึ่งเป็นบุคลิกภาพของชูชกที่กล่าวถึงในฉบับที่แล้วแล้ว  ยังมีสำนวนไทยอีกมากที่มาจากตัวละครในวรรณคดีที่น่าสนใจ เช่น “อ้ายมะม่วงหมาเลีย” “ยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่” ฯลฯ

 

 

อ้ายมะม่วงหมาเลีย

มะม่วงที่หมาเลียน่าจะเป็นมะม่วงสุกซึ่งมีดนื้อสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม มีเนื้อนิ่มหวานฉ่ำ หมาบางตัวเห็นก็จะดึงทึ้งเอาเปลือกออก แล้วเลียจนผิวของเนื้อมะม่วงเลื่อมลื่น

สำนวน “อ้ายมะม่วงหมาเลีย” มาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนซึ่งมีตัวละครสำคัญตัวหนึ่งคือ “ขุนช้าง” ลักษณะเด่นชัดที่สุดของขุนช้างอยู่ที่มีศีรษะล้านเลี่ยนเงาเป็นมันออกสีเหลืองเรื่อๆ ซึ่งเป็นปมด้อยของเศรษฐีขุนช้างที่มักถูกพูดถึงอย่างดูแคลน เช่น ตอนที่นางศรีประจันแม่ของนางพิมพิลาไลยพูดถึงขุนช้างว่า “ขุนช้างมันชั่วแต่กระบาล ถึงหัวล้านหัวเหลืองเครื่องในดี” หรือตอนที่ขุนช้างมาหานางศรีประจันที่บ้านเพื่อเจรจาถึงเรื่องการแต่งงานกับนางพิม แม่จึงร้องเรียกลูกสาวให้ออกมาพบพูดคุยด้วย ทำให้นางพิมซึ่งแอบฟังอยู่ในห้องโกรธถึงขีดสุด เปิดหน้าต่างแล้วด่าอ้ายผลบ่าวซึ่งหัวล้านเหมือนกันกระทบขุนช้างด้วยคำพูดที่บาดหูว่า

อ้ายเจ้าชู้ลอมปอมกระหม่อมบาง                      

ลอยชายลากหางเที่ยวเกี้ยวหมา

ชิชะแป้งจันทน์น้ำมันทา                                     

หย่งหน้าสองแคมเหมือนหางเปีย

หมามันจะเกิดชิงหมาเกิด                                  

มึงไปตายเสียเถิดอ้ายห้าเบี้ย

หน้าตาเช่นนี้จะมีเมีย                                         

อ้ายมะม่วงหมาเลียไม่เจียมใจ

“อ้ายมะม่วงหมาเลีย” เป็นสำนวนเปรียบที่ใช้บริภาษคนที่มีศีรษะล้านซึ่งมีลักษณะสีสันเหมือนมะม่วงที่ถูกหมาเลีย ดังนั้นในที่นี้ มะม่วงหมาเลียคือหัวล้าน ซึ่งหมายถึงขุนช้างนั่นเอง เป็นความเปรียบที่หยามเหยียดอย่างยิ่ง เพราะนำสิ่งที่ถูกสัตว์เดรัจฉานเลียมาเปรียบกับศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสูงสุดของคน คนไทยบางคนถ้าใครมาสัมผัสจับต้องศีรษะจะไม่พอใจถือว่าไม่ให้เกียรติกัน เช่น ขณะที่นิดและจิ๋วพูดถึงหนุ่มใหญ่ศีรษะล้านในที่ทำงานที่ชอบทำตาเจ้าชู้กรุ้มกริ่มกับสาวๆ ครู่หนึ่งต่อมานิดเห็นหนุ่มคนดังกล่าวกำลังเดินตรงมาที่เธอทั้งสองนั่งอยู่ จึงกระซิบเบาๆ กับจิ๋วว่า “อ้ายมะม่วงหมาเลียมาแล้ว ถ้ามาทำเป็นตีสนิทละก็อย่าคุยด้วยนานนะ เดี๋ยวเขาจะได้ใจ แล้วสำคัญตัวผิดคิดว่าเสน่ห์แรง”

 

ยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่

ผู้ชายคนใดเวลายิ้มหรือพูดหยอกเย้า แทนที่จะสื่อถึงมิตรไมตรีให้ผู้ได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังมีความสุข แต่กลับทำให้รู้สึกว่าน่ากลัว แสดงว่าผู้ชายคนนั้นจะต้องขี้ริ้วขี้เหร่มาก “จรกา” ตัวละครในวรรณคดีเรื่องอิเหนาฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็มีบุคลิกภาพดังกล่าว แม้จะไม่ใช่ตัวละครที่มีบทบาทมากนักแต่ก็เป็นภาพจำของผู้ที่ได้อ่านหรือได้ดูละครเรื่องนี้ ความอัปลักษณ์ของจรกานั้นปรากฏอยู่ในสารที่อิเหนาใช้เล็บเขียนข้อความลงบนกลีบดอกลำเจียก (ดอกปะหนัน) แล้วฝากนางค่อมทาสีนำไปให้นางบุษบาตอนหนึ่งว่า

เสียงแหบแสบสั่นเป็นพ้นไป                         

รูปร่างช่างกระไรเหมือนยักษ์มาร

เมื่อยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่             

ไม่ควรคู่เคียงพักตร์สมัครสมาน

และจบสารด้วยคมคารมเหน็บแนมนางว่า

แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย                        

อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า

พี่พลอยร้อนใจแทนทุกเวลา                         

หรือวาสนาน้องจะต้องกัน

“ยิ้มเหมือนหลอก หยอกเหมือนขู่” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบกับผู้ชายที่มีหน้าตาซุ่มเสียงไม่น่ายลยิน ไม่น่าชิดใกล้ เช่นเมื่อแม่เซ้าซี้ถามนฤมลว่าจะเปลี่ยนใจรับหมั้นกำจรชายหนุ่มนิสัยดีและเป็นทายาทเศรษฐีนีเพื่อนของแม่หรือไม่ เธอตอบว่า “ไม่ไหวหรอกแม่ พี่เขายิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่ น่ากลัวจะตาย ถ้าไม่มีคนที่ถูกใจจริงๆ หนูขออยู่เป็นโสดก็แล้วกัน”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!