สังคมไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับวิกฤติหลายด้านทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โรคร้าย ฯลฯ ในเรื่องกฏหมายของบ้านเมือง เมื่อประชาชนทั่วไปรู้สึกได้ถึงความอยุติธรรม และด้านการด้อยประสิทธิภาพของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบของรัฐในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน จึงได้มีสำนวนไทยบางสำนวนถูกนำมาใช้กันเกร่อ เช่น “เอาไม้ซีกมางัดไม้ซุง” “ลอยนวล” “บ้านเมืองมีขื่อมีแป” เป็นต้น
เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง
ขนาดของไม้ซีกและไม้ซุงต่างกันมากจนเทียบกันไม่ได้ เพราะไม้ซีกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของไม้ชิ้นเล็กๆ เช่น ไม้ไผ่ที่ผ่าครึ่ง เป็นต้น ส่วนไม้ซุงเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ตัดเป็นท่อนๆ ก่อนจะนำไปแปรรูป ดังนั้นการจะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงให้เคลื่อนที่ไปตามต้องการจึงเป็นไปไม่ได้ มีแต่ไม้ซีกจะหักเสียเอง
เมื่อนำ “เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบ จะหมายถึงประชาชนคนธรรมดาที่มิได้มีอำนาจบารมีใดๆ ถ้าไปมีเรื่องวิวาทหรือเป็นคดีความกับผู้มีอำนาจบารมีหรือพวกเศรษฐีก็ย่อมจะเสียเปรียบ ไม่สามารถเอาชนะคู่กรณีได้ เช่น หนุ่มๆ กลุ่มลูกชายรัฐมนตรีมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับกลุ่มผู้ที่มาเที่ยวสถานที่บันเทิงแห่งเดียวกันแล้วเกิดเขม่นกัน ลูกชายรัฐมนตรีซึ่งมึนเมาสุราเต็มที่ได้ชักปืนออกมากราดยิงอีกฝ่ายจนมีผู้บาดเจ็บและล้มตาย อย่างไรก็ตามเมื่อการดำเนินคดีเรื่องนี้สิ้นสุดลง ผลสรุปกลายเป็นว่าลูกชายรัฐมนตรีไม่ได้เมาสุราแต่ถูกหาเรื่องก่อน และจะถูกทำร้ายจึงจำเป็นต้องป้องกันตัว ในที่สุดแทนที่เขาจะถูกลงโทษหนักกลับกลายเป็นโทษเบาไปอย่างคาดไม่ถึง คนทั่วไปที่ติดตามข่าวนี้อยู่ก็วิจารณ์กันด้วยความผิดหวัง ตอนหนึ่งลุงยอดพูดกับลุงผลว่า “โธ่! ข้านึกแล้วว่ามันต้องออกมาในรูปนี้นี่แหละ จะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงได้ยังไง เหมือนโบราณว่าไว้ไม่ผิด”
ลอยนวล
“ลอยนวล” มีความหมายตามตัวอักษรว่านวลเด่นผ่องใส (ดูมีความสุข) ครั้นนำ “ลอยนวล” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบกลับมีความหมายสื่อไปในด้านลบ คือผู้ร้ายบางคนไม่ปรากฏร่อยรอยความวิตกกังวลใดๆ ให้เห็นบนใบหน้าจนทำให้หน้าตาหมองคล้ำ เขายังคงดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขทั้งๆ ที่รู้กันทั่วว่าได้ทำความผิดมาแล้วอย่างอุกฉกรรจ์ เช่นมีเสียงซุบซิบนินทากันว่า ทั้งๆ ที่ผู้ชายคนนี้ทำความผิดร้ายแรงแต่ก็ไม่มีใครเอาผิดเขาได้เพราะเขามีเงินมีพวกพ้องเป็นคนมีอำนาจบาตรใหญ่ ตอนหนึ่งพุดซ้อนพูดกับสามีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวขณะนั่งกินข้าวกันว่า “ดูเอาเถอะ สมัยนี้มันวิปริตไปหมด คนทำผิดทำชั่วถึงขั้นทำให้มีคนเจ็บคนตาย ก็ยังคงลอยนวลอยู่ได้อย่างไม่หวั่น ฉันว่าเงินมันพูดได้จริงๆ นะเธอ”
บ้านเมืองมีขื่อมีแป
“ขื่อ” คือชื่อไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงหลังคาสำหรับยึดหัวเสาด้านขวาง ส่วน “แป” คือไม้ที่วางบนจันทันซึ่งอยู่ตรงกับขื่อสำหรับรับแปที่วางพาดใต้หลังคาหรือรับระแนง ดังนั้นในการสร้างบ้านขื่อและแปจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของหลังคาบ้าน ซึ่งจะทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง คนในบ้านก็จะอยู่เย็นเป็นสุข
มีสำนวนไทยที่ใช้กันคุ้นหูมานานว่า “บ้านเมืองมีขื่อมีแป” คำว่าบ้านเมืองเป็นคำซ้อนของคำ “บ้าน” และ “เมือง” แปลว่าประเทศชาติ สำนวนบ้านเมืองมีขื่อมีแปถูกนำมาใช้ในความเปรียบว่า ประเทศชาติหรือบ้านเมืองจะดำรงอยู่รอดปลอดภัย ประชาชนมีความสุขสงบได้นั้น จำเป็นต้องมีบทบัญญัติคือกฎหมายซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ในประเทศได้ตราขึ้น เพื่อใช้ในการปกครองบริหารกิจการบ้านเมือง และบังคับบุคคลในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น เย็นวันหนึ่งมีชายกลางคนปีนรั้วประตูเข้าบ้านยายชื่น แล้วใช้ขวานฟันบานประตูหน้าบ้าน ยายชื่นซึ่งอยู่คนเดียวเห็นเข้าก็รีบหนีเข้าห้องนอน โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อตำรวจสามคนมาถึงก็ช่วยกันรุมจับตัวชายผู้นั้นไว้ ตำรวจนายหนึ่งพูดกับเขาว่า “ไม่รู้รึว่านี่เป็นบ้านคนอื่น บุกรุกเข้ามาสร้างความเดือดร้อนได้ยังไง บ้านเมืองมีขื่อมีแปนะ ไปสถานีตำรวจด้วยกันเดี๋ยวนี้เลย”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง : ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์