มหาชาติกระจาดใหญ่

-

มหาชาติ คือเรื่องราวของพระเวสสันดรที่ปรากฏในคัมภีร์ชาดก สันนิษฐานว่าเรื่องดังกล่าวเผยแผ่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมกับพระพุทธศาสนา ภายหลังเมื่อชนชาติไทยตั้งบ้านเมืองมั่นคงในดินแดนสุวรรณภูมิแล้วพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัยหลายหลักกล่าวถึงความสำคัญของมหาชาติไว้หลายประเด็น

พุทธศาสนิกชนไทยเชื่อกันมาแต่โบราณว่า เมื่อสิ้นศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันแล้ว สังคมมนุษย์จะค่อยๆ พัฒนาจนผู้คนบริบูรณ์ด้วยคุณธรรมแล้วจะถึงยุคของพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในภัทรกัปคือ “พระศรีอาริยเมตไตร” หรือยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นสังคมในอุดมคติ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายปราศจากการเบียดเบียนกันมีแต่ความสุขสมบูรณ์ทั่วหน้า พุทธศาสนิกชนไทยต่างปรารถนาที่จะได้ไปเกิดในยุคนั้น ก็แลผู้ใดประสงค์จะได้ “พบพระศรีอาริย์” คือไปเกิดในยุคของท่านก็ต้องสร้างกุศลถือศีลบำเพ็ญทานอย่างเคร่งครัด ฟังมหาชาติให้จบในวันเดียวและถวายเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ ประกอบด้วยธูปเทียนดอกไม้ให้ครบอย่างละพัน

รายละเอียดเกี่ยวกับยุคพระศรีอาริย์ ปรากฏในคัมภีร์มาเลยยวัตถุซึ่งกวีไทยนำมาแต่งเป็นพระมาลัยกลอนสวดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เนื้อหาตอนหนึ่งในกลอนสวดกล่าวว่า พระมาไลยเป็นพระอรหันต์ชาวลังกาทวีปสำแดงฤทธิ์ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอดีวันนั้นพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตพร้อมด้วยเทพบริวารก็พากันมาบูชาพระเจดีย์จุฬามณีด้วย พระมาไลยได้สนทนาถึงศาสนาของพระศรีอาริย์ซึ่งจะอุบัติขึ้นในอนาคต พระศรีอาริย์พรรณนาถึงอานิสงส์ของผู้ที่จะได้ไปเกิดพบศาสนาของท่านความตอนหนึ่งว่า

 

  ๏ ถ้าผู้ใดจะใคร่ชม           สมเด็จองค์พระศรีอารย์

ให้ตั้งใจชื่นบาน                ฟังนิทานพระเวสสันดร

๏ ถ้าผู้ใดจะใคร่ไหว้           เมื่อท่านได้เปนพระบวร

ให้ฟังนิทานพระเวสสันดร    ในวันเดียวจบทั้งพัน

๏ พระบาฬีเทศนา             ฟังคาถาถ้วนทั้งพัน

เข้าบิณฑ์ขนมนั้น              ทุกสิ่งพันจงมากมาย

๏ ฉัตร์ธงเพดานกั้น           รูปภาพนั้นผูกแขวนสาย

ประทีปธูปเทียนถวาย        ดอกไม้เพลิงเรืองรัศมี

๏ ดอกไม้ขาวใสสุทธิ์          ดอกสัตบุษย์อันรจนา

สิ่งละพันถวายบูชา            มหาชาติพระเวสสันดร

 

มหาชาติ แปลว่า การเกิดที่ยิ่งใหญ่หรือชาติที่ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องหนึ่งในชาดก (แปลว่าผู้เกิดแล้ว) หรือเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า เรื่องเหล่านี้แต่งเป็นคำประพันธ์หรือคาถา ปรากฏในพระไตรปิฎก มีตั้งแต่ 1 บทคาถาขึ้นไปจนถึงมากที่สุดคือ 1,000 บท ซึ่งได้แก่เรื่องมหาเวสสันดรชาดกนั่นเอง เนื่องจากเรื่องนี้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมีความยาวถึง 1,000 บทคาถาจึงเรียกว่าคาถาพัน ทั้งยังเป็นชาดกเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจึงเรียกว่า มหาชาติ

พุทธศาสนิกชนไทยทุกภูมิภาคมีความศรัทธาเรื่องมหาชาติอย่างแน่นแฟ้น มีการแปลเนื้อความจากคาถาภาษาบาลีเป็นกวีนิพนธ์สำหรับสวดและเทศน์หลายสำนวน และมีการจัดงานบุญ “เทศกาลเทศน์มหาชาติ” ขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ อย่างแพร่หลาย ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนภาพวิถีชาวบ้านในสังคมของชาวไทยภาคกลางได้ชัดเจนเรื่องหนึ่ง บรรยายภาพเทศกาลบุญมหาชาติของชาวเมืองสุพรรณ ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้ดังนี้

๏  อยู่มาปีระกาสัปตศก                  ทายกในเมืองสุพรรณนั่น

ถึงเดือนสิบจวนสารทยังขาดวัน                     คิดกันจะมีเทศน์ด้วยศรัทธา

พระมหาชาติทั้งสิบสามกัณฑ์                       วัดป่าเรไรนั้นวันพระหน้า

ตาปะขาวเฒ่าแก่แซ่กันมา                           พร้อมกันนั่งปรึกษาที่วัดนั้น

นั่นเป็นเทศกาลมหาชาติของประชาราษฎรไทยในอดีต ส่วนในราชสำนักตั้งแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตและทรงพระราชนิพนธ์มหาชาติคำหลวงขึ้นเพื่อใช้สำหรับสวดเป็นพระราชพิธีในเทศกาลเข้าพรรษา สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงพระราชนิพนธ์กาพย์มหาชาติขึ้นเพื่อใช้สำหรับเทศน์ในเทศกาลสำคัญ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้มีการเทศน์มหาชาติขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ร่วมกันทำกระจาดขนาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์ ความในพระราชพงศาวดารว่า

“…ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์มหาชาติ 13 กระจาด ตั้งกระจาดหน้ากำแพงพระมหาปราสาทรายตลอดมาถึงหน้าโรงทองและโรงนาฬิกาและข้างลานชาลาด้วยประกวดประชันกันนัก กระจาดคุณแว่นพระสนมเอกที่เขาเรียกว่าคุณเสือแต่งเด็กศีรษะจุก แต่งเครื่องหมดจด ถวายเป็นสิทธิ์ขาดทีเดียว”

มหาชาติกระจาดใหญ่ครั้งนั้นเป็นการเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนบทที่ใช้สำหรับเทศน์คงเป็น “กาพย์พระมหาชาติ” สำนวนหลวงซึ่งกรมพระอาลักษณ์แต่งเป็นร่ายยาวทูลเกล้าฯ ถวายมาแต่ต้นรัชกาล เมื่อแต่งบทสำหรับเทศน์แล้ว จึงมีการจัดเทศน์เป็นการพระราชกุศลครั้งยิ่งใหญ่ที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร

สนใจ “กาพย์พระมหาชาติ” ส่วนหนึ่งของมหาชาติกระจาดใหญ่ ตรวจสอบชำระใหม่ พุทธศักราช 2563 แวะไปที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร อาคารเทเวศร์ นะครับ


คอลัมน์:  ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!