ทุกภาษาล้วนมีสุภาษิต คำพังเพย ที่ช่วยกล่อมเกลาสั่งสอนจรรยามารยาทของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ในอดีตนั้นสังคมมีผู้ชายเป็นใหญ่ แต่สังคมลาวดั้งเดิมยกย่องสตรีเป็นใหญ่มีอำนาจปกครองครอบครัวและชุมชนมาก่อน แตกต่างจากสังคมอินเดียหรือจีนที่แผ่อิทธิพลผ่านการค้าและศาสนา ร่องรอยของสำนวนสุภาษิต คติสอนใจแม่หญิงของลาว จึงมีข้อน่ารู้ชวนคิดชวนศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะความเป็นหญิงในสังคมลาว
ເປັນຍິງໃຫ້ທໍານຽມນາມໄກ່ เป็นหญิงให้ธรรมเนียมนามไก่ แปลว่า เป็นผู้หญิงให้เอาอย่างไก่ ในวัฒนธรรมลาวมองว่าแม่ไก่เป็นสัตว์ที่รักถนอมเลี้ยงดูลูก คอยฟักไข่และป้อนอาหารให้อย่างดี ป้องกันอันตรายทั้งปวงที่จะแผ้วพานลูกได้ นอกจากนี้ ไก่ยังเป็นสัตว์ที่รักสะอาด จิกเอาแมลง หนอน ของสกปรกทั้งหลายออกจากเล้า ทั้งแม่ไก่ยังจิกป้อนอาหารให้ลูกก่อนจึงจะกินอาหารของตัวเอง เป็นความเปรียบที่เป็นเอกลักษณ์ของสำนวนลาว
ຢ່າໄດ້ຂົວໆຮ້ອງ ສະເໝີກາກິນໄຂ່ อย่าได้ขัวๆ ฮ้อง เสมอกากินไข่ แปลว่า อย่าได้ร้องเสียงดังโวยวายเหมือนกากินไข่ คนลาวมองว่านกกาเป็นสัตว์ที่ทำเสียงร้องโหวกเหวกโวยวาย กินซากเน่า สร้างความเดือดร้อนและเป็นลางร้าย เลยสอนเตือนว่าอย่าเอาอย่างกาที่ส่งเสียงดัง ไม่มีมารยาท ต้องสงบสำรวมรักษากิริยาเสมอจึงดี
ນຸ່ງຜ້າລາຍໝາເຫົ່າ ເວົ້າຄວາມເກົ່າຜິດກັນ นุ่งผ้าลายหมาเห่า เว้าความเก่าผิดกัน แปลว่า ถ้านุ่งผ้าลายแล้วหมาจะเห่าใส่ ถ้าพูดถึงแต่เรื่องในอดีตจะผิดใจกัน เป็นคำสอนเปรียบเปรยเตือนใจ ให้ระมัดระวังคำพูด ไม่ควรเอาเรื่องในอดีตมาลำเลิกมากเกินไป จะเป็นปัญหาผิดใจกัน ควรตั้งใจทำอนาคตให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดข้อวิวาทบาดหมาง เป็นคำสอนแม่หญิงในการครองเรือน อาจตรงกับสำนวนไทยว่า “อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ”
ໄວປາກເສຍສິນ ໄວຕີນຕົກໄມ້ ไวปากเสียสีน ไวตีนตกต้นไม้ แปลว่า พูดเร็วก็เสียศีล ปีนเร็วก็ตกต้นไม้ เป็นคำสอนให้ระมัดระวังคำพูดและการกระทำ ให้ค่อยๆ คิดก่อนพูด คิดก่อนทำ เพราะหากพูดโดยไม่ยั้งคิดก็อาจผิดศีลเป็นบาปได้ แต่ถ้าทำเร็วไปก็อาจเกิดความเสียหาย เหมือนกับเวลาปีนต้นไม้ ถ้าปีนเร็วเกินไปก็อาจพลัดจากต้นไม้จนบาดเจ็บ
ພ້າເຂົ້າຢ່າຟັນແຮງ ຂອງເພິ່ນແພງຢ່າເຂົ້າໃກ້ พ้าเข้าอย่าฟันแฮง ของเพิ่นแพงอย่าเข้าใกล้ แปลว่า พร้าคมอย่าฟันแรง ของที่คนอื่นหวงอย่าเข้าใกล้ คือเวลาใช้มีดพร้าที่ฝนมาจนคมดีแล้ว ไม่ต้องใช้แรงฟาดฟันเพราะจะทำให้คมพร้านั้นบิ่นเสียหาย เปรียบเหมือนหากเรามีของดีอยู่กับตัว ก็ให้เก็บงำไว้ค่อยๆ ใช้จึงเป็นเรื่องดี ตรงกับสำนวนไทยว่า “คมในฝัก” ส่วนของเพิ่นแพง คือของที่คนอื่นรักหวงถนอม ก็อย่าเข้าไปใกล้หรือหวังช่วงชิงเอามา เป็นคติสอนใจให้ไม่คิดแย่งชิงเอาของรักของหวงผู้อื่น หรือนัยหนึ่งคือเตือนไม่ให้เป็นชู้กับใคร เพราะจะเกิดความเสียหายแก่ตัวเราเช่นกัน
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข