ตำนาน “ผีนางนาก” นับว่าเป็นตำนานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากกระแสนางนาก มีปรากฏมาตลอดระยะเวลานับร้อยปี และเป็นตำนานที่ถูกนำมาผลิตซ้ำเป็นสื่อต่างๆ มากมายจนถึงปัจจุบัน
ตำนานเป็นเรื่องเล่าที่เชื่อกันว่าเคยเกิดขึ้นจริงในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมายาวนาน และหากตำนานไหนยังได้รับความนิยมอยู่ ตำนานนั้นก็จะมีการเล่าและการผลิตซ้ำผ่านรูปแบบต่างๆ และการเล่าขานสืบต่อนั้นแสดงให้เห็นว่าตำนานเรื่องนั้นยังมีบทบาทหน้าที่ในสังคมอยู่นั่นเอง แม้ถึงจะเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าเริ่มต้นเมื่อใดจากใครกันแน่ ปริศนานี้กลับไม่เป็นอุปสรรค เพราะยิ่งมีความคลุมเครือ ก็ยิ่งทำให้การเกิดการ “แตกเรื่อง” ไปตามบริบทของผู้เล่า ตามสถานการณ์ในขณะเล่า รวมถึงตามบริบทของผู้ฟังด้วย ตำนานที่คลุมเครือจึงเป็นเสน่ห์ให้เกิดการสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ มากมายตามแต่ผู้เล่าต้องการสื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคม
ดังตำนานแม่นากพระโขนง เชื่อว่าเกิดขึ้นจริงในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ดังมีบันทึกไว้โดยเจ้านายและปัญญาชนในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกดัดแปลงเป็นนิยายแนวสืบสวนในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดเป็นละครร้อง ละครเวที ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครเวทีในสมัยต่อๆ มา แต่ด้วยเรื่องเกิดขึ้นมานับร้อยปี จึงไม่อาจสืบสาวราวเรื่องหาข้อเท็จจริงได้แน่ชัด ตัวละครเอกที่ถูกสร้างขึ้นกลายเป็น “ภาพจำ” และกลายเป็นเรื่องเล่าที่เชื่อตามๆ กันมา เป็นอนุภาคที่ขาดไม่ได้ในการผลิตซ้ำทุกเวอร์ชั่น ได้แก่ มากกับนาก เป็นคู่รักกัน, มากถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร, นากคลอดลูกตาย, นากกลายเป็นผี แต่ยังปรากฏตัวเป็นคนเพื่อปรนนิบัติสามี, นากมีมือยาวเอื้อมเก็บมะนาวใต้ถุนเรือน จนมากรู้ความลับ, มากหนีจากแม่นากที่รู้แล้วว่าเป็นผี, ความดุร้ายของนาก เป็นต้น
ภาพจำหรืออนุภาคเหล่านี้คือเหตุการณ์หลักในเรื่องแม่นากพระโขนง ซึ่งหากผลิตซ้ำอีกก็จำต้องมีเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ แต่ก็เปิดโอกาสให้มีการตีความใหม่ ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของผู้เล่าในแต่ละเวอร์ชั่น
แม่นากพระโขนงที่ถูกผลิตซ้ำล่าสุด เสนอฉายเป็นละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท และฉายทางไลน์ทีวีด้วย เนื้อหายังคงเล่าเรื่องตามอนุภาคที่จดจำกันมาแต่อดีต แม้คนดูจะจดจำเรื่องได้หมดแล้ว แต่ก็ยังมีคนดู มีกระแสพูดถึง และมีนัยบางประการที่น่าจะนำมาศึกษา
บางพระโขนงเป็นแม่น้ำสายสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเป็นชุมชนการค้าทางเรือที่ใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นชุมชนสำคัญที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นเวลานาน แม่นากตัวละครเอกของเรื่อง เป็นคนที่มาจากถิ่นอื่น ซึ่งกรณีนี้เป็นการตีความใหม่ขึ้นมา เพราะเวอร์ชั่นอื่นมิได้กล่าวถึงในประเด็นนี้ ทำให้นากกลายเป็น “คนอื่น” ของชุมชน ตั้งแต่เริ่มต้น การผูกเรื่องให้แม่นากกับพ่อมากหนีตามกันมาจึงเป็นขัดต่อศีลธรรมของคนในชุมชน แม่นากจึงถูกรังเกียจและไม่นับว่าเป็นคนของชุมชนบางพระโขนง นากต้องปลูกเรือนอยู่นอกชุมชน ผู้ที่หวังดีต่อนากมากที่สุดก็คือ “ผีตะเคียน” ซึ่งไม่ถูกนับว่าเป็น “คน” ผีตะเคียนกับแม่นากจึงมีสถานะไม่ต่างกัน คือล้วนแต่เป็นคนนอกเหมือนกัน ต่อมาเมื่อแม่นากคลอดลูกตาย กลายเป็นผี แม่นากก็มีสถานะเป็นคนนอกสังคมอย่างสมบูรณ์
เมื่อพิจารณาจากตัวละครที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในเวอร์ชั่นนี้ จะเห็นได้ว่าภาพจำลองของสังคมไทยในยุคนั้น เป็นภาพของคนที่ต้องผูกพันกับสถาบันทางสังคมหลักๆ หลายอย่าง ได้แก่ สถาบันรัฐ ที่สะท้อนภาพผ่านกรมการเมือง ซึ่งตกอยู่ในอิทธิพลของอำนาจเงิน และผ่านตัวละครกำนันที่แม้จะเป็นผู้นำชุมชน แต่ก็ไม่มีอำนาจเด็ดขาดปกป้องคนในชุมชนของตนได้, สถาบันศาสนา แม้สามเณรในเรื่องจะเป็นตัวแทนของศาสนาที่มีบทบาทเป็นที่พึ่งทางใจให้คนในชุมชน แต่ก็ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้อย่างเต็มที่ ส่วนตัวละครพระอื่นๆ ที่มีปรากฏในเรื่อง ก็ยังถูกเศรษฐีอ้างอำนาจเงินเรื่องช่วยสร้างโบสถ์ สร้างวัด และนายเงินเหล่านั้นก็วางอำนาจเหนือพระสงฆ์อีกด้วย, สถาบันทุน ในเรื่องชี้ให้เห็นว่า อำนาจเงินเป็นใหญ่ สามารถบันดาลอะไรก็ได้ตามปรารถนา คนยังนับถือเงินและยอมจำนนกับคนที่มีเงินมากกว่าการยอมรับคุณค่าอย่างอื่น ดังจะเห็นได้จากการใช้เงินจ้างวานให้เล่นงานคนนอกอย่างแม่นากจนตาย
อย่างไรก็ตาม ความเป็น “อมตะ” ของตำนานแม่นาก อยู่ที่ความรักของแม่นากกับพ่อมาก ซึ่งแม้จะมีอุปสรรคอย่างไรก็ตาม แต่ก็ไม่อาจขวางความรักของทั้งสองคนได้ เป็นความรักที่ได้รับการยอมรับจากผู้เสพในทุกเวอร์ชั่น การพยายามคงรักษาร่างของตนไว้ให้เป็น “เมีย” ที่ดีของ “ผัว” กลายเป็นภาพจำที่ทุกการผลิตซ้ำจะลืมไม่ได้ เช่นเดียวกับความดุร้ายของผีแม่นาก ก็เพราะจะต้องยึดครองแสดงสิทธิ์ของความเป็นเมียที่มีต่อผัว เพื่อให้พ่อมากรักษาสัญญารักที่เคยมีต่อกัน และความรักอันเป็นอมตะนี้เองที่ทำให้ผู้เสพยอมรับ และเป็นอำนาจที่มีอิทธิพลสูงสุดกว่าอำนาจของสถาบันทางสังคมที่กดทับคนสามัญอย่างพ่อมากและแม่นาก
กระนั้น ปัจเจกชนอย่างพ่อมากกับแม่นาก ถูกแปรเปลี่ยนเป็น “ปัจเจกชน” กับ “ปัจเจกผี” เมื่อแม่นากต้องตายลง แต่สถาบันสังคมและชุมชนก็ยังกีดขวางกดทับให้ทั้งสองต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ดังนั้นคนดูที่เป็นปัจเจกชนจึงยอมรับความโหดร้ายของผีแม่นากที่ต้องปกป้องสมบัติที่ชื่อว่า “ผัว” ได้อย่างเอาใจช่วยในทุกเวอร์ชั่น
แต่สุดท้าย ศาสนากลายเป็นทางออกที่เหมาะสมและช่วยให้ชุมชนเกิดความสงบสุข ผีแม่นากยอมรับความจริงว่าตนมิอาจได้ครอบครองสมบัติที่ชื่อว่า “ผัว” ได้อีกต่อไป เพราะสถานภาพของตนได้เปลี่ยนไปแล้ว ตำนานผีแม่นากยังอยู่ในเรื่องเล่า ความทรงจำอย่างเป็นอมตะ เมื่อ “ปัจเจกชนคนสามัญ” ได้ถูกยกให้เป็นเทพเจ้า ช่วยเหลือผู้คนด้านต่างๆ เกิดเป็นศาลแม่นากที่วัดมหาบุศย์ สถานที่เกิดตำนานเรื่องนี้ เฉกเช่นกับหอผี ศาลเจ้า เรื่องเล่าในท้องถิ่นมากมายทุกภูมิภาคของไทย
ตำนานเรื่องเล่าของสามัญชนในท้องถิ่น คือมรดกทางคติชนที่ทรงคุณค่า หากได้รับการรื้อฟื้นและผลิตซ้ำเช่นเดียวกับแม่นากพระโขนง เราจะมี “วัตถุดิบ” ในการผลิตเรื่องเล่าและสื่อบันเทิงอีกมากมาย
ในยุคที่วัฒนธรรมบันเทิงกลายเป็น Soft Power นี้ อย่ามองข้ามเรื่องเล่าและตำนานผีของชุมชนเด็ดขาด อาจสร้างเงินตราหมุนเวียนในธุรกิจบันเทิงอีกอักโข
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ: อินเตอร์เน็ต