นวนิยายเรื่องแม่เบี้ย บทประพันธ์ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ ละครเวที ละครโทรทัศน์ หลายเวอร์ชั่น ล่าสุดมีการจัดสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 35 (ช่อง 7) และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย พร้อมๆ กับการกล่าวถึงปริศนาต่างๆ ที่ผู้ประพันธ์และผู้ดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์สร้างขึ้นว่าสื่อนัยอย่างไรบ้าง
ความคลุมเครือทางความหมายนี้กลายเป็น “เสน่ห์” ของนวนิยายเรื่องแม่เบี้ย ซึ่งดูเหมือนว่าวาณิชจะทำเปิดช่องเป็นนัยๆ ไว้สำหรับการตีความ มิได้มีคำตอบตายตัว นั่นเท่ากับท้าทายผู้ผลิตและผู้รับสารให้เกิดการสร้างสรรค์เรื่องราวต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
แม่เบี้ยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารลลนา แล้วรวมเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2530 โดยสำนักพิมพ์อู่พิมพ์เพกา จากนั้นก็ได้รับความนิยมมาโดยตลอด นับว่าเป็นนวนิยายไทยเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยตกกระแส และมีความ “ทันสมัย” อยู่เสมอมา
ที่กล่าวว่า “ทันสมัย” เพราะนวนิยายเรื่องนี้ได้รับการสร้างสรรค์และตีความให้เข้ากับยุคสมัยทุกครั้งที่มีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ อีกทั้งการอ่านของแต่ละคนก็อาจจะตีความเพิ่มเติม ได้ประเด็นใหม่ๆ ตามวัยวันและประสบการณ์ของตน เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่อ่านเอาเรื่องก็ได้เรื่อง อ่านเอารสก็ได้รส อ่านเพื่อค้นหาสารที่ซ่อนอยู่ก็ได้
นวนิยายเรื่องแม่เบี้ยมีสถานะทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ในปีที่นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์นั้น เป็นช่วงที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ โลกกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือที่เรียกว่า “หมู่บ้านโลก” สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ประเทศไทยเปิดรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างเต็มที่ มีการเดินทางไปมาหาสู่กัน เกิด “วัฒนธรรมการท่องเที่ยว” และการข้ามพรมแดนไปมาในหลายมิติ ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่กระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนและโครงสร้างจิตสำนึกของคนไทยด้วย
ความเป็นไทยได้รับผลกระทบอย่างแรง เกิดกระแสหวงแหน รื้อฟื้น สะสม และศึกษาวัฒนธรรมไทยด้านต่างๆ ดังจะเห็นว่าในทศวรรษดังกล่าวมีการจัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นทั่วประเทศ มีการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คือ การตระหนักว่าเรากำลังสูญเสียความเป็นไทยนั่นเอง
ผู้ประพันธ์ให้เมขลา ตัวละครเอกฝ่ายหญิง ประกอบอาชีพที่ทันสมัยในยุคนั้น คือเป็นเจ้าของธุรกิจทัวร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ใหม่และทันสมัยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง อาชีพทัวร์และเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวทำให้เธอได้พบผู้คนจำนวนมาก หาใช่ผู้หญิงที่ต้องถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบของสังคมแต่เพียงอย่างเดียว การมีอาชีพทัวร์นี้เอง สะท้อนให้เห็นถึงโลกาภิวัตน์ที่วาณิชได้สร้างขึ้นในนวนิยายเรื่องแม่เบี้ย
ความโดดเด่นที่ผู้ประพันธ์สร้างไว้ในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ “ฉาก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะระหว่างโลกใหม่กับโลกเก่า เรือนไทยริมน้ำปลูกสร้างอยู่บนโคกซึ่งมีต้นไม้ไทยและดอกไม้ไทยส่งกลิ่นหอมจรุงยามค่ำคืน ยามอยู่เรือนไทย เมขลาห่มสไบ แต่งตัวเป็นไทย แต่เมื่อออกไปทำงานนอกบ้าน เธอก็แต่งตัวสวยงามดังสาวสมัยใหม่ แม้เรือนไทยจะดูลึกลับ งดงามตามแบบไทย เต็มไปด้วยความเชื่อ ภาพถ่ายเก่าๆ ข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ และยังดำเนินชีวิตแบบโลกยุคเก่า ทว่าเรือนไทยหลังนี้มิได้ซ่อนเร้นมิดชิด แต่กลับเป็นพื้นที่ให้เมขลาใช้ “โชว์” ความเป็นไทยให้นักท่องเที่ยว อันเป็น “ลูกค้า” ของเธอได้ชื่นชม
เรือนไทยและเมขลาจึงเป็นความขัดแย้งและเป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างโลกยุคเก่ากับใหม่ด้วยในเวลาเดียวกัน ดังจะเห็นว่า เมื่ออยู่ในโลกสมัยใหม่ เมขลาก็ใช้ชีวิตเสรีทางเพศ ผิดแผกจากหญิงไทยตามขนบทั่วไป เธอจึงเป็นตัวแทนของความขัดแย้งและแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมต่อของโลกสองยุค คือยุคจารีตกับยุคโลกาภิวัตน์
ในเมื่อเมขลาอยากจะใช้ชีวิตแบบสาวสมัยใหม่ยุคโลกาภิวัตน์ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้หลังคาทรงไทยริมน้ำ อันเป็นตัวแทนของโลกยุคเก่าอยู่ เธอจึงเป็นตัวละครที่มีความขัดแย้งในตัวเอง เธออยากมีชีวิตเสรีแบบโลกยุคใหม่ แต่ก็ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในโลกยุคเก่าด้วย เรือนไทยและเรื่องเล่าจากอดีตที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเธอทำให้เธอรู้สึกขัดแย้งกับการดำเนินชีวิตที่ควรจะก้าวไปข้างหน้าตามยุคสมัย
ผู้ประพันธ์ได้สร้าง “งู” ให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ และเป็นตัวสื่อถึงนัยของคำว่า “แม่เบี้ย” อีกด้วย ในทางจิตวิทยา งูเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นชายและความปรารถนาทางเพศ งูมักมาปรากฏในยามที่เมขลาจะมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเพศสัมพันธ์ที่ผิดศีลธรรม ดังเห็นได้จากการปรากฏตัวของงูในขณะที่เมขลาจะมีเพศสัมพันธ์กับชนะชล ซึ่งเป็นชายที่ลูกเมียแล้ว และปรากฏในตอนที่เด็กในบ้านเมขลาจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ เมื่องูปรากฏตัว เมขลาก็จะเกิด “ความรู้สึกผิด”และพยายามกลับไปสู่ตัวตนของหญิงในยุคจารีต ขณะเดียวกันก็ยังมีแรงปรารถนาเสรีแบบโลกยุคใหม่ด้วย
งูยังเป็นเรื่องของความเชื่อ การสืบทอดจากอดีต ซึ่งผู้ประพันธ์ผูกเรื่องให้มีความเกี่ยวพันกับแม่ของเมขลา และงูยังหมายถึงเจ้าที่ ผู้คุ้มครองคนในบ้าน ฉะนั้นงูจึงปรากฏตัวอยู่ในฐานะอำนาจเหนือธรรมชาติและความทรงจำจากก้นบึ้งของอดีตด้วย พูดกันง่ายๆ ก็คืองูเป็นตัวแทนของสังคมเก่าที่มิอาจลืมเลือน หรือปฏิเสธได้ แต่เนื่องจากงูมักมาปรากฏเวลาที่ตัวละครมีเพศสัมพันธ์ และยังมีความใกล้ชิดกับเมขลา งูจึงเป็นสัญลักษณ์แทนความปรารถนาทางเพศ ความเป็นชายที่มีอำนาจเหนือกว่า ศีลธรรมและจารีตที่ฝังลึกมาช้านานยากจะไถ่ถอน เหตุนี้เมขลาจึงจำเป็นต้อง “เลือก” ว่าจะมีชีวิตอยู่ในโลกยุคไหนกันแน่
เมขลาเป็นเสมือนตัวแทนของคนในยุคเชื่อมต่อของโลกยุคเก่ากับโลกยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อเธอเลือกที่จะอยู่ในยุคใหม่ เธอจึงจำเป็นต้องขจัดความรู้สึกผิด ความรู้สึกขลาดกลัว และต้องสร้างสำนึกขบถขึ้นมาให้ได้ เหตุนี้เอง นวนิยายจึงเลือกที่จะให้เมขลาลงมือฆ่างูที่เธอนับถือมาตลอด เพื่อขจัดความรู้สึกผิดออกไป และก้าวเดินไปในสังคมโลกาภิวัตน์อย่างกล้าหาญ
แม่เบี้ย ยังคงอาละวาดได้อีกหลายเวอร์ชั่น และแต่ละเวอร์ชั่นก็ล้วนมีคำถามปลายเปิดให้ผู้สร้างและผู้รับสารได้ตีความ และนี่คือความหฤหรรษ์ของโลกวรรณกรรมและสื่อบันเทิง
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ:https://www.facebook.com/Ch7HDDramaSociety