หนึ่งในของฝากพลาดไม่ได้ของเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น คือเค้กจากสัญชาติยุโรปที่มีชื่อเรียกว่า “Baumkuchen” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เค้กขอนไม้” ซึ่งถูกนำมาพัฒนาและปรับปรุงให้ทั้งรสชาติและหน้าตาเป็นเอกลักษณ์สไตล์ญี่ปุ่น ทั้งยังการันตีความอร่อยจนได้รับความนิยมกันอย่างมากโดยเฉพาะเค้กจากร้าน “มาดามชิงโกะ” (Madame Shinco) ถือเป็นหนึ่งในของดีของเด่นประจำจังหวัดที่ขายได้วันละ 10,000 ชิ้นเลยทีเดียว สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่รสชาติ รูปลักษณ์หน้าตา แต่ยังรวมถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นเค้กยอดขายหนึ่งหมื่นชิ้น ที่มาดามชิงโกะเจ้าของร้านต้องล้มลุกคลุกคลานมานักต่อนัก แต่ด้วยหัวใจที่ไม่ท้อทำให้เธอสามารถพลิกชีวิตด้วยขนมหวานชนิดนี้จนสำเร็จ
มาดามชิงโกะ มีชื่อจริงว่า คาวามูระ โนบุโกะ (คาวามูระ ชิงโกะ) เกิดปี 1951 ที่จังหวัดชิมาเน่ ต่อมาได้โยกย้ายไปที่จังหวัดโอซาก้า แม้มาดามจะเกิดบนผืนแผ่นดินญี่ปุ่นแต่ว่ากันตามตรงแล้ว เธอไม่มีเชื้อสายญี่ปุ่นเลยสักนิดเดียว เพราะพ่อและแม่ของเธอเป็นคนเชื้อสายเกาหลีที่อพยพมาอาศัยในประเทศญี่ปุ่นกันทั้งคู่ มาดามชิงโกะจึงมีเชื้อสายเกาหลีร้อยเปอร์เซ็นต์ และด้วยเหตุนี้เองทำให้เธอต้องมีวัยเด็กที่ค่อนข้างลำบาก นอกเหนือจากฐานะที่ยากจนของครอบครัวแล้ว การโดนกดขี่ข่มเหงเนื่องจากความไม่ชอบพอกันของคนญี่ปุ่นและเกาหลีที่มีมายาวนานจากประวัติศาสตร์การสงครามของทั้งสองประเทศ ทำให้เธอต้องรับเคราะห์ความไม่ลงรอยนี้ด้วย มาดามโดนดูถูก กลั่นแกล้ง หยามเหยียด อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่าสิ่งที่ประสบเปรียบเสมือนกับสปริง ยิ่งกดให้ต่ำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเด้งคืนกลับให้สูงมากเท่านั้น หัวใจของมาดามมีแต่ความมุ่งมั่นจะต้องประสบความสำเร็จให้จงได้
เมื่อเติบโตขึ้น มาดามชิงโกะเดินทางสู่กรุงโตเกียว ทำอาชีพเป็น Hostess หรือสาวนั่งดริงค์ในบาร์ ภายในย่านกินซ่า แหล่งเที่ยวกลางคืนที่โด่งดัง มาดามทำงานกลางคืนพร้อมเก็บเล็กผสมน้อยเงินที่มี จนมากพอที่จะเปิดร้านเนื้อย่างของตัวเอง แต่น่าเสียดายที่ร้านนี้ไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง ทำให้ต้องเลิกกิจการ อีกทั้งเคราะห์ยังซ้ำเกิดไฟไหม้ร้านสร้างความเสียหายมากขึ้นไปอีก ความรู้สึกเจ็บแบบซ้ำๆ นี้ทำให้เธอคิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะชีวิตนี้ไม่มีอะไรดีเลยสักอย่าง จนวันหนึ่งฟ้าได้เปิดทางสว่างให้เธอ พร้อมกับทำลายความคิดคร่าชีวิตตัวเองลง
เมื่อมาดามชิงโกะประกาศรับสมัครหาเชฟประจำร้านของเธอ เชฟที่มาสมัครได้เสนอให้เปลี่ยนมาทำขนมเค้กขายแทน สำหรับมาดามแล้วไม่มีอะไรที่ต้องเสียและไม่กลัวที่จะเสี่ยง จึงตกลงเปลี่ยนเป็นทำเค้กขายแทน เพียงหนึ่งอาทิตย์จากนั้นมีลูกค้ามายืนต่อคิวซื้อเค้กของเธออย่างคับคั่ง และแม้จะเป็นฤดูหนาวลูกค้ายังอดทนยืนต่อคิวท่ามกลางความหนาวอย่างไม่ยอมแพ้เพื่อจะลิ้มรสเค้กของเธอให้ได้ มาดามชิงโกะเห็นลูกค้าต้องทนกับสภาพอากาศหนาว จึงต้องการจะนำเครื่องทำความร้อนและผ้าห่มไปแจกจ่ายให้ลูกค้า แต่เชฟกลับไม่เห็นด้วยพร้อมยื่นคำขาดว่า ถ้ามาดามไม่กลับไปนอนอยู่บ้านเฉยๆ เขาก็จะไม่ทำเค้กให้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดปัญหาระหว่างกัน ช่วงเวลานั้นมาดามและสามีที่อายุอ่อนกว่า 19 ปีหันหน้าเข้าหากันผนึกกำลังหาทางแก้ไข และแล้วฟ้าหลังฝนก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อเธอได้ออกข่าวทีวีโปรโมตร้านขนมว่าเป็นขนมเค้กจากอดีตสาวนั่งดริงค์ คนก็กลับมาสนใจต่อคิวกันมากอีกครั้ง คราวนี้ถึงกับทำไม่ทัน ทำไม่ไหว มาดามชิงโกะจึงคิดหาทางแก้ว่า เปลี่ยนจากเค้กทำสด เป็นเค้กแช่แข็งแทน เพื่อจะได้ยืดระยะเวลาเก็บรักษา แต่ทว่าทางห้างสรรพสินค้ากลับปฏิเสธไม่ยอมให้ขาย อ้างว่าไม่ใช่เค้กสด
ความโชคดีที่มีสื่อมวลชนมาขอสัมภาษณ์ ทำให้เธอได้แก้ไขความเข้าใจที่มีต่อเค้กของเธอ โดยบอกว่า เค้กแช่แข็งจะมีความชุ่มชื้น กินแล้วลื่นปากมากกว่า คนที่เห็นผ่านสื่อต่างกลับมาซื้อ แม้แต่ห้างสรรพสินค้าที่เคยปฏิเสธก็กลับมายอมรับ และขายดีขนาดที่ต้องต่อแถวซื้อกันตั้งแต่ชั้น 1 ไปถึงชั้น 8
เค้กขายดีของร้าน Madame shinco คือเค้กที่ชื่อ Madame Brulee ซึ่งมาดามได้แรงบันดาลใจจากคุณแม่ซึ่งเคยนำแพนเค้กมาราดน้ำตาลเชื่อม เค้กขอนไม้ของมาดามชิงโกะจึงเคลือบน้ำตาลเมเปิ้ลที่หน้าเค้ก ทำให้เวลากินจะสัมผัสถึงความกรุบกรอบต่างจากเจ้าอื่น เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของร้านอีกอย่างคือ เมื่อก้าวเข้ามาจะพบแต่ลายเสือและสีชมพู ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นสิ่งโปรดของเจ้าของร้าน เธอจึงนำทั้งลายเสือและสีชมพูมาใส่ในเค้กของเธอด้วย ทว่าวงการเบเกอรี่ญี่ปุ่นมีค่านิยมที่ว่าไม่ควรนำลวดลายสัตว์มาผสมในของหวาน เพราะจะทำให้เค้กตกต่ำ เค้กขอนไม้ลายเสือสีชมพูจึงโดนวิจารณ์อย่างหนัก และไม่ได้รับการยอมรับในวงการเบเกอรี่ แต่เมื่อเธอขายดี ขายได้ 10,000 ชิ้น วงการเบเกอรี่ได้กลับมาขอขมา และยอมรับเค้กของเธอในที่สุด
ชีวิตของมาดามชิงโกะเป็นเช่นเดียวกับกราฟที่ขึ้นๆ ลงๆ สลับกันเรื่อยไป ในวันที่เธอจะประสบความสำเร็จกับธุรกิจ ทุกสิ่งดูสว่างสดใส เคราะห์ร้ายก็มาตกที่ร่างกายของเธอ คุณพ่อ พี่ชาย น้องชาย รวมถึงตัวเธอด้วยต่างเป็นโรคมะเร็งกันหมด แต่กระนั้นมาดามก็ไม่ย่อท้อ เพราะเธอได้รับพลังจากลูกค้า จากคนรอบข้าง ทำให้ทุกๆ วันมีแต่ความเบิกบาน อนาคตจะทำหรือจะเกิดอะไร ไม่ได้ไปคาดคิด เพียงแค่ทำปัจจุบันให้เต็มที่ที่สุด แล้วอนาคตที่ดีจะตามมาเอง
สิ่งที่มาดามชิงโกะบอกกับตัวเองจนทำให้เธอสามารถไต่จาก 0 จนมาถึง 10 โดยไม่ย่อท้อหรือถอดใจกลางทาง แม้จะเจออุปสรรคอีกกี่ระลอกก็พร้อมเผชิญหน้า คือ “จะไม่เลิกล้ม จะไม่หนี จะไม่ทิ้ง ฉันจะเป็นที่หนึ่ง” ความเชื่อมั่นนี่ได้ปรากฏผลแห่งความสำเร็จแก่เธอในที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง : จากรายการ ‘ดูให้รู้’ ช่อง Thai PBS
คอลัมน์ หัวใจไม่จำนน
เรื่อง: สตูล
All magazine กันยายน 2560