แต่เดิมเคยเชื่อกันด้วยความเข้าใจผิดว่าวัฏจักรของฝูงปลาทูจำนวนมากมายในท้องทะเลอ่าวไทยนั้น เริ่มต้นจากแม่ปลาทูโตเต็มวัยผสมพันธุ์วางไข่ในอ่าวตังเกี๋ย บริเวณเกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ตอนหลังมีการพิสูจน์กันแล้วว่าแหล่งกำเนิดลูกปลาทูอยู่ที่อ่าวไทยนี้เอง เป็นปลาอยู่ใกล้ชายฝั่งในระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร วางไข่ลอยตามผิวน้ำที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส จากแถบหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม (เป็นช่วงเวลาที่ปิดอ่าวห้ามจับปลาทู) แล้วว่ายเดินทางเจริญวัยจนได้ที่มายังก้นอ่าวไทยบริเวณอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จนถึงก้นอ่าวแม่กลอง
เมื่อก่อนตอนยังไม่มีเรืออวนลาก จะเห็นชายฝั่งเพชรบุรีถึงแม่กลองเต็มไปด้วยโป๊ะดักปลาทูนับร้อยๆ ลูกเรียงรายกันอยู่ ปลาทูที่ถูกจับจากโป๊ะถือว่ามีรสดีกว่าปลาทูที่ถูกจับโดยเรืออวนลาก เพราะปลาทูโป๊ะหลังจากจับได้ ระยะทางการเอาเข้าฝั่งไม่ไกลนัก จึงไม่ต้องแช่น้ำแข็ง เลยได้ปลาที่ค่อยๆ ตายอย่างละมุนละม่อมและเป็นการจับแบบวันต่อวัน ตัวปลาสดไม่ช้ำชอก เนื้อจึงหอมมันเนียนผิดกับปลาทูจากเรืออวนซึ่งมีระยะการเดินทางไกลกว่ามาก พอจับได้จึงต้องดองน้ำแข็ง เลยทำให้เนื้อปลากระด้างกว่า
ปัจจุบันโป๊ะปลาทูเหล่านั้นหายไปจากฝั่งทะเลบางตะบูนและแม่กลอง เพราะฝูงปลาถูกดักจับเกือบหมดด้วยสารพัดอุปกรณ์ก่อนเข้าโป๊ะ เสาโป๊ะเดี๋ยวนี้จึงเป็นเสมือนหลักให้บรรดาหอยมาเกาะอาศัยแทนที่
ปลาทูเป็นปลาในวงศ์เดียวกับปลาโอ ปลาอินทรี และปลาทูน่า มีพฤติกรรมเป็นปลาฝูง หากินตามผิวน้ำ พบปลาทูจากแหล่งต่างๆ ทั่วทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เลยไปถึงเกาะบอร์เนียว มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ปลาที่จับได้จากแหล่งอื่นๆ แม้ว่าตัวโต รสชาติเนื้อปลาจะกระด้างไม่เนียนมันเหมือนจากก้นอ่าวไทย เนื่องด้วยบริเวณนี้เป็นทะเลโคลน มีแพลงก์ตอนอาหารปลาอย่างอุดมสมบูรณ์ แม้แต่คนอินโดนีเซียยังรู้จักปลาทูหอมหรือปลาทูเค็มของไทยเราว่าอร่อยกว่าของเขา จึงมีการนำเข้าทุกปี
ปลาทูเป็นปลาซึ่งอยู่คู่วิถีชีวิตของคนไทยทุกรูปนาม เป็นปลาที่ใช้ประกอบอาหารแทนปลาอื่นๆ ได้แทบทุกอย่าง ปรกติตามตลาดมีการขายปลาทู 2 ประเภท คือปลาทูสด และปลาทูนึ่งหรือปลาทูเข่ง การเลือกซื้อขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะนำไปประกอบอาหารชนิดใด เช่น ต้ม ย่าง แกง ผัด หมก งบ ใช้ปลาทูสด หากทอดกินกับน้ำพริก ยำ พล่า ใช้ปลาทูนึ่งหน้างอคอหัก
แต่ละปีชาวประมงต้องจับปลาทูจากท้องทะเลไทยมากถึง 6 หมื่นตัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงต้องมีการออกไปจับเพิ่มจากน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน ในน่านน้ำไทยพบปลาทูได้ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด คือ 1.ปลาทู 2.ปลาลัง หรือปลาทูโม่ง และ 3.ปลาทูปากจิ้งจก ปลาซึ่งชาวประมงจับได้ส่วนใหญ่เป็นปลาทูและปลาลัง ทั้งสองชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ปลาทูตัวแบนกว้างกว่าปลาลัง ความกว้างกับความยาวของหัวปลาทูเท่ากัน แต่หัวของปลาลังความยาวมากกว่าความกว้าง เมื่อโตเต็มที่ปลาลังจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาทู ชาวประมงจึงเรียกกันว่า ปลาทูโม่ง ส่วนปลาทูปากจิ้งจกมีลำตัวเรียวยาว ซึ่งพบน้อยมาก ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เนื่องจากความต้องการปลาทูเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ชาวประมงจึงได้พัฒนาเครื่องมือการทำประมงปลาทูให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการจับ จนเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ ส่งผลให้แนวโน้มของประชากรปลาทูในปัจจุบันเริ่มลดน้อยลง
ที่ผ่านมา กรมประมงได้ใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการห้ามจับปลาทูในฤดูวางไข่ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคม ของทุกปี ในเขตทะเลอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนถึงสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาทูไว้
ต่อมา กรมประมงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาครศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาทู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตปลาทูทดแทนการใช้ทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติอย่างเกินความพอดี แต่เนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่อ่อนแอ ใจเสาะ จึงเป็นการยากที่จะนำขึ้นจากทะเลมาเพาะเลี้ยง เลยต้องเริ่มด้วยการรวบรวมข้อมูลทางชีววิทยา ฤดูกาลวางไข่ ลักษณะของถิ่นที่อยู่ ชนิดของอาหารที่พบในกระเพาะอาหารของปลาทู เพื่อประโยชน์ในด้านวิชาการ และประยุกต์ใช้ในการผลิตปลาทูเชิงพาณิชย์ ด้วยการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์โดยให้อาหารที่มีคุณภาพ และใช้ระบบน้ำหมุนเวียน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร กล่าวว่า ได้เลี้ยงปลาทูพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรงซึ่งได้จากทะเลในกระชังที่ขึงไว้ในบ่อดินนาน 6 เดือน จนปลาเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์ จึงย้ายปลาขึ้นมาเลี้ยงในถังเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในโรงเพาะฟัก โดยให้อาหารสูตรเฉพาะ และเลี้ยงในระบบกรองน้ำแบบชีวภาพ เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำที่เหมาะสมปราศจากเมือกโปรตีนที่ตกค้าง มีการควบคุมความเค็มที่ระดับ 27-30 ส่วนต่อพัน (ppt) และควบคุมอุณหภูมิให้มีค่าคงที่อยู่ระหว่าง 29 – 32 เซลเซียส
หลังจากพยายามมานานกว่า 2 ปี ก็บรรลุผลเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2554 ปลาทูสามารถวางไข่และอนุบาลในระบบปิดได้สำเร็จ ทั้งนี้ แม่ปลาทูวางไข่ครั้งละประมาณ 15,000 – 30,000 ฟอง และมีพฤติกรรมวางไข่แบบรวมฝูง แม่ปลาทั้งฝูงจะวางไข่เป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันหลายวันไปจนหมดฤดูผสมพันธุ์ ไข่ของปลาทูเป็นแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอยน้ำ ใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ 16½ – 17 ชั่วโมง ถุงไข่แดงของลูกปลาเริ่มยุบและหมดไปภายใน 3 วัน ลูกปลาตั้งแต่วันแรกที่ฟักออกจากไข่ จนถึงอายุ 7 วัน อนุบาลด้วยแพลงก์ตอนที่ประกอบด้วยสาหร่ายสีเขียวและสีน้ำตาล โรติเฟอร์ โคพิพอท หลังจากนั้นลูกปลาก็สามารถกินอาร์ทีเมียแรกฟักและอาหารเม็ดได้
นับเป็นผลสำเร็จในความพยายามเพาะพันธุ์ปลาทูจากพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในระบบปิดครั้งแรกของโลก ทั้งนี้ กรมประมงคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้เพื่อขยายผลไปสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ต่อไป
เราจึงโล่งอกได้ว่าจะมีปลาทูตัวงามๆ กลับสู่ธรรมชาติดังเดิม โดยไม่ต้องเกรงว่าปลาทูจะสูญพันธุ์อีกต่อไป
อาหารจากปลาทูทั้งที่เป็นตำรับโบราณรวมถึงตำรับร่วมสมัยมีหลากหลาย จนอาจจะใช้แทนเมนูปลาได้แทบทุกรายการ เช่น น้ำพริกปลาทู ต้มยำปลาทู ปลาทูต้มมะดัน ต้มเกลือ ต้มเค็ม พล่า ยำ ฉู่ฉี่ ต้มส้ม ปลาทูย่างสะเดาน้ำปลาหวาน ปลาทูต้มสายบัว เมี่ยงปลาทู ปลาทูย่างสะเดาน้ำปลาหวาน ปลาทูหอม(ปลาทูเค็ม) ทอด-ย่าง ตับปลาทูผัดฉ่า ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ได้ยินชื่อก็รู้สึกน้ำลายสอโดยพลัน
อ้างอิง
– ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งสมุทรสาคร สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง
– หรอยอย่างแรง สำนักพิมพ์ตู้กับข้าว 2556
– เถ่าชิ่วมาเอง สำนักพิมพ์เพกา 2554
– นิตยสารครัว