มะงั่วและมะนาวเป็นไม้ผลตระกูลส้ม มะงั่วนั้นรสเปรี้ยวจัดกว่ามะนาว ขนาดผลโตกว่าส้มเช้งแต่ย่อมกว่าส้มโอ ธรรมชาติของผลไม้โดยทั่วไปเช่นมะม่วง มะปราง เมื่อแก่จัดและสุกย่อมมีรสหวาน แต่มะงั่วกับมะนาวหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ยิ่งแก่ยิ่งเปรี้ยว แม้ผลสุกลูกเหลืองก็ยังคงความเปรี้ยวอย่างเสมอต้นเสมอปลาย กวีโบราณท่านนำมะงั่วมะนาวไปเปรียบกับพฤติการณ์ของหญิงร้ายที่ต่อให้กาลเวลานานเพียงไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของหล่อนได้ เช่นในกากีคำฉันท์ วรรณคดีสมัยอยุธยา พญาครุฑบริภาษนางกากี ก่อนที่จะพามาส่งคืนท้าวพรหมทัต ว่า
๏ คือชาติงั่วนาวห่อนจาง ใช่เชิงม่วงปราง
ครั้นสุกจะทรงรสหวาน ฯ
ทว่า มะงั่วหาว มะนาวโห่ที่กระผมนำมาตั้งประเด็นคุยสู่กันวันนี้เป็นผลไม้วิเศษ มะงั่วหาวนั้นหัวเราะคิกคักได้ ส่วนมะนาวโห่ก็ร้องไชโยโห่ฮิ้วได้ รสชาติจะหวานเปรี้ยวปานไรกระผมก็หาทราบไม่
ชาวไทยและชาติเพื่อนบ้านทั้งลาว เขมร พม่า และมลายูรู้จักเรื่องราวของมะงั่วหาว มะนาวโห่ จากเรื่องพระรถเสน หรือพระรถเมรี มานานหลายร้อยปี มีการผูกตำนานสถานที่ต่าง ๆ ให้เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ จนอาจกล่าวได้ว่า พระรถเมรีเป็นนิทานของภูมิภาค โดยเฉพาะลาวระบุในพงศาวดารล้านช้างว่า พระรถ (พุทธเสน) และนางเมรี (กางรี) เป็นบรรพบุรุษของชาติตน ในล้านนาเมื่อมีการนำนิทานโบราณมาแปลงเป็นปัญญาสชาดก ก็มีเรื่องราวของพระรถอยู่ในรถเสนชาดกด้วย
เรื่องพระรถเมรีหรือนางสิบสองตอนที่เกี่ยวกับมะงั่วหาว มะนาวโห่ มีเรื่องย่อตามที่ชาวไทยเรารับรู้ว่า นางสิบสองซึ่งนางยักษ์สุนนทาหรือสันธมาร เจ้าเมืองทานตะวันนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ภายหลังหนีจากนางยักษ์มาได้เป็นชายาของท้าวรถสิทธิ์ นางสุนนทาเลยโกรธแค้น ออกติดตามและให้ธิดาคือนางเมรีดูแลเมือง นางยักษ์แปลงกายเป็นหญิงงามจนได้เป็นชายาของท้าวรถสิทธิ์ ร่ายมนต์ให้ท้าวรถสิทธิ์หลงใหล จับนางสิบสองควักตาแล้วขังไว้ในอุโมงค์ ต่อมานางคนที่สิบสองคลอดบุตรชายคือพระรถเสน ครั้นท้าวรถสิทธิ์ทราบว่าเป็นโอรสก็โปรดปราน นางสุนนทาจึงคิดกำจัดพระรถเสน นางออกอุบายว่าป่วย ขอให้พระรถเสนไปเอา “มะงั่วหาว มะนาวโห่” จากเมืองทานตะวันมาประกอบยารักษาจึงจะหาย
นางสุนนทาเขียนหนังสือลับใส่กล่องผูกคอม้าไปความว่า ถ้าพระรถเสนถึงเมืองทานตะวันเมื่อไรให้เสนายักษ์จับฆ่าเสีย ระหว่างทางพระรถเสนได้พบกับพระฤๅษี พระฤๅษีมีความสงสารจึงแปลงข้อความในหนังสือที่ผูกคอม้าเสียใหม่ว่า ถ้าพระรถเสนถึงเมืองยักษ์เมื่อไรให้จัดการอภิเษกกับนางเมรี (เป็นที่มาของชื่อกลบทฤๅษีแปลงสาร) พระรถเสนอยู่ในเมืองยักษ์ได้เจ็ดเดือนก็คิดจะหนีนางเมรี กลับไปล้างแค้นนางสุนนทาและช่วยนางสิบสองให้พ้นจากความระกำลำบาก
วันหนึ่งพระรถเสนออกอุบายให้นางเมรีพาไปชมอุทยานกรุงทานตะวัน เพื่อหาโอกาสลักเอามะงั่วหาวมะนาวโห่ ในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสน ซึ่งใช้เป็นบทสำหรับขับไม้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อไปถึงอุทยานหลวง นางเมรีทูลพระรถเสนถึงความสำคัญของมะงั่วหาว มะนาวโห่ ในกาพย์ขับไม้ว่า
๏ ไม้นี้เสื้อเมือง ครั้นหล่นครั้นเหลือง แต่ละใบสองใบ
เกิดโกลาหล ราษฎรร้อนรน ดุจเมืองประไลย
เกิดยุคคือไฟ ฟ้าเหลืองเมืองไข้ จินจนอัศจรรย์
มะงั่วหาวและมะนาวโห่เป็นไม้เสื้อเมืองทานตะวัน มีเสนายักษ์ดูแลรักษาอย่างกวดขัน ห้ามผู้ใดแตะต้อง แม้ใบร่วงก็ต้องตั้งพิธีกรรมบวงสรวง ในบทละครครั้งกรุงเก่า เรื่องพระรถเสน ซึ่งกระผมสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุเก่าถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บรรยายบทสนทนาระหว่างพระรถกับนางเมรีตอนที่พระรถจะลอบเก็บผลมะงั่วหาว มะนาวโห่ ดังนี้
๏ ได้เอยได้ยิน พระคิดถวิลจินดา
ทำไฉนจะได้เก็บมา หมากงั่วนาวมาบัดเดี๋ยวนี้
พระชักม้าเหียนเวียนไป โน้นต้นอะไรเจ้าเมรี
ปลูกเอาไว้ไยในสวนศรี ไม้นี้เรียกพรรณว่าไรนา
๏ ฟังเอยฟังพลัน เมรีสาวสวรรค์เจ้าทูลมา
ต้นโน้นโพ้นเล่าหมากงั่วนาว หัวระรี่มี่ฉาวรู้เจรจา
รู้โห่รู้ร้องทุกเวลา เจรจาภาษาทุกสิ่งพรรณ
เห็นท้าวกับข้าเข้ามาสม หัวระรื่นชื่นชมบังคมคัล
ฝูงมารมันเฝ้าอยู่นับพัน หลักเมืองไอตะวันแต่ก่อนมา
ฯลฯ
ฉวยชักพระหักลูกมะงั่ว ดกยิ่งกิ่งพั่วอยู่สาขา
ฉวยชักหักลูกมะนาวมา หัวระรี่ระร่าตละเป็น
ครั้นได้มะงั่วหาว มะนาวโห่ สมดังใจ พระรถเสนก็กลับวังแล้วมอมเหล้าเมรี “สามจอกสี่จอกกรอกเข้า เมรีขี้เมาก็หลับไป” และพระรถเสนจึงหนีไปในคืนนั้น มะงั่วหาว มะนาวโห่ พบในบทละครสมัยอยุธยา หากเป็นบทละครสมัยรัตนโกสินทร์ที่ผู้คนห่างเหินจากมะงั่วมักกลายเป็น “มะม่วงหาว มะนาวโห่”
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์