เชื่อว่าท่านคงรู้จักผลไม้ชนิดนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเกษตรกรยุคปัจจุบันมีความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์จนได้ลิ้นจี่รสดีไม่แตกต่างจากเมืองจีนถิ่นกำเนิดลิ้นจี่ดั้งเดิม ลิ้นจี่อันลือชื่อของจีนมีหลายพันธุ์ เช่น จุกบี้จี้ (糯米) เฟ่ยจื่อเซี่ยว (妃子笑) ลิ้นจี่หอม (香荔枝) หรือพันธุ์เม็ดลีบใน ปัจจุบันปลูกกันมากตั้งแต่ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง กวางสี เสฉวน ยูนนาน จนถึงกุ้ยโจว แต่พันธุ์ที่ได้รับยกย่องว่ายอดเยี่ยมคือลิ้นจี่ในทำเลที่มีตาน้ำพุร้อนธรรมชาติของเสฉวน ฮกเกี้ยน และกวางตุ้ง ซึ่งมีการปลูกกันมานานกว่า 3,500 ปี
บันทึกโบราณสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-ค.ศ.1911) ถือว่าลิ้นจี่เป็นของหายากอย่างยิ่งในปักกิ่ง ผู้มีวาสนาเท่านั้นจึงจะได้ลิ้มรส ปรากฏในบันทึกว่าเป็นพระสนมเอกของจักรพรรดิถังเสวียนจง ลิ้นจี่ที่ปลูกไว้ติดผลสุกเป็นพวงนับได้ 11 พวง เป็นเม็ดเดี่ยว 64 ลูก ที่ติดก้านถวายฮ่องเต้สี่ลูก ปักแจกันสองลูก ถวายหยางกุ้ยเฟยสองลูก (หยางกุ้ยเฟยเป็นหนึ่งในสี่สาวจีน ผู้มีความงามเป็นเลิศเฉกเช่นไซซี หวังเจาจวิน และเตียวเสี้ยน) จากนั้นถวายองค์ชายและองค์หญิงอีกองค์ละหนึ่งลูก ท่านอ๋องยังมอบให้ขุนนางใกล้ชิดอีกหลายคน คนละหนึ่งลูก แสดงว่าในสมัยโบราณลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่หายากมาก บางคนที่ได้รับพระราชทานจึงไม่กล้ากิน ได้แต่เก็บเอาไว้บูชา จนต้องมีรับสั่งให้ลองกินดู
อีกตำนานที่โด่งดังก็น่าจะเป็นเรื่องของหยางกุ้ยเฟยชอบกินลิ้นจี่จนจักรพรรดิต้องซ่อมทางถนนเพื่อให้ขนส่งลิ้นจี่จากแดนใต้ขึ้นมาถึงเมืองหลวงฉางอัน (เชียงอาน) โดยสะดวก เนื่องจากในสมัยโบราณลิ้นจี่เพาะปลูกได้เฉพาะดินแดนทางใต้ ได้แก่ เสฉวน ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง กวางสี การขนส่งขึ้นมาต้องใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายสูงมากเพื่อสนองความต้องการของนางสนมคนโปรด กล่าวคือ ลิ้นจี่หนึ่งวันสีเปลี่ยน สองวันกลิ่นเปลี่ยน สามวันรสเปลี่ยน ห้าวันจืดชืด ดังนั้นการขนส่งผลไม้ชนิดนี้จึงต้องทันกาล ในสมัยชิงวังหลวงตั้งอยู่ไกลจนสุดชายแดนเหนือที่เมืองซีอัน จึงต้องคัดม้าฝีเท้าดี พลม้าที่ชำนาญเส้นทาง เร่งรุดอย่างไม่หยุดยั้งทั้งกลางวันกลางคืนโดยสับเปลี่ยนคนและม้าตามสถานีพักม้าระหว่างเสฉวนกับกรุงฉางอันระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร ปรากฏว่าสามารถนำลิ้นจี่ไปถึงวังหลวงทันกำหนดเวลา 5 วัน ในสภาพที่ยังสดราวกับเพิ่งตัดจากต้น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จนี้ คือการคมนาคมขนส่งที่ก้าวหน้า (หนทางดี มีสถานีพักม้าเป็นระยะๆ) สมัยนั้นลิ้นจี่ถือเป็นผลไม้สำคัญที่ใช้ในการบวงสรวงและถวายแด่เชื้อพระวงศ์เท่านั้น
ในการขนย้าย เขาใช้วิธีคัดต้นลิ้นจี่ขนาดไม่ใหญ่นักปลูกในถังไม้ เมื่อลิ้นจี่แทงช่อก็บำรุงอย่างดีจนติดลูก จากนั้นขนถังไม้ลงเรือจากฮกเกี้ยน ระหว่างอยู่บนเรือก็ให้น้ำให้ปุ๋ยไม่ขาด เมื่อมาถึงท่าเรือที่เทียนจินก็เฝ้าฟูมฟักจนลูกลิ้นจี่สุกแล้วค่อยตัดส่งเข้าวัง ด้วยวิธีนี้ชาววังจึงได้กินลิ้นจี่สดจากต้น แต่ผลผลิตก็ไม่มากเท่าที่ต้องการ เพราะวิธีดังกล่าวทำให้ต้นลิ้นจี่หยุดการเจริญเติบโต บางต้นที่ติดลูกก็ร่วงหมดเมื่อข้ามเข้าเขตหนาวทางตอนเหนือ แต่ยังดีกว่าไม่ได้กินเลย พอหมดหน้าลิ้นจี่ก็ขนถังไม้กลับฮกเกี้ยนอีกเพื่อบำรุงต้นรอแทงช่อออกดอกใหม่ในปีถัดไป ถือว่าเป็นวิธีการที่ต้องทุ่มเทมากทีเดียว
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่มีเปลือกสีแดงซึ่งจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับลำไยและเงาะ มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนตอนใต้ และปลูกกันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงจังหวัดทางภาคกลาง เช่น ที่อัมพวา กาญจนบุรี จันทบุรี ระยอง ภาคอีสานเกือบทั้งภาคจากปากช่องถึงนครพนม ลิ้นจี่ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 50 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์อันเป็นที่นิยมได้แก่จักรพรรดิ กิมเจ็ง และฮงฮวย ลิ้นจี่เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งในรูปของผลไม้สดหรือแปรรูปบรรจุกระป๋อง แยม ลิ้นจี่อบแห้ง
ประวัติลิ้นจี่ในประเทศไทย พบว่ามีการบันทึกหรือเขียนเกี่ยวกับลิ้นจี่เป็นครั้งแรกโดย ปาลเลกัวซ์ เมื่อ พ.ศ.2397 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งแสดงว่ามีการปลุกลิ้นจี่ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนปี 2397 แล้ว สันนิษฐานว่า น่าจะนำเข้ามาเมื่อครั้งชาวจีนเริ่มติดต่อค้าขายกับคนไทย อาจอยู่ในช่วงก่อนสมัยอยุธยา ช่วงแรกมีพื้นที่ปลูกในพระนคร (ละแวกสวนถนนนางลิ้นจี่) และจังหวัดใกล้เคียงก่อน บางตำราบอกว่าได้พันธุ์จากเมล็ดของลิ้นจี่ดองที่สำเภาจีนเอามาขาย กินแล้วทิ้งเมล็ดเรี่ยรายตามพื้นดิน เมื่อขึ้นเป็นต้นก็ปล่อยตามธรรมชาติให้งอกงามจนต้นโต ปีแรกๆ ก็ไม่ออกดอกผลเพราะผิดที่ผิดอากาศ เพียงแต่กรุงเทพฯ สมัยนั้นยังไม่มีมลพิษ ลมหนาวจึงมาเยือนตั้งแต่เดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ลิ้นจี่จะออกดอกต้องการอากาศเย็นจัดต่ำกว่า 15 องศา ประมาณ 2 อาทิตย์ติดต่อกัน อย่างไรก็ตามต้นลิ้นจี่เหล่านี้ได้ปรับตัวให้อยู่รอดเพื่อแพร่พันธุ์ต่อไป จนสามารถออกดอกผลในสภาพอากาศของกรุงเทพฯ สืบมา
เมื่อชาวสวนทั่วไปเห็นเช่นนั้น จึงนำพันธุ์ไปลองปลูกบ้าง จนออกดอกผลเพิ่มพูนอีกหลายพันธุ์ เช่น ค่อม ค่อมลำเจียก สำเภาแก้ว กระโถนท้องพระโรง สาแหรกทอง ที่อำเภออัมพวา นครนายกมีพันธุ์ทิพย์ และบางจังหวัดในภาคกลาง ออกผลตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงเมษายน รวมถึงบางจังหวัดในภาคอีสานที่จังหวัดนครพนม นครราชสีมาที่วังน้ำเขียว ปากช่อง มีพันธุ์อมรินทร์หรือ นพ.1 ฯลฯ ซึ่งอากาศไม่หนาวมากเรียกพันธุ์เบา ส่วนพันธุ์หนักที่ต้องการอากาศหนาวกว่าของกลุ่มพันธุ์ภาคเหนือ เช่น ฮงฮวย โอเฮียะ กิมเจ็ง จักรพรรดิ ออกดอกผลช้ากว่าคือช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน
สวนลิ้นจี่ที่โด่งดังอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ คือไร่บีเอ็น แห่งเขาค้อ เป็นไร่ที่ผลิตพืช ผัก ผลไม้ และดอกไม้เมืองหนาว ไร่บีเอ็นเริ่มบุกเบิกมาตั้งแต่ พ.ศ.2512 โดยคุณบรรเจิด คุ้นวงศ์ ผู้ซึ่งสั่งสมประสบการณ์วิชาการเกษตรแผนใหม่ ได้รวบรวมสายพันธุ์ลิ้นจี่คุณภาพดีของประเทศจีน เช่น พันธุ์กุ๊ยบี้ (กุ้ยเว่ย) จุกบี๊จี้ ควบคู่กับการปรับปรุงสายพันธุ์มาตลอดเวลากว่า 50 ปี ด้วยการเพาะเมล็ด จนประสบความสำเร็จได้ “ลิ้นจี่พันธุ์ป้าชิด 2” ซึ่งเป็นชื่อของคุณแม่ของคุณจุลพงษ์ คุ้นวงศ์ ผู้เป็นทายาท มีลักษณะผลโต เนื้อแห้งหนา รสหวานหอม ส่วนใหญ่เมล็ดลีบเล็ก ออกผลให้ชิมระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคมของทุกปี ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาสืบทอดดูแลคุณจุลพงษ์ คุ้นวงษ์ แล้วผู้พัฒนาสายพันธุ์ลิ้นจี่อย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จจากการทำสาวต้นลิ้นจี่รุ่นเก่าที่สูงมากจนเหลือความสูงไม่เกินสามเมตร ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นทั้งการฉีดยาให้ปุ๋ยและการเก็บเกี่ยว ผลผลิตลิ้นจี่ของไร่เป็นที่นิยมทั้งในประเทศจีนและญี่ปุ่น เพราะคุณภาพไม่แพ้ลิ้นจี่จีน อีกทั้งเก็บเกี่ยวก่อนลิ้นจี่นำเข้าจากจีนและเวียดนามถึง 1 เดือน ลิ้นจี่จึงเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย สามารถส่งออกทำเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมากในอนาคต
คอลัมน์ : กินแกล้มเล่า
เรื่องโดย : สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี