ยุให้คนรักกัน

-

ยุให้คนรักกัน

 

ยุพินบอกยุพาว่า “เธอต้องแต่งงานกับบรรยงนะ เขาเป็นคนดี มีครบทุกอย่าง”

ถ้ายุพาทำตามคำแนะนำของเพื่อน มีโอกาส 50-50 ที่เธอจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว บรรยงอาจเป็นคนดีจริง หรืออาจเป็นคนแย่ที่สุดก็ได้

ถ้าแต่งงานแล้วชีวิตยุพาดี ยุพินก็รอดตัว

ถ้าแต่งงานแล้ว ชีวิตยุพาแย่ ยุพินก็อาจถูกหาว่าเป็นต้นเหตุ

ยุพินไม่ได้อะไรขึ้นมาจากการแนะนำนี้เลย

คนบางคนชอบเป็นกองเชียร์ ชอบทำตัวเป็นพ่อสื่อหรือแม่สื่อ แต่ชีวิตคู่เป็นเรื่องส่วนตัวของคนสองคน คนนอกทำได้แค่ให้ข้อมูลและคำปรึกษา ไม่ใช่ยุให้แต่งงานหรือไม่แต่งงาน

ภาษิตไทยโบราณว่า “ตีงูให้กากิน กากินแล้วบินหนี บาปได้แก่ผู้ตี โทษทั้งนี้บ่เป็นคุณ” มีหมายความว่า การใดที่ทำแล้ว ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน หรือกลับเป็นโทษ

สิ่งที่ยุพินควรทำก็คือ แค่ให้ข้อมูลหรือบทวิเคราะห์บรรยงแก่เพื่อน เพื่อให้เพื่อนเห็นภาพชัดเจนขึ้น และตัดสินใจได้ง่ายขึ้น การตัดสินใจเป็นเรื่องของเขาเอง

ในกรณีตัวอย่างนี้ ต่อให้รู้ว่าบรรยงเป็นฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง ก็เพียงให้ข้อมูลยุพาว่า “บรรยงเป็นฆาตกรฆ่าต่อเนื่องจ้ะ ฆ่าคนตายมาแล้วห้าสิบคน ตำรวจมีหลักฐานชัดเจน”

ไม่ต้องบอกว่า “อย่าแต่งกับเขา” ใครจะรู้? ยุพาอาจชอบฆาตกรฆ่าต่อเนื่องก็ได้ อยู่ด้วยแล้วมีความสุขเหลือประมาณ!

ชีวิตของคนอื่น ให้เขาหรือเธอเลือกเอง ตัดสินใจเอง

หลีกเลี่ยงประโยค “เชื่อฉันเถอะ”

หากเราไม่ใช่เทพศักดิ์สิทธิ์ผู้สามารถมองเห็นอนาคต หรือเพิ่งเดินทางมาจากอนาคต และรู้ว่ายุพาจะถูกฆาตกรฆ่าต่อเนื่องฆ่าตาย ก็ไม่ต้องพูดอะไร

การยุก็คือการโน้มน้าวใจ หรือ ‘การปิดการขาย’ อย่างหนึ่ง ว่าก็ว่าเถอะ มันเป็นการรุกล้ำเข้าไปในเสรีภาพส่วนตัวของคนอื่น

……………

 

 

ในการเขียนหนังสือ มีเทคนิคหนึ่งที่เรียกว่า “Show, don’t tell.” คือเล่าเหตุการณ์ เล่าความคิด แสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครให้คนอ่านเห็น โดยไม่ใช้หรือไม่ให้ความคิดอ่านหรือข้อสรุปของผู้เขียน

ประโยคนี้น่าจะมาจากนักเขียนชาวรัสเซีย Anton Chekhov ที่บอกว่า “อย่าบอกฉันว่าพระจันทร์กำลังส่องสว่าง แสดงให้ฉันเห็นแสงสะท้อนบนแก้วที่แตก”

ความหมายคือไม่ต้องบอก ไม่ต้องเทศน์ ไม่ต้องอธิบายว่าทำไมตัวละครคนนี้จึงทำอย่างนี้อย่างนั้น แค่เล่าว่าเขาทำอะไร ฉากนั้นเกิดอะไรขึ้น คนอ่านไปคิดต่อเอง

ข้อดีอย่างหนึ่งคือ บางครั้งคนอ่านสานความคิดต่อยอดไปได้ไกลกว่าคนเขียน

นักเขียนมือใหม่มักชอบบอกหมด ไม่ทิ้งพื้นที่ให้ผู้อ่านคิดเอง ทำให้มันกลายเป็น “รายงาน” ไป

ผู้ใหญ่มักสั่งสอนเด็กแบบพระเทศน์ เด็กเกิดความรู้สึกต่อต้าน แล้วทำตรงข้ามกับที่ผู้ใหญ่สอน

เทศน์มาก น่าเบื่อ จึงประชดเสียเลย!

อย่าพยายาม “ปิดการขาย” กับเด็ก อย่าให้เขารู้สึกว่ากำลังถูกเทศน์

ลองเปลี่ยนเป็นการให้ข้อมูล เฝ้าดูอย่างระวัง แล้วให้เด็กเรียนรู้เอง อาจได้ผลกว่า

จะสอนเด็กเรื่องอะไร ก็แสดงให้เขาดู ไม่ต้องเทศน์ จะบอกเด็กว่ากินผักดี ก็กินผักให้เด็กเห็น จะสอนเด็กไม่ให้ติดสังคมโซเชียล พ่อแม่ก็ไม่งัดมือถือขึ้นมาเล่นตอนพร้อมหน้ากินข้าว

ถ้าเรารักใคร ก็ควรให้อิสรภาพแก่คนคนนั้น

ส่วนหนึ่งของอิสรภาพคือเขาหรือเธอสามารถเลือกเดินไปตามทางของตนเองได้ โดยไม่ถูกยุยงหรือกดดันจากเรา

Show, don’t tell.

 


คอลัมน์ ลมหายใจ / เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!