ฮวย (ห่วย ฮ่วย ฮ้วย) หวย

-

หวย การพนันยอดนิยม ถูกต้องตามกฎหมาย ถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อราวพุทธศักราช 2364-2370 ด้วยวิธีทำป้ายชื่อคนในตำนานสมัยราชวงศ์ซ้อง 34 ป้ายชื่อ เจ้ามือเลือกป้ายชื่ออันหนึ่งใส่กระบอกไม้ไผ่ปิดฝาชักรอกขึ้นไว้บนหลังคา ให้ผู้เล่นวางเงินทายว่าจะเป็นชื่อใดใน 34 ชื่อ หากทายถูกเจ้ามือจ่ายให้ 30 เท่าของเงินที่วาง ทายไม่ถูกเจ้ามือก็ริบเงินที่วาง จีนเรียกวิธีเล่นดังนี้ว่า “ฮวยหวย”

ฮวยหวยในเมืองจีนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้เจ้ามือ ไม่นานเท่าไรการพนันยอดนิยมก็แพร่หลายไปเกือบทุกมณฑล และหลังจากถือกำเนิดได้ไม่ถึง 10 ปี ก็มีผู้นำเข้ามาดำเนินกิจการในเมืองไทยเมื่อพุทธศักราช 2374

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระวิตกว่า เงินตราที่ทางราชการผลิตออกไปจำนวนมากแต่กลับมีการนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ครั้งนั้นเจ้าสัวหง นายอากรสุราชาวจีน มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนศรีไชยบาน กราบทูลว่าชะรอยราษฎรจะเก็บเงินฝังดินไว้ไม่นำออกมาใช้ “ถ้าอย่างนี้ที่เมืองจีนตั้งหวยขึ้นจึงมีเงินมา” จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าสัวหงเป็นนายอากรตั้งโรงหวยขึ้นใกล้กับสะพานหัน โดยใช้วิธีทายป้ายชื่อคนในตำนาน 34 ชื่อ เช่นเดียวกับฮวยหวยในเมืองจีน ออกหวยเวลาเช้าวันละครั้ง

ต่อมาพระศรีวิโรจน์ (ดิศ) เห็นกิจการโรงหวยของเจ้าสัวหงเจริญก้าวหน้าร่ำรวยเหลือล้น จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานตั้งโรงหวยขึ้นอีกโรงหนึ่งที่บางลำพู โดยใช้ตัวอักษรไทย 34 ตัว เลือกตัวใดตัวหนึ่งใส่กระบอกไม้ไผ่ชักรอกขึ้นไว้บนหลังคาโรงหวย ให้ผู้เล่นวางเงินทายว่าจะเป็นตัวใด ทายถูกเจ้ามือจ่ายให้ 30 เท่าเช่นเดียวกับหวยจีนของเจ้าสัวหง โรงหวยบางลำพูใช้ตัวอักษรไทยมีสร้อยต่อท้ายเป็นตัวทาย จึงเรียกว่า “หวย ก ข” หรือหวยไทย ออกหวยเวลาค่ำวันละครั้ง

ถึงรัชกาลที่ 4 มีผู้ผูกอากรหวยขอไปตั้งโรงหวยที่หัวเมือง 2 เมือง คือ พระนครศรีอยุธยาและเพชรบุรี ราษฎรชาวเมืองที่เคยเป็น “ไพร่ฟ้าหน้าใส” ถูกหวยกินจนแปรสภาพเป็นไพร่ฟ้าหน้าเหลือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองทั้ง 2 ทรงสังเกตเห็นราษฎรพากันยากจนลงไปกว่าแต่ก่อน จึงโปรดฯ ให้เลิกหวยที่พระนครศรีอยุธยาและเพชรบุรี คงไว้แต่ที่กรุงเทพฯ

โรงหวยกรุงเทพฯ โดยเฉพาะหวยไทยหรือหวย ก ข กิจการรุ่งเรือง มีผู้ประมูลผูกอากรได้เงินเข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านร้านตลาดติดหวยกันงอมแงม บังเกิดอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับหวยหลายอาชีพ เช่น อาจารย์ใบ้หวย คนเดินโพย รวมถึงมิจฉาชีพขโมยขโจรที่หาเงินไปแทงหวย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมีประกาศเลิกหวยขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2459

เล่นหวยรวยทางลัดเป็นความหวังเดียวของคนยากคนจนที่อาจพลิกสถานภาพจากยาจกเป็นเศรษฐีได้ในพริบตา ทำให้เมื่อมีประกาศเลิกหวย พุทธศักราช 2459 ออกมา เท่ากับเป็นการตัดหนทางหวังรวยของนักเสี่ยงโชค ครั้งนั้น “นายเฟื่อง” ข้าราชการกระทรวงวัง กวีนักแทงหวยผู้มีความผูกพันกับหวย ก ข มายาวนานได้แต่ง “นิราศหวยเลิก” เริ่มคำกลอนแรกว่า “นิราศร้างห่างหายเสียดายหวย ตั้งแต่นี้ที่ไหนจะได้รวย เพราะเคยช่วยรอดตายมาหลายที” นิราศเลิกหวย นำอักษร ก ข ที่เป็นตัวออกหวย 34 ตัว เช่น ก สามหวย ข ง่วยโป๊ ค เม่งจู ฉ ขายหมู ด กวงเหม็ง ต เรือจ้าง ส ฮะไฮ้ ฯลฯ มาตั้งเป็นกระทู้เปรียบอธิบายรำพึงรำพันเมื่อต้องจากลาทั้งรักที่เคยแทงถูกและทั้งแค้นที่เคยโดนหวยกิน

(ก) ช่างกระไรใจคอ ก สามหวย               แม่ไม่ช่วยรับรักษามาผลักไส
อยู่ดีดีเลิกกันไม่ทันไร                              ต่อนี้ไปอกเรียมจะเตรียมตรอม
ถึงจะได้เงินอื่นสักหมื่นแสน                     ไม่เหมือนแม้นเงินเจ้าเฝ้าถนอม
จะกินพี่ปี้ป่นจนออกงอม                         ก็ไม่ยอมแพ้เจ้าเฝ้ารำพึง

ฯลฯ

(ฉ) อีขายหมูตัวนี้ตัวฉีติด                         กูเจ็บจิตนักหนอมึงตอแหล
ฝันเห็นหมูแทงมันไม่ผันแปร                    กลับวิ่งแร่ออกหมาอีห่ากิน
เลิกกันทีอีอุบาทว์ชาติขี้ข้า                       เกลียดน้ำหน้ากินจังอีกังฉิน
แทงเท่าไรหายจมเป็นถมดิน                    กินจนสิ้นเงินทองเป็นกองโกย

ฯลฯ

(ส) อีฮะไฮ้อัปรีย์ตัวนี้อิก                          ก็ดุกดิกกิริยาดูกล้าหาญ
ชั้นแต่งตัวฉูดฉาดชาติสันดาน                  คงไม่นานนักหรอกเป็นดอกทอง
เที่ยวกลางคืนดื่นดึกไม่นึกพรั่น                ช่างก๋ากั่นเหลือดีไม่มีสอง
ไม่อยู่บ้านแส่ไปให้เข้าลอง                      คงมีท้องสักหน่อยมึงคอยดู
จะตีด่าเท่าใดก็ไม่เข็ด                              เที่ยวเก็บเห็ดร่ำไปไม่อดสู
แต่วันนี้มึงอย่ามาหากู                            เชิญไปอยู่โคมเขียวทีเดียวไป

ฯลฯ

ครั้งกระโน้นหวยเลิก เจ้าสัวเจ้ามือนายอากรผู้ประมูลหวยขาดรายได้ มาครั้งกระนี้รัฐบาลเป็นเจ้ามือเรียกหวยว่า สลากกินแบ่งรัฐบาล ออกงวดละร้อยล้านฉบับรายได้เข้ารัฐงวดละหลักหมื่นล้าน จ่ายเป็นรางวัลงวดละไม่กี่ร้อยล้าน แถมสร้างอาชีพหลากหลายทั้งเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ฯลฯ กำไรเห็น ๆ


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!