ความน่าสนใจของหนังสือภาพเล่มนี้คือการรวมผลงานของศิลปิน 2 ทีม โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 2 เรื่อง เรื่องละครึ่งเล่ม “MANASAWii” หรือ ‘เจน’ มนัสวี โรจนพรรณ ประพันธ์ผลงานเรื่อง Lost และ “19.04” หรือ ‘โฟล์’ รณรงค์ พลบุตร, ร่วมกับ ‘พิม’ ศุภัชฌา ประสพพรสุข ประพันธ์ผลงานเรื่อง Found แม้ทั้งสองทีมจะไม่เคยรู้จักกัน แต่ผลงานของพวกเขากลับประสานกันอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นภาพปกที่บังเอิญคล้ายกัน ฉากของเรื่องที่เกี่ยวพันกับท้องทะเล และเนื้อหาที่พูดถึงความรู้สึกสูญเสีย เว้าแหว่ง และต้องการแสวงหาคำตอบให้ส่วนลึกของจิตใจ ทั้งสองเรื่องสามารถอ่านต่อเนื่องกันโดยไม่รู้สึกขัด ถ้าเปรียบกับอาหารคงเป็นอาหารจานที่ปรุงกันคนละสูตรร แต่เมื่อนำมากินรวมกัน รสชาติกลับกลมกล่อม นอกจากตัวอักษรที่ถ่ายทอดเรื่องราวแล้ว ยังมีภาพประกอบที่เติมเต็มจินตนาการได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะเป็นผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิตของทั้งสองทีม แต่ Lost & Foundก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ หนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2564 ประเภทการ์ตูน ได้สำเร็จ
“MANASAWii”
เรียนจบอะไรมา
ปริญญาตรี ภาควิชาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโท Visual Arts: Illustration Camberwell College of arts, University of the Art London (UAL)
ก่อนจะมาทำหนังสือเคยทำงานอะไร แล้วปัจจุบันทำงานด้านใดเป็นหลัก
graphic designer ในทีม creative content development ปัจจุบัน freelance illustrator รับงานวาดภาพประกอบ/ออกแบบ ควบคู่กับการทำงานหนังสือภาพและ zine (หนังสือทำมือ) ของตัวเองค่ะ
ผลงาน Lost เกิดขึ้นได้ยังไง
เรื่อง Lost เป็นธีซิสปริญญาโทที่เจนทำ ตอนเขียน proposal เจนเล่าถึงประสบการณ์ช่วงทำงานประจำ ชีวิตช่วงที่ผ่านมาเราเรียนควบคู่กับทำงาน ไม่เคยมีจังหวะหยุดพักเลย รู้ตัวอีกทีรู้สึกเหนื่อยมาก ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และที่สำคัญคือชีวิตนี้ต้องการอะไรกันแน่ หนังสือเรื่อง Lost คือการย้อนกลับไปมองหาคุณค่าและสิ่งที่สำคัญในชีวิตสำหรับเจน จึงเกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาค่ะ
แรงบันดาลใจเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อก้าวสู่วัยผู้ใหญ่อย่างรีบเร่ง เช่นเดียวกับเด็กอีกหลายคนในประเทศไทย การเข้าสู่วัยทำงานโดยไม่ทันได้ถามความต้องการของตัวเอง ว่าสิ่งที่ต้องการทำในชีวิตนี้คืออะไร
ความรู้สึกของการหลงทาง ความคาดหวังของคนในสังคมที่ต้องรีบโตและรีบหางานเพื่อประสบความสำเร็จ ความรู้สึกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างวัยรุ่นตอนปลายกับวัยทำงาน และการตามหาสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจของตัวเอง ล้วนเป็นแรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้ค่ะ
รวมกันเป็น Lost & Found ได้อย่างไร
การรวมตัวของ Lost & Found เริ่มจากวันที่เจนส่งอีเมลต้นฉบับหนังสือที่เสร็จสมบูรณ์ให้แก่ สำนักพิมพ์ Fullstop พร้อมกับเขียนเรื่องราวโดยย่อแนบไป เจนชอบหนังสือของ Fullstop ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ชอบรูปแบบการพิมพ์หนังสือที่ประณีตและผลงานภาพส่วนใหญ่สร้างสรรค์ด้วยมือ จึงเป็นที่แรกที่ตัดสินใจจะส่งต้นฉบับไป ถัดมาไม่กี่วันสำนักพิมพ์ติดต่อกลับแล้วเล่าว่า ตอนนี้มีน้องอีกสองคนชื่อโฟล์กับพิม กำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ ที่น่าประหลาดใจคือ หน้าปกของเจนและน้องทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันมาก เป็นเรื่องรวมการเดินทางตามหาบางสิ่ง มีฉากหลังเกี่ยวข้องกับทะเล แถมใช้เทคนิควาดเส้นด้วยดินสอเหมือนกันด้วย พี่คิด บก.ถามเจนว่าสนใจพิมพ์หนังสือร่วมกับน้องไหม เจนตอบตกลงค่ะ
ทำไมถึงเลือกบรรยากาศของเรื่องเป็นโลกใต้ทะเล
ทะเลเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างพิเศษสำหรับเจน ตอนทำธีสิสจำได้ว่า ต้องคิดเรื่องนี้ละเอียดมาก และเหตุผลต้องหนักแน่นพอที่จะใช้เป็นบรรยากาศหลักของเรื่อง เพราะเรื่องนี้มีเนื้อหาว่าด้วยการสูญหายและค้นพบบางอย่าง ในความรู้สึกของเจนมันเหมือนกับการที่ตายแล้วและฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ทะเลเป็นสถานที่นั้นสำหรับเจน ตอนยังเด็ก เจนเคยจมน้ำในทะเลแต่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที ทะเลในความรู้สึกของเจนจึงเหมือนจุดจบและจุดเริ่มต้นของชีวิต อีกอย่างคือสมัยเรียนอยู่ชั้นประถมเจนเคยเป็นโรคหอบหืด แต่รักษาหายด้วยการว่ายน้ำ ดังนั้นจึงมีความผูกพันลึกๆ กับทะเลและสระว่ายน้ำ ในเรื่อง Lost มีจุดที่แอบใส่สระว่ายน้ำไว้เหมือนกัน
ผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิคการวาดแบบไหน
ภาพขาว-ดำใช้เทคนิควาดเส้นดินสอ ส่วนหน้าสี เจนใช้สีกูอาช (gouache) ผสมกับสีไม้ งานภาพทั้งหมดจบใน photoshop และ indesign ค่ะ
ช่วงที่ลงมือเขียนมีอุปสรรคอะไรบ้าง
เยอะจนนับไม่ถ้วนเลยค่ะ (ฮ่า) งานวาดภาพที่มีรายละเอียดสำหรับเจนไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเจนชอบและทำมาตั้งแต่ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้ว แต่การเขียนเป็นเรื่องใหม่สำหรับเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเขียนเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ การเขียนหนังสือยากกว่าที่เจนคิด ทุกวันนี้ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่านักเขียนเลยค่ะ ขอเป็นแค่นักเล่าเรื่องด้วยภาพ การเขียนจึงช่วยอุดช่องว่างบางอย่างที่ภาพทำไม่ได้ การเขียนหนังสือเล่มหนึ่งนั้นมีรายละเอียดเยอะมากเหมือนกับการสร้างภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ต้องมีทั้งโครงเรื่อง ตัวละคร พื้นหลังของตัวละคร ฉาก สตอรีบอร์ด เยอะกว่าที่คิด แต่ก็สนุกที่ได้เรียนรู้ค่ะ
มีเหตุการณ์ประทับใจต่อผลงานชิ้นนี้ไหม
จริงๆ มีเหตุการณ์ประทับใจหลายอย่างระหว่างการทำหนังสือเล่มนี้ ทั้งดีและไม่ดี เสียน้ำตาไปก็หลายลิตร (ฮ่า) แต่มีเรื่องหนึ่งเป็นตอนที่เจนตัดสินใจจะใส่ตัวหนังสือลงในเรื่องค่ะ แรกสุดเจนตั้งใจทำเป็นหนังสือภาพซึ่งไม่มีตัวหนังสือเลย แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และความสามารถของเจนที่ยังไม่มากพอจะถ่ายทอดเรื่องโดยไม่มีตัวหนังสือ ตอนนั้นคุยกับเพื่อนสนิทว่าควรทำยังไงดี เพื่อนก็บอกว่าใส่ตัวหนังสือเลย ถึงทำตามที่คิดไว้ตั้งแต่แรกไม่ได้ แต่ยังมีทางออกอื่นอยู่ ถ้าเล่มนี้ยังทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ยังมีเวลาพัฒนาและเรียนรู้เพื่อให้เล่มถัดไปดียิ่งขึ้น จนวันหนึ่งไม่ต้องเล่าด้วยตัวหนังสืออีกเลย ดีใจที่เพื่อนบอกแบบนั้น ทำให้เจนทำหนังสือต่อจนเสร็จได้ค่ะ รู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลยค่ะ (ฮ่า)
อยากสื่อสารอะไรผ่านผลงานชิ้นนี้
อยากเพิ่มเติมสารที่อยู่นอกหนังสือมากกว่าค่ะ ส่วนตัวเป็นคนชื่นชอบงานเขียนกับงานภาพมากๆ และอยากส่งสารถึงคนที่อยากเล่าเรื่องผ่านหนังสือภาพ/zine ค่ะ เจนคิดว่าเรื่องราวของทุกคนมีคุณค่าเสมอ และการที่เล่าออกมาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากจะเป็นการบันทึกประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึก ณ ช่วงเวลานั้นแล้ว อาจก่อให้เกิดประโยชน์ทางใดทางหนึ่งแก่คนอื่นได้ บางคนอาจคิดว่าเรื่องราวของตัวเองไม่มีอะไรตื่นเต้นหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เจนคิดว่าเรื่องราวของทุกคนมีคุณค่า เพราะเราเป็นมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคล ถ้าไม่บันทึกเรื่องราวของตัวเอง ใครจะเก็บบันทึกเรื่องราวของเรา เจนเชื่ออย่างยิ่งว่าการจดบันทึกสามารถสร้างวัฒนธรรมให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ทั้งด้านงานเขียน การอ่านหนังสือ งานสร้างสรรค์และศิลปะ อยากให้วัฒนธรรมในบ้านเราเฟื่องฟูและแข็งแรงค่ะ
คุณได้เรียนรู้อะไรจากผลงานนี้
ซื่อสัตย์และเชื่อในสิ่งที่ทำ การทำงานต้องมีความอดทนและสม่ำเสมอ แล้วการทำงานหนักจะปรากฏผลผ่าน งาน แม้ว่าเจนยังสื่อสารด้วยการเขียนไม่เก่ง แต่ถ้าเราซื่อสัตย์กับเรื่องที่เล่า ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงความจริงใจค่ะ
ความรู้สึกต่อรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด
ถ้าให้ตอบตามตรงก็ตกใจค่ะ เพราะไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับรางวัลเลย และนี่เป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำด้วย คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นและกำลังใจที่ดีค่ะ ช่วยให้อยากทำงานหนังสือต่อไปเรื่อยๆ
ติดตามผลงานของคุณเจนได้จากไหน
สื่อโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมชื่อ manasawii และเว็บไซต์ www.manasawii.net หนังสือเล่มถัดไปที่จะพิมพ์กับ Fullstop กำลังอยู่ในกระบวนการสร้างงานค่ะ นอกจากงานลูกค้าที่มีมาเรื่อยๆ เจนกำลังเขียนหลักสูตรออนไลน์ วิชาภาพประกอบร่วมกับ Tool School of Visual Arts ควบคู่กับทำ zine (หนังสือทำมือ) ส่วนงานที่ทำแล้วไม่ได้เงินแต่สนุกคือ กิจกรรมชมรมนักวาดออริ ที่ทำกับเพื่อนๆ ในคลับเฮ้าส์/ทวิตเตอร์ค่ะ มีการจัดพูดคุยและสัมภาษณ์นักวาด และกิจกรรมวาดกระชับมิตร ที่เป็นการวาดรูปร่วมกันทุกคืนวันศุกร์ สมาชิกในชมรมจะสลับกันตั้งโจทย์ที่ตัวเองอยากวาดทุกสัปดาห์ค่ะ
“19.04”
เรียนจบอะไรมา
พิม : เราสองคนจบสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ที่เพาะช่างค่ะ
ก่อนจะมาทำหนังสือเคยประกอบอาชีพอะไร แล้วปัจจุบันทำงานด้านใดเป็นหลัก
โฟล์ : ผมเป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบอิสระครับ ปัจจุบันก็ยังคงทำอาชีพเดิมอยู่
พิม : พิมเคยเป็นครูสอนปั้นดินเกาหลีควบคู่กับทำงานออกแบบเล็กๆ น้อยๆ และวาดภาพประกอบอิสระค่ะ ปัจจุบันไม่ได้เป็นครูสอนปั้นแล้ว แต่ก็ยังทำงานด้านศิลปะอย่างเดิมค่ะ ออกแบบ รับวาดภาพประกอบ และกำลังลุยสร้างแบรนด์ของตัวเองอยู่
มาจับคู่กันได้ยังไง
พิม : พี่คิด บก. Fullstop เป็นคนเสนอไอเดีย อยากให้เราลองเอางานปั้นและงานวาดมารวมกันทำเป็นหนังสือนิยายภาพที่ใช้สองเทคนิคผสมกันค่ะ
โฟล์ : ต้องขอย้อนนิดนึงครับ เริ่มต้นจากการที่เราเป็นแฟนหนังสือของสำนักพิมพ์ Fullstop ตั้งแต่สมัยเรียนมหา’ลัยแล้ว เราไปงานหนังสือกันประจำ ทุกครั้งที่ไปได้มีโอกาสพุดคุยกับพี่ๆ ในสำนักพิมพ์เสมอ จนพี่ๆ รู้ว่าเราเรียนทางด้านศิลปะ และพิมสามารถปั้นได้ พี่คิดจึงเกิดไอเดียอยากให้มีหนังสือนิยายภาพแบบฟิวชั่นบุ๊ค จึงชวนพวกเราให้มาทำหนังสือกันดู เอางานปั้น (ดินเซรามิกส์หรือดินเหนียว) ของพิมผสมเข้ากับงานวาด แต่กว่าพี่คิดจะชวนก็คุยกันมา 4-5 ปี เพราะได้เจอกันแค่สองครั้งต่อปีครับ (ฮ่า)
ส่วนนามปากกานั้นตอนแรกคิดไม่ออก เลยทำงานกันไปก่อนเรื่องชื่อค่อยว่ากัน (ฮ่า) จนสุดท้ายนึกถึงชื่อสำนักพิมพ์คือ Fullstop ที่หมายถึงจุด ถ้างั้นเราเป็นเลขเลยละกันเรียบง่ายดี เลยเอาวันเกิดของเราสองคนมาตั้งครับ ผมเกิดวันที่ 19 พิมเกิดวันที่ 4 จึงใช้เป็น 19.04 เวลาแนะนำตัวจะบอกทุกคนว่าเราคือหนึ่งเก้าศูนย์สี่ แต่เวลาเขียนก็จะมีจุด อยู่ตรงกลางเสมอ เราตั้งใจเติมจุดไว้เพราะเราสองคนได้ร่วมงานกันก็เพราะสำนักพิมพ์ Fullstop ซึ่งมีจุดเป็นสัญลักษณ์ของสำนักพิมพ์
ในการทำงานแบ่งหน้าที่กันยังไง ต้องปรับจูนอะไรกันบ้าง
พิม : แบ่งกันโดยโฟล์ลุยงานวาดและเขียน ส่วนพิมลุยงานปั้น แต่ก่อนจะแยกย้ายก็ต้องตกลงกันเรื่องอารมณ์ของงาน ภาพรวมให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน แต่สุดท้ายก็มีกลับมาแก้อยู่บ่อยๆ เพราะภาพในหัวไปคนละทางกัน
สิ่งที่ต้องปรับจูนจะเป็นเรื่องของสไตล์งาน เพราะสไตล์งานส่วนตัวของพิมกับโฟล์ต่างกันสุดๆ เลยค่ะ โฟล์ดำสนิท ส่วนพิมก็ชมพูสีสันเลย เปรียบเหมือนความตายกับขนมหวานก็ได้ค่ะ การทำงานในครั้งนี้เลยต้องหาจุดร่วมของทั้งสองคน เพื่อให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น และเราทั้งสองคนก็อินกับงานนี้ด้วย เป็นส่วนที่ยากเอาการเลยค่ะในช่วงเริ่ม
แรงบันดาลใจในผลงานชิ้นนี้?
โฟล์ : เริ่มต้นจากการค้นหาสิ่งที่อยู่ภายใน และอยากบอกเล่าออกมาครับ ในช่วงเรียนรู้ก่อนที่จะเขียนจริง พี่หนึ่ง (วิทิตนันท์ โรจนพานิช) ได้ตั้งคำถามผมว่า สมมติมีกล่องใบหนึ่งในใจ ในกล่องใบนั้นมีอะไรอยู่บ้าง ลองค่อยๆ ค้นหาสิ่งที่อยู่ในกล่องของเรา ผมถามตัวเองจนค้นไปเจอ “ความกลัว” ที่จะต้องสูญเสียคนที่เรารัก และความกลัวนี้คือจุดเริ่มต้น ความกลัวอันเกิดจากความรัก ความรักทำให้เกิดความสัมพันธ์ ไม่ใช่เพียงมนุษย์ด้วยกัน ยังรวมถึงความสัมพันธ์ของผู้คนและธรรมชาติ ทุกอย่างประกอบกันจนเป็นเรื่องราวและความรู้สึกมากมายใน Found
ทำไมถึงเลือกบรรยากาศของเรื่องเป็นทะเล
พิม : ที่เลือกทะเลเพราะตอนที่พิมและโฟล์ต้องหาสไตล์ร่วมเพื่อให้เราทั้งคู่ทำงานต่อได้ โฟล์เปิดดูสารคดีซึ่งเกี่ยวกับทะเล ได้แก่ Mission Blue ของ ดร.ซิลเวีย เอิร์ล นักสมุทรศาสตร์ และ Jago A Life Underwater ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตของผู้เฒ่าเผ่าบาจาวแห่งอินโดนีเซีย เราจึงพบคำตอบว่า ทะเลนี่แหละที่เป็นฉากหลังของหนังสือเล่มนี้ พิมเองก็ชอบความสดใสของทะเล ทั้งสดใสและลึกลับ พิมกับโฟล์จึงตัดสินใจเลือกเป็นบรรยากาศของทะเลค่ะ
ภาพประกอบของผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิคแบบไหน
พิม : บางภาพก็วาดด้วยดินสอกราไฟท์ บ้างก็สีหมึก บ้างก็ปั้นดินเหนียว (แบบไม่เผา) ส่วนภาพที่เป็นงานวาดกับงานปั้นมาผสมกันนั้นจะทำด้วยการถ่ายภาพและจบด้วยการรีทัชค่ะ
ช่วงที่ลงมือเขียนมีอุปสรรคอะไรบ้าง
โฟล์ : มีอุปสรรคหลายอย่างเลยครับ ด้วยสไตล์ที่แตกต่างกัน กว่าจะลงตัวก็ถกกันมากพอควร ในส่วนของเนื้อเรื่อง ผมค่อนข้างจริงจังกับการอ้างอิงข้อมูล (เป็นความชอบส่วนตัวในการดำเนินงาน) ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาชีพ เหตุการณ์ในเรื่อง ตำนาน องค์ประกอบยิบย่อยทั้งภาพและเนื้อหา ล้วนอิงความเป็นจริง หนังสือเล่มนี้ผมกำหนดเรื่องราวให้เกิดขึ้นช่วง ”หลัง” สงครามโลกครั้งที่ 1 และ “ก่อน” จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อผ้าของตัวละครก็อยู่ในช่วงเวลานั้น ตอนที่เล่าถึงเด็กเกเรสามคน ซึ่งทำงานในโรงงานแกะเปลือกหอย การใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแบบนั้นก็เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น การเขียนจึงใช้เวลานานมาก เพราะต้องหาข้อมูลมาเสริมอยู่เสมอ
ความยากอีกหนึ่งอย่างคือ ช่วงที่ต้องเอางานปั้นและงานวาดมาถ่ายภาพรวมกันครับ ตอนแรกพิมทำแบบเผาเคลือบ แต่ความเงาของการเคลือบเซรามิกส์ทำให้ถ่ายยาก จึงปรับใหม่ทั้งหมดเป็นปั้นดินดิบๆ ไม่ต้องเผา พอถ่ายออกมาก็จะล้อไปกับงานเส้นดินสอขาวดำ การจัดแสงในการถ่ายก็ใช้เวลาอีกเช่นกัน ถ่ายผิดมุมแสงก็ไม่สอดคล้องกับภาพวาด และช่วงที่ต้องรีทัชยิ่งลำบาก คอมฯ เราเก่ามาก รีทัชช้าสุดๆ
ความยากของการทำงานชิ้นนี้อยู่ตรงไหน
พิม : การลดตัวตน ลดสไตล์ของตัวเองลงมา ปรับเข้าหากันตรงกลาง เพื่อให้สามารถทำงานในส่วนของตัวเองได้อย่างรื่นไหล
มีสารอะไรที่อยากสื่อผ่านผลงานชิ้นนี้บ้าง
โฟล์ : คงเป็นเรื่องความสำคัญของชีวิต การมีชีวิตและการใช้ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันให้ดีที่สุด และอยากสื่อถึงความสำคัญของธรรมชาติด้วยครับ ธรรมชาตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา อีกสิ่งที่อยากจะสื่อเป็นเรื่องของจินตนาการ เราไม่จำเป็นต้องทิ้งจินตนาการวัยเด็กของเราไป เราสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังรักษาจินตนาการของเราไว้ด้วยได้ครับ
คุณได้เรียนรู้อะไรจากผลงานนี้
พิม : การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองอีกขั้น ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ค่ะ
โฟล์ : หลังจากเขียนจบ ผมรู้สึกเติบโตไปพร้อมกับหนังสือ ได้สำรวจความรู้สึกตัวเองอีกครั้ง
ความรู้สึกต่อรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด
พิม : ดีใจมากๆ ค่ะ เป็นหนังสือเล่มแรกของพวกเราด้วย และพวกเราก็ลุยกันมาอย่างเต็มที่ เกินคาดมากๆ
โฟล์ : อย่างที่พิมบอกเลยครับ ดีใจมากๆ
ติดตามผลงานของพวกคุณได้จากไหน
โฟล์,พิม : สามารถติดตามผลงานของโฟล์และพิมทางอินสตาแกรมส่วนตัวของพวกเราได้เลย สายป็อป สีสัน พาสเทล เชิญที่อินสตาแกรมของพิมชื่อ pim.chaa ส่วนใครสายดาร์กก็เชิญที่อินสตาแกรมของโฟล์ 4ronnarong
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม