เล่ห์ลุนตยาเป็นหนึ่งในนิยายชุด “ผีผ้า” ของ “พงศกร” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยมีเนื้อหาเป็นแนวเดียวกันคือมีความลึกลับ มีวิญญาณที่สิงสถิตหรือผูกพันกับผ้าผืนดังกล่าว แนวเรื่องนี้ พงศกรได้เขียนไว้หลายเรื่อง มีการนำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์และประสบความสำเร็จเกือบทุกเรื่อง
แต่เล่ห์ลุนตยามีความแตกต่างจากนิยายผีผ้าเรื่องอื่นๆ ตรงที่ “พงศกร” นำเอา “การเมือง” ในประเทศเมียนมา มาเป็นเรื่องราวสอดแทรกและเกาะเกี่ยวกับเป็นเส้นเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นนิยายที่มีโครงใหญ่ มีรายละเอียดมาก ตัวละครหลากหลาย แต่กลับเป็นองค์ประกอบที่ส่งเสริมกันและกัน ทำให้น่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
“ลุนตยา” เป็นผ้าทอร้อยกระสวยของราชสำนักพม่า แห่งราชวงศ์คองบอง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า คนทอจะต้องมีฝีมืออย่างมาก ผ่านการฝึกฝนจนเกิดทักษะ สีสันและลวดลายของลุนตยาแต่ละผืนจึงเกิดจากการสร้างสรรค์ของคนทอ เหตุนี้เอง ลุนตยาแต่ละผืนจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นผืนเดียวในโลก ทำให้ผู้ทอต้องทุ่มเทสร้างผลงานที่ดีเลิศที่สุดในชีวิต บางผืนใช้เวลาหลายปี ลุนตยาจึงเป็น “จิตวิญญาณ” ของผู้ทอที่มีความผูกพันเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน
“พงศกร” ได้เปิดเรื่องในช่วง พ.ศ.2425 อันเป็นช่วงที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษส่งทหารไปยังราชสำนักพม่าที่เมืองมัณฑะเลย์ เกิดการต่อต้านขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากราชสำนักอ่อนแอ มีการอิจฉาริษยาเกิดขึ้นในราชสำนัก อันเป็นเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในภายหลังและเป็นที่มาของ “พม่าเสียเมือง” การทอผ้าลุนตยาจึงเป็นการรักษาจิตวิญญาณของความเป็นพม่า “เจ้าหญิงมินพะยู” ผู้ทอผ้าลุนตยาผืนงามสีหวานดังกุหลาบสีชมพูจึงมีความผูกพันกับผ้ามาก แต่เมื่อชะตากรรมของเจ้าหญิงถูกผูกโยงกับการเมืองของรัฐ ถูกใส่ร้ายว่าเขียนจดหมายโต้ตอบกับนายพลแฮรี่ นายทหารอังกฤษ แม้จะปฏิเสธอย่างไรก็ไม่เป็นผล ทำให้เจ้าหญิงถูกลงโทษด้วยการแห่ประจานและได้รับโทษจนสิ้นพระชนม์ วิญญาณของเจ้าหญิงจึงสิงอยู่ในผ้าลุนตยาผืนงามนั้น ส่วน “เอละวิน” บ่าวคนสนิทก็ถูกตอกเล็บ ควักลูกตาจนตาบอดทั้งสองข้าง เอละวินมีอายุยืนยาวมาเกือบร้อยปี มีครอบครัว ลูกหลาน แต่ก็ยังมีความทรงจำเรื่องราวของเจ้าหญิงมินพะยู ผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแจ่มชัด
พ.ศ. 2522 “เอลดา” ผู้สืบเชื้อสายของเอละวิน ยายเทียดของตน สงสัยว่าเหตุใดยายเทียดจึงตาบอด และราชวงศ์คองบองทำร้ายยายของเธออย่างไร เอลดาได้รับทุนจากรัฐบาลพม่าไปศึกษาต่อด้านสิ่งทอที่อังกฤษ จบปริญญาโทกลับมา ก็ได้มีโอกาสไปพัฒนาโครงการผ้าใยบัวของชาวอินตาที่ทะเลสาบอินเล “พงศกร” ผูกเรื่องให้มีความสัมพันธ์กันระหว่างพาร์ทอดีตกับปัจจุบัน และความสนใจเรื่องผ้าทอนี้เองที่นำมาซึ่งปริศนาที่เธอสนใจอยู่
เมื่อเพื่อนรักของเธอได้หยิบผ้าลุนตยาผืนงาม และเป็นผืนปริศนามาลองสวม เป็นเหตุให้เธอล้มป่วย มีอาการเหมือนคนเสียสติ เป็นเพราะผีผ้าเจ้าหญิงมินพะยู ได้ใช้อิทธิฤทธิ์ ดึง “ขวัญ” ไปเพื่อเพิ่มพลังให้แก่ตนเอง
ประเด็นนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผีเจ้าหญิงมินพะยู ผู้ได้รับความอยุติธรรมใช้มนต์ดึงขวัญมาเป็นพลังอำนาจ ขวัญหมายถึงจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าหากใครเสียขวัญหรือขวัญหาย จะทำให้ไม่มีสติประคองชีวิต คนในภูมิภาคนี้จึงมีพิธีกรรมเรียกขวัญ สู่ขวัญ ปลอบขวัญ ฯลฯ เมื่อขวัญเป็นเครื่องแสดงตัวตนของแต่ละบุคคล เป็นเครื่องยืนยันความมีอยู่ของตัวตน การใช้มนต์ดึงขวัญมาเพิ่มพลังอำนาจของมินพะยู จึงเป็นสัญลักษณ์ถึงการดำรงรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณของแผ่นดิน เพราะการที่เธอถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมนั้น เกิดจากความริษยาของคนในราชวงศ์ และเป็นเหตุให้พม่าต้องตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ
เพื่อนของเอลดาชื่อ “แอนโธนี” เป็นชาวอังกฤษ ติดตามเอลดามาเพื่อค้นหาประวัติของปู่แฮรี่ที่เสียชีวิตในสงครามล่าอาณานิคมเมื่อร้อยปีก่อน เอละวินยายเทียดของเอลดา แม้จะตาบอดแต่เมื่อรู้ว่าชายหนุ่มเป็นชาวอังกฤษก็ยังแสดงความรังเกียจ วิญญาณของเจ้าหญิงมินพะยู ได้ทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ตัวเอง ด้วยการเอาชีวิตแอนโธนี แต่เมื่อแอนโธนีรู้ความจริงในอดีต เขากลับยินยอมที่จะชดใช้ความผิดแทนเพื่อให้วิญญาณของเจ้าหญิงมินพะยูหายอาฆาต แต่กลับเป็นว่าเจ้าหญิงมินพะยูตกใจที่ชายหนุ่มยอมรับความผิดนั้นแทนอย่างง่ายดาย ทำให้เจ้าหญิงได้สติ ส่วน “ตฤณภพ” ตัวละครสำคัญที่ “พงศกร” สร้างขึ้น ให้เขามีเชื้อสายโยเดียและมีความรู้เรื่องไสยขาวซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ก็ได้ช่วยแก้ไขการเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างกายของเหยื่อที่มินพะยูโกรธแค้น
การยอมรับผิดของแอนโธนี มีนัยถึงการเป็นตัวแทนของเจ้าอาณานิคมที่ยอมรับความผิดในอดีตต่อวิญญาณของเจ้าหญิงมินพะยู (ผู้มีนัยเป็นเสมือนตัวแทนของราชสำนักพม่า) ความโกรธแค้นทุกอย่างจบสิ้นลงด้วยการให้อภัย ส่วนการเรียกขวัญคืนร่าง เป็นนัยถึงการเรียกตัวตนของความเป็นพม่ากลับคืนสู่แผ่นดิน เหมือนกันที่เอลดามีหน้าที่ต้องรื้อฟื้นภูมิปัญญาผ้าทอให้กลับมารุ่งเรืองในแผ่นดินพม่าอีกครั้งหนึ่ง
นิยายผีผ้าเรื่องเล่ห์ลุนตยา จึงมิใช่นิยายเกี่ยวกับผีปีศาจที่แค้นเคืองหวงแหนผ้าอย่างที่เข้าใจ แต่กลับมีนัยซ่อนเร้นอยู่อย่างคมคาย ผ้าลุนตยาซึ่งเป็นเสมือนจิตวิญญาณของราชสำนักพม่าที่ผู้ทอต้องทุ่มเทชีวิต แรงกาย แรงใจทอขึ้น แต่ละผืนจึงเป็นชีวิตและวิญญาณของผู้ทอ เมื่อผ้าทอผืนนั้นเป็นฝีมือของหญิงงามในราชสำนักพม่า ลุนตยาผืนงามจึงเป็นตัวแทนของราชสำนักพม่าที่พยายามบอกแก่คนรุ่นหลังว่าราชสำนักพม่าไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างไร “พงศกร” ได้ผูกโยงนัยสำคัญระหว่างผ้า ขวัญ วิญญาณเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและสื่อความหมายซ่อนเร้น ผสานไปกับเนื้อเรื่องที่น่าสนใจตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
หากอ่าน “ความหมาย” ซ่อนเร้นได้เช่นนี้ นิยายเรื่องเล่ห์ลุนตยา ก็มิใช่นิยายไร้สาระ ชิงรักหักสวาท หรือเป็นแนวปีศาจจองเวรดาษดื่น และยังไม่นับรวมถึงเรื่องราวของรัฐบาลเผด็จการซึ่งกระหายอำนาจครองแผ่นดิน ที่ “พงศกร” ได้สอดแทรกอยู่ด้วย
แน่นอนว่าในละครโทรทัศน์คงต้องตัดเรื่องการเมืองออกไป หวังว่าจะไม่เป็นเพียงละครผีชิงรักหักสวาทอย่างที่นิยมกัน
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ : https://www.facebook.com/thaich8