ในภาษาลาวนั้นมีคำกริยาที่ใช้แสดงอาการเดียวกันในหลายรูปแบบตามทีท่าอาการ หลายคำคล้ายกับภาษาไทยแต่มีความหมายที่ไม่เหมือนกัน บางคำก็มีใช้ในภาษาอีสานบางกลุ่มจังหวัดซึ่งอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยในภาษาอีสานทั่วไป กลุ่มคำที่พบมากคือกลุ่มคำเกี่ยวกับการใช้สายตามองดูสิ่งต่างๆ ซึ่งสำนวนไทยและลาวมีคล้ายกันว่า ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ คำที่เกี่ยวกับการมองอย่างหลากหลายแตกต่าง จึงแสดงถึงความนัยจากใจและน่าเรียนรู้
ຊອມ ซอม หมายถึง คอยดู มีลักษณะคือการตั้งท่า จับตามองว่าจะเกิดอะไรขึ้น พบทั้งในภาษาอีสานและภาษาลาวซึ่งมีความหมายเหมือนกัน เช่น ຊອມຖ່າ คือ คอยมอง
ແນມ แนม หมายถึง เหลือบดู เป็นการใช้ปลายตาหรือหางตาดู คล้ายการชม้อยชม้ายชายตา มักใช้ในภาษาเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว เช่นที่ปรากฏในเพลงว่า “หากคึดฮอดอ้ายคืนใด๋เดือนหงายให้น้องแนมเบิ่ง เดือนอีเกิ้งเทิงฟ้าสิสองทาง” แปลว่า ถ้าคิดถึงพี่ คืนไหนเดือนหงายให้เจ้าชายตามอง พระจันทร์บนฟ้าจะส่องทางมาหา
ຈອບ จอบ หมายถึง แอบ เป็นการกระทำที่ไม่เปิดเผย พยายามปกปิดไม่ให้เห็น เมื่อใช้กับกริยามองดู จะหมายถึงการแสร้งทำเป็นไม่มอง แต่ก็แอบมองอยู่ หรือยังหมายถึงการลอบมองอยู่ห่างๆ
ຫລອຍ หลอย หมายถึง ลักลอบกระทำ ในปัจจุบันได้ถูกวัยรุ่นไทยกลางนำมาใช้เป็นคำสแลง แต่มักสะกดผิดเป็น หรอย เมื่อใช้กับกริยามองดู จะหมายถึง การลอบมองไม่ให้อีกฝ่ายรู้ หรือลอบมองเป็นพักๆ
ແຍງ แยง หมายถึง ดู แตกต่างกับคำในภาษาไทยซึ่งหมายถึงการใช้ของยาวเรียวแหย่เข้าไปในพื้นที่เล็กแคบ บางสำเนียงพื้นถิ่นอาจออกเสียงเป็น แงง มาจากการออกเสียงนาสิกขึ้นจมูก
ເບິ່ງ เบิ่ง หมายถึง การมองดู เป็นคำที่ใช้ทั่วไปในภาษาลาว หรือนำไปประกอบกับคำแสดงกริยาเกี่ยวกับการมองดูอื่นๆ เป็นคำซ้อนเสริมกันได้ เช่น ຊອມເບິ່ງ ซอมเบิ่ง คือ คอยรอมอง ຈອບເບິ່ງ จอบเบิ่ง คือ แอบมอง หลอยเบิ่ง ຫລອຍເບິ່ງ คือลอบมอง เบิ่งแยง ເບິ່ງແຍງ คือ ดูแล
ມອງ มอง หมายถึง อุปกรณ์จับปลาชนิดหนึ่งคล้ายแหหรืออวนขนาดเล็ก ใช้จับปลาในแม่น้ำหรือบึงน้ำจืด หรือหมายถึง กระเดื่องตำข้าว ดังนั้น หากพูดคำไทยว่า มอง กับคนลาว อาจเกิดการเข้าใจผิดสับสนขึ้นได้ว่าเราต้องการจะทำอะไร
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข