หลงกลิ่นจันทน์ นวนิยายจากปลายปากกาของนักเขียนที่ใช้นามปากกว่า “ณิชนิตา” ผู้เขียนไม่เคยอ่านบทประพันธ์ของเธอ เลยอาศัยเรื่องย่อจากละครโทรทัศน์และประกอบกับการดูละครโทรทัศน์ที่สร้างบทจากนวนิยายเรื่องนี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 35 ดังนั้นสิ่งที่จะได้อ่านต่อไปนี้ จึงมิได้มาจากนวนิยายของเธอ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านรีวิวของผู้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ ต่างก็ชื่นชมเป็นเสียงเดียวว่าเป็นนวนิยายที่มีแง่มุมน่าสนใจ ภาษาดี และมีกลการประพันธ์ที่มีชั้นเชิงชวนอ่าน จึงคาดหวังได้ว่านักเขียนนามปากกา “ณิชนิตา” จะเป็นหนึ่งในความหวังของวงการนวนิยายไทยต่อไป
หลังจากละครโทรทัศน์เรื่องหลงกลิ่นจันทน์ออกอากาศไปเพียงครึ่งเรื่อง ก็ได้รับเสียงชมจากผู้ชมจำนวนมาก สังเกตได้จากกระแสชื่นชมละครเรื่องนี้ที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ต่างๆ ยิ่งได้นักเขียนบทละครโทรทัศน์ฝีมือดีอย่าง อภิวัฒน์ เหล่าสกุล ซึ่งผู้เขียนเองก็ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ละครเรื่องนี้มีความน่าสนใจขึ้น
แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากปรบมือให้ก็คือ การเลือกเรื่องมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ หลงกลิ่นจันทน์ เป็นละครเพียงไม่กี่เรื่องซึ่งฉีกแนวออกจากเนื้อหาเดิมๆ ที่นิยมกันมาตลอด เป็นละครที่กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรม สืบสวน สอบสวน แต่ก็ยังมีกลิ่นอายของความรักและความน่ารักของพระเอกนางเอกในขนบละครไทยอยู่อย่างครบถ้วน
หมู่บ้านดอนหินกาบ ฉากสำคัญที่ปรากฏในเรื่อง เป็นเสมือนภาพจำลองของสังคมไทย หมู่บ้านเล็กๆ ที่โยงใยกันด้วยอำนาจจากระบบราชการ ศาสนา ความเชื่อ และวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องดำเนินไปภายใต้ระบบที่เชื่อมถึงกันเป็นเครือข่าย แต่หมู่บ้านดอนหินกาบเปลี่ยนไปเมื่อสารวัตรว่านรัก ย้ายเข้ามาประจำการที่นี่ และฟื้นคดีนางสาวสิรินญาขึ้นมาใหม่ หลังจากปิดคดีนี้ไปแล้ว 2 ปี
ว่านรัก เป็นตัวละครที่น่าสนใจยิ่ง นวนิยายไทยไม่ค่อยนำเสนอนางเอกเป็นตำรวจ เป็นมือหนึ่งด้านสืบสวนสอบสวน มีดีเอ็นเอที่ได้ความกล้าหาญ รักความยุติธรรมจากพ่อ ผู้เป็นนายตำรวจใหญ่ และได้ความงามจากแม่ผู้เป็นอดีตนางงาม แต่ว่านรักไม่เคยใช้เส้นสายจากพ่อ อีกทั้งไม่เคยใช้ความสวยเพื่อเป็นเครื่องต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เธอยินดีที่จะเดินทางไปรับตำแหน่งสารวัตรสอบสวนที่ดอนหินกาบอย่างองอาจ โดยไม่รู้มาก่อนว่าจะมีชะตากรรมอย่างไร
ผู้ประพันธ์ปูเรื่องให้ว่านรักเคยใช้ชีวิตวัยเด็กที่ดอนหินกาบ เมื่อเธอได้กลับภูมิลำเนาเดิม จึงได้พบเพื่อนรักวัยเด็กหลายคน หนึ่งในนั้นคือปฐพี หรือหมอดิน ชายที่เธอเคยรักในวัยเด็กและฝังใจเรื่อยมา เมื่อได้พบกันอีกครั้ง หมอดิน หมอนิติเวช ผู้ต้องทำหน้าที่ผ่าชันสูตรศพ จึงเกี่ยวข้องกับงานสืบสวนของว่านรัก หมอดินผู้มีความรู้สึกดีๆ ให้แก่ว่านรัก พยายามผลักดันเธอออกจากดอนหินกาบ อ้างว่าที่นี่ไม่เหมาะกับเธอ แต่แท้จริงแล้ว เขาเป็นห่วง ไม่อยากให้เธอมีอันตราย
ว่านรักกลับดอนหินกาบครั้งนี้ในฐานะที่เป็นเสมือน “ผู้มาเยือน” เธอจึงมองดอนหินกาบด้วยสายตาอันไม่คุ้นชิน ทุกอย่างเต็มไปด้วยคำถาม และคดีของสิรินญากลายเป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบ คนรอบตัวของเธอล้วนตกเป็นผู้ต้องสงสัย รวมทั้งหมอดิน ชายที่เธอรู้สึกดีด้วย
อำนาจรัฐที่ครอบงำสังคมดอนหินกาบ ได้แก่ ตำรวจและนายกเทศมนตรี เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับนักการเมืองท้องถิ่น ยึดครองผลประโยชน์ต่สารพัดในดอนหินกาบ ต่างก็ดูดทรัพย์จากชาวบ้านด้วยวิธีการต่างๆ นานา อำนาจนี้เองยังเกี่ยวข้องกับ “ผู้หญิง” ในหมู่บ้าน อันเป็นที่มาแห่งการตายของสิรินญาและศพที่มีดอกไม้จันทน์วางอยู่บนปาก
กลุ่มอำนาจในดอนหินกาบเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ จึงได้จัดประกวดเทพีขึ้น ความงามของสิรินญาคือตัวอย่างของวัตถุทางเพศที่น่าสนใจ เธองามจนผู้ชายทั้งดอนหินกาบอยากมีอะไรด้วย แต่ในที่สุดสิรินญาก็ต้องเป็น “เหยื่อ” สังเวยอำนาจของผู้ชาย ถูกฆาตกรรม และถูกตราหน้าว่ามั่วผู้ชาย ถูกข่มขืนแล้วฆ่าโดยชายต่างด้าว 3 คน แต่คดีกลับมีเงื่อนงำ และหาตัวคนร้ายไม่ได้
ว่านรักจึงเป็นเสมือนตัวแทนของผู้หญิงที่จำต้องสืบหาหลักฐานเพื่อทำคดีให้แก่ผู้หญิงด้วยกัน จนสุดท้ายคดีพลิก กลายเป็นว่าสิรินญาไม่ได้ถูกละเมิดทางเพศ แต่เธอกลับมีมลทินมัวหมองไปแล้ว จุดที่น่าสนใจของละครโทรทัศน์เรื่องนี้ก็คือ เพราะเหตุใดจึงไม่อาจหาตัวคนร้ายในคดีการตายของผู้หญิงคนหนึ่งได้ และคนร้ายที่ถูกเพ่งเล็งต้องสงสัยก็ล้วนแต่เป็นผู้ชาย เงื่อนงำทั้งหลายในหลงกลิ่นจันทน์จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างชายกับหญิงที่น่าสนใจมาก
เหตุที่บอกว่าน่าสนใจมาก ก็เพราะผู้ประพันธ์และผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ได้สร้างเงื่อนงำให้ผู้หญิงเกี่ยวข้องกับอำนาจในดอนหินกาบ สิรินญาคือตัวอย่างของวัตถุทางเพศ ที่ต้องกลายเป็นเหยื่อของผู้ชาย ร่างทรงหญิงที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณซึ่งทำให้ระบบความเชื่อไหลเวียนอยู่ในชุมชนก็เป็นหญิง และทำงานสนองความต้องการของอำนาจในดอนหินกาบ ในละครโทรทัศน์ตอนแรก เมื่อว่านรักมารับตำแหน่งในวันแรก เธอเกือบถูกล่อลวงไปข่มขืน และก็ได้เห็นหญิงสาวที่ถูกลวนลามโดยคนขับรถสองแถว แต่เธอกลับไม่สามารถเอาผิดชายผู้นั้นได้ เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ของนายกเทศมนตรีซึ่งควบคุมผลประโยชน์รถสองแถว และยังเป็นหัวหน้าของกลุ่มอันธพาลที่ทำงานให้แก่นักการเมืองท้องถิ่น
ดอกจันทน์กะพ้อในนวนิยายและดอกไม้จันทน์ในละครโทรทัศน์คือสัญลักษณ์ของความตาย ซึ่งสารวัตรว่านรักต้องหาคำตอบให้ได้ ในฐานะผู้หญิงที่ต้องคลี่คลายปัญหาของผู้หญิง เมื่อบทสรุปกลายเป็นว่าคนร้ายคือผู้ชายที่อยู่ใกล้ตัว และเป็นผู้ชายที่เกี่ยวข้องกับระบบอำนาจในท้องถิ่นอีกด้วย ชี้ให้เห็นว่า “ผู้หญิง” ในฐานะ “เหยื่อ” จึงมิอาจพึ่งพาอำนาจของผู้ชายให้ช่วยแก้ไขได้ เว้นแต่ “ผู้หญิง” จะช่วยเหลือกันเอง เฉกเช่นที่สารวัตรว่านรักได้กระทำในเรื่องหลงกลิ่นจันทน์
หลงกลิ่นจันทน์ เป็นแนวเรื่องที่น่าสนใจ และทำให้นวนิยายของไทยหลุดออกจากกรอบชีวิตครอบครัว ผัวเมีย ความอิจฉาริษยา และแนวเรื่องแบบเดิมๆ นับเป็นสีสันใหม่สำหรับวงการนวนิยายและวงการโทรทัศน์ เมื่อเห็นกระแสชื่นชมเป็นไปอย่างกว้างขวางก็อดดีใจไม่ได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต่อไปเราจะมีแนวเรื่องแปลกๆ เช่นนี้มานำเสนอมากขึ้น
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ: https://www.facebook.com/Ch7HDDramaSociety/photos