สมัยหนึ่ง กระผมและผองเพื่อนร่วมรุ่นเคยรับรู้ร่ำเรียนมาว่า เพลงยาวเป็นจดหมายรักหรือหนังสือโต้ตอบประชันคารมระหว่างชายหญิงในสังคมผู้ดีสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ครั้งหนึ่งในวงสนทนา เกลอผู้หนึ่งของกระผมขยายความว่า สตรีครั้งกระโน้นไม่มีโอกาสเล่าเรียนเขียนอ่านเพราะผู้ปกครองไม่อยากให้อ่านออกเขียนได้ เกรงว่าจะใช้ความรู้ไปเขียนเพลงยาวโต้ตอบกับหนุ่มๆ ซึ่งกระผมหาได้เชื่อเช่นนั้นไม่
เพลงยาว เป็นรูปแบบอย่างหนึ่งในการแต่งกลอนสุภาพ มีแบบแผนกำหนดไว้ว่า ต้องเริ่มต้นด้วยวรรครับหรือวรรคที่ 2 ของกลอน จะแต่งขนาดยาวกี่คำกลอนสุดแล้วแต่ความต้องการของผู้แต่ง แต่คำกลอนสุดท้ายของวรรคส่ง (วรรคที่ 4) ต้องจบด้วย “เอย” อันเป็นที่มาของคำว่า “ลงเอย” ในสำนวนไทย ส่วนเนื้อหาที่นำไปแต่งเป็นเพลงยาวนั้นมีหลากหลาย หากเป็นจดหมายโต้ตอบประชันคารมทำนองสารรักระหว่างชายหญิง ท่านเรียกว่า “เพลงยาวสังวาส” หากเป็นบันทึกการเดินทาง ท่านเรียกว่า “เพลงยาวนิราศ” เช่น เพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นต้น บรรดานิราศทั้งหลายที่แต่งเป็นกลอน เช่น นิราศของสุนทรภู่ นิราศของมหาฤกษ์ ฯลฯ ล้วนเป็นเพลงยาวนิราศ เช่น นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง หากจะเรียกให้สมบูรณ์ก็ต้องเรียกว่า เพลงยาวนิราศพระบาท เพลงยาวนิราศภูเขาทอง แต่เรามักตัด “เพลงยาว” ออก คงไว้แต่ “นิราศ” เช่น นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง นิราศภูเขาทอง เป็นต้น ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หากนำรูปแบบของเพลงยาวไปเขียนบันทึกทำนองจดหมายเหตุ ท่านเรียกว่า “เพลงยาวจดหมายเหตุ” นำไปเขียนเป็นบทเฉลิมพระเกียรติ ท่านเรียกว่า “เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ” นำไปเขียนเรื่องเกี่ยวกับสุภาษิตคำสอน ท่านก็เรียกว่า “เพลงยาวสุภาษิต” เช่น เพลงยาวสุภาษิตสอนหญิง เพลงยาวถวายโอวาท เป็นต้น กลอนนิทานหรือนิทานคำกลอนขนาดยาวก็มักเริ่มต้นและจบลงตามรูปแบบของเพลงยาว เช่น กากีคำกลอน ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) โคบุตร พระอภัยมณี ของสุนทรภู่
นักเลงเพลงยาวที่ชาวเรารู้จักมักคุ้นกันมากที่สุด คือ สุนทรภู่ เพราะท่านอ้างไว้ในเพลงยาวของท่านว่า “เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร” ซึ่งผลงานของท่านเกือบทุกเรื่องแต่งขึ้นด้วยรูปแบบของกลอนเพลงยาว
สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพลงยาวเป็นการละเล่นของชนชั้นสูงตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนาง เช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักเลงเพลงยาวฝีพระโอษฐ์เอกพระองค์หนึ่งของยุครัตนโกสินทร์ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวกลบทซึ่งยังมีจารึกอยู่ที่วัดพระเชตุพน และอีกพระองค์หนึ่งคือ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าทินกร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา ทรงเป็นจินตกวีสำคัญพระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงแตกฉานการกวีทั้งโคลงและกลอน ทรงพระนิพนธ์โคลงนิราศฉะเชิงเทราซึ่งนับเป็นโคลงนิราศชั้นครูขึ้นเมื่อพระชันษา 25 ปี และยังมีกวีนิพนธ์เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่น บทละครเรื่องแก้วหน้าม้า บทละครเรื่องยอพระกลิ่น และเพลงยาวอีกหลายสำนวน
เพลงยาวกรมหลวงภูวเนตรฯ มีสำนวนเฉียบคม เผ็ดร้อน จนนักเลงกลอนร่วมสมัยต้องจดจำกลอนของท่านได้ ต่อมาถึงปีมะเมีย สัมฤทธิศก พุทธศักราช 2460 โรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง ได้รวมพิมพ์ “เพลงยาวคารมเก่า” ขึ้นเป็นครั้งแรก ประกอบด้วยเพลงยาวของนักเลงเพลงยาวครั้งกรุงเก่าและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเพลงยาวกรมหลวงภูวเนตรฯ รวมอยู่ด้วย กระผมขอคัดมาเป็นตัวอย่างให้ชาวเราได้เห็นความเป็นยอดนักเลงเพลงยาว
ที่นี่เว้นเล่นโน่นแล้วโยนนั่น ไม่มีพรั่นขั้นขาดขยาดแขยง
เทน้ำพริกพลิกถ้วยไปฉวยแกง เพราะหยากได้ไก่พะแนงเอาแกงเท
ด้วยสันดานพานจะโลภละโมบมาก จึ่งจืดจากจับใหม่จนไขว้เขว
น้ำใจกว้างกว่าหนองท้องทะเล ลึกเลเพภูมิราวกับอ่าวญวน
สำเภาเลกเจ๊กจะข้ามขามพายุ เพราะคลื่นกล้าปลาดุพายุหวน
สมอทอดไม่ถึงดินด้วยสิ้นพวน อาโปป่วนปั่นพาเภตราโคลง
คลื่นกระแทกแดกฟัดปัดตะโพก สำเภาตำซ้ำโสโครกโขยกโหยง
กงกระดานกระดูกงูคดคู้โกง เสากระโดงเดาะพับยุบยับเยิน
ต้องตั้วสิวสำเภาเอาเข้าอู่ ทั้งจุ้นจู๊เจบปวดชวดเดิรเหิน
ได้ยินว่าเภตราใหญ่เข้าไปเดิร ได้สินค้าราคาเกินกำไรเรา
เกบมันเทดเจตนาจะหาหัว นี่ทิ้งทั่วไปทั้งยอดตลอดเถา
หรืออวดอิทธิฤทธิแรงไม่แบ่งเบา หม่อมครูเฒ่าเธอสันทัดช่วยหัดปรือ
สำนวนกลอนแรงๆ ดุๆ ของนักเลงเพลงยาวรัตนโกสินทร์ พิมพ์เผยแพร่ไว้เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว หาฉบับอ่านยากมากครับ
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์