เพลงยาวสอนหญิง

-

เป็นสาวแส้แร่รวยสวยสะอาด ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า

แม้นแตกร้าวรานร่อยถอยราคา จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง

กาพย์กลอนสอนหญิงมีหลายสำนวน สมัยกรุงศรีอยุธยามีคำกาพย์สอนหญิงแต่งเป็นสุรางคนาง 28 ไม่ทราบนามผู้แต่ง สมัยกรุงธนบุรีมีกฤษณาสอนน้องคำฉันท์สำนวนภิกษุอินท์ สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีกฤษณาสอนน้อง พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ฯลฯ

ตัวอย่างคำกลอนที่กระผมยกขึ้นมาตอนต้นจากเพลงยาวสุภาษิตสอนหญิงของ “สุนทรภู่” ซึ่งสันนิษฐานว่าท่านน่าจะแต่งขึ้นในช่วงต้นของชีวิต ราวปลายรัชกาลที่ 1  ถึงต้นรัชกาลที่ 2 เพราะคำกลอนในบทนมัสการของเพลงยาวสุภาษิตสอนหญิงมีเนื้อความใกล้กับบทนมัสการในนิทานคำกลอนที่ท่านแต่ง

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาพระภิกษุปกรณ์ ชินวโร แห่งสำนักวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ได้กรุณาส่งสำเนาต้นฉบับสมุดไทยขาว เส้นหมึกมาให้โยมอาจารย์ ธนโชติ  เกียรติณภัทร แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และโยมอาจารย์มีเมตตาแก่กระผม หอบสำเนามาแบ่งปันสู่กันอ่าน เนื้อหาในสมุดไทยเล่มดังกล่าวเป็นกลอนเพลงยาว มีหลายเรื่องหลายสำนวน รวมทั้งสุภาษิตสอนหญิงของท่านสุนทรภู่ด้วย แต่ที่สำคัญคือเพลงยาวสำนวนสุดท้ายของสมุดไทยเล่มนี้ระบุว่าเป็นเพลงยาวสอนหญิง สำนวนนายนรินทรธิเบศ มหาดเล็กในกรมพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ วังหน้าแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รักษาตัวสิ่งชั่วจงวางเว้น ที่ข้อเข็ญอย่าทำไปผ่ายหน้า

ผู้ฉลองจำลองพุทธฎีกา มหาดชาในกรมพระราชวัง

นามนายนรินทรธิเบศแต่ง แกล้งจัดแจงกล่าวกลอนไว้สอนสั่ง

เป็นข้อข้อแต่พอสตรีฟัง ประเสริฐดังดวงแก้วจินดาเอย ฯ

นายนรินทรธิเบศหรือที่แวดวงกวีนิพนธ์ไทยขานนามท่านว่า “นรินทร์อิน” เป็นรัตนกวีเจ้าของผลงาน โคลงนิราศนรินทร์ เพชรน้ำเอกของโคลงนิราศสมัยรัตนโกสินทร์ ผลงานของท่านเท่าที่พบนอกจากโคลงนิราศแล้วยังมีกลอนเพลงยาวสังวาสอีกสำนวนหนึ่ง ขึ้นต้นว่า “โฉมสุคนธารทิพย์ประทิ่นหอม ฤๅสุรางค์นางฟ้ามาแปลงปลอม…”

ส่วนเพลงยาวสอนหญิง สำนวนนายนรินทรธิเบศนั้น กระผมผู้แม้จะคลุกคลีกับวรรณคดีมาช้านาน แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า “มี” ขอขอบคุณโยมอาจารย์ยิ่งนัก โคลงนิราศนรินทร์แต่งเมื่อพุทธศักราช 2352 เพลงยาวสอนหญิงก็น่าจะแต่งขึ้นก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นไม่นานนัก เริ่มต้นด้วยบทนมัสการ ว่า

๏ บังคมบรมเบื้องบทศรี

เป็นหลักโลกย์เฉลิมฟ้าทั้งธาตรี พระชินศรีสอนสัตว์กำจัดมาร

ให้ถึงบุรีรัตน์อมัตโมกข์ จะข้ามโอฆให้พ้นจากสงสาร

ประณตในพระไตรลักษณญาณ เป็นประธานแทนพุทธวัจนา

ฯลฯ

จงอุตส่าห์จำคำที่พร่ำสอน จะถาวรล้ำเลิศประเสริฐศรี

จะเรืองยศปรากฏในธานี เปนอย่างยอดนารีผู้ปรีชา

เพลงยาวสอนหญิงสำนวนนายนรินทรธิเบศมีเนื้อหาทำนองสวัสดิรักษาสำหรับสตรี สอนให้ปฏิบัติตนเพื่อความเจริญ ความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนตามคติความเชื่อ ต่างกับสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ที่เน้นเรื่องกิริยามารยาทและการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ในสังคม

 

แม้นสมสุขสำเร็จเสร็จสรงชล ชำระตนมลทินแล้วขัดสี

อย่าบ่ายพักตร์ขึ้นเหนือสายชลธี ถ้าวารีบนเรือนมิเป็นไร

อนึ่งการจะสงสารซึ่งสังวาส ห้ามขาดอย่าพึงพิสมัย

เมื่อแสงทองส่องโลกย์อโณทัย หนึ่งเมื่อใกล้ตะวันเที่ยงสองเวลา

ห้ามวันสูรย์จันทร์กับวันตัว อย่าให้ผัวส้องเสพเสน่หา

ทั้งวันพระใหญ่น้อยทุกทิวา เข้าวรรษาตรุษสารทแลสงกรานต์

ฯลฯ

ผ้านุ่งแล้วอย่าตัดเป็นเสื้อใส่ แล้วอย่าได้ทำหมอนหนุนซึ่งเกศี

อย่าโพกหัวชั่วช้าพาอัปรีย์ จะเสียศรี…(ชำรุด)

อย่าลอดไม้จุนเรือนแลราวผ้า อย่ากินปลาทั้งตับไม่เป็นผล

อย่ากินแกงค้างคืนจะทรพล อย่าซุกซนล้างหม้อไม่พอดี

นอกจากเพลงยาวสอนหญิง สำนวนนายนรินทรธิเบศแล้ว สมุดไทยของวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานีเล่มนี้ยังมีเพลงยาวคารมระดับยอดฝีมืออีกหลายสำนวน ที่น่าพิศวงคือเพลงยาวว่าด้วยการแต่งกลอนกลบทแบบต่าง ๆ ซึ่งเพลงยาวลักษณะดังกล่าวพบน้อยมาก

วัดทุ่งศรีเมือง ตามประวัติว่าสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 เมื่อพุทธศักราช 2385 เป็นวัดของพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ พระเถระผู้ใหญ่เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี ท่านสร้างวัดนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของเมือง จึงน่าจะมีการคัดลอกตำรับตำราสรรพวิทยาการต่างๆ จากพระนครไปรวบรวมไว้เป็นขุมปัญญาของหัวเมือง ดังนั้นสมุดไทยที่บันทึกความรู้ต่างๆ จากกรุงเทพฯ จึงปรากฏอยู่ที่นั่นด้วย


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน  ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!