เมื่อพูดถึงรูปแบบการอ่าน อย่างที่ทราบกันดีว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังปรับเปลี่ยนจากกระดาษสู่โลกดิจิตอล เช่น แม็กกาซีน หนังสือพิมพ์ นิยาย รวมถึง “การ์ตูน” ปัจจุบันนักอ่านการ์ตูนนิยมอ่านออนไลน์มากขึ้น ซื้อการ์ตูนเล่มในรูปแบบอีบุ๊กกัน และอ่านเป็นตอนๆ ทางเว็บไซต์ คอลัมน์ถนนวรรณกรรมมีโอกาสได้สนทนากับนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่นามปากกา “Lonely cat” หรือ “ประภาพรรณ ภักดีพิทักษ์” ซึ่งเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์บนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นชื่อดังอย่าง WEBTOON เจ้าของผลงาน 365 days limited lover,ฟา องครักษ์หญิงจำเป็น และผลงานล่าสุดของเขาคือ อุนจิ เรื่องวุ่นของพระเอกหมาๆ ถึงการสร้างรายได้ในสายอาชีพนี้ และเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น ช่องทางการเข้ามาเป็นนักเขียนการ์ตูนยังโหดหินอยู่เหมือนเดิมหรือต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ขอถามถึงที่มาของนามปากกาหน่อยค่ะ
เราเป็นคนชอบแมว แต่ก็แพ้ขนแมว ตอนเด็กๆ เพื่อนๆ บอกว่าลักษณะนิสัยและโทนเสียงของเราดูคล้ายแมว เลยมีสัญลักษณ์แทนตัวเองเป็นรูปแมวมาตลอดค่ะ ช่วงที่มาเขียน WEBTOON กำลังเบื่องาน และกำลังเหงาพอดี เลยตั้งนามปากกาว่า “Lonely cat” แบบไม่ได้คิดอะไรค่ะ อายจัง (ฮา)
เรียนจบด้านไหนมา
เราเรียนคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้เรียนอะไรที่เกี่ยวกับการ์ตูนมาเลยค่ะ
แล้วทำไมถึงอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนล่ะคะ
เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็กค่ะ พี่ชายชอบการ์ตูนและเกมมาก เราเลยพลอยได้รับอิทธิพล เคยอ่านการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่ตัวเอกเรียนอยู่มัธยมต้นแล้วเป็นนักเขียนการ์ตูน (ชื่อ ไดอารี่รสคาราเมล ของอาจารย์ Mizusawa Megumi) เราจึงฝันอยากเป็นเหมือนนางเอกในเรื่องบ้าง ครั้งหนึ่งตอนเรียนอยู่มัธยมต้น พี่เคยพาเราไปงานโดจิน (งานขายหนังสือการ์ตูนทำมือ) พอเห็นคนที่ชอบวาดรูปเหมือนกันมีหนังสือของตัวเอง แถมยังหารายได้ได้อีกด้วย เราเลยเริ่มเขียนโดจินบ้าง แต่ด้วยช่องทางในการเป็นนักเขียนการ์ตูนสมัยนั้นยังไม่เปิดกว้างเท่าปัจจุบัน เราจึงทำเป็นงานอดิเรกเพียงเท่านั้น แค่มีประสบการณ์เขียนโดจินเล็กน้อย เคยส่งผลงานประกวดบ้างค่ะ
ก่อนมาเป็นนักเขียนการ์ตูนเคยทำอาชีพอื่นไหม แล้วปัจจุบันยังทำควบคู่อยู่รึเปล่า
เคยเป็นล่ามแปลภาษาญี่ปุ่นค่ะ ทำได้ประมาณ 7-8 ปี ก็เริ่มรู้สึกว่าอยากทำสิ่งที่เป็นผลงานของตัวเองบ้าง ที่จริงงานล่ามก็รู้สึกสนุกและชอบมาก แต่มีข้อเสียเรื่องเดียวคือ เราต้องแปลงสารของคนอื่นซึ่งไม่ใช่สารจากตัวเราเอง จึงลองเบนเข็มมาเขียน WEBTOON ดู ในช่วงแรกยังทำควบคู่กันทั้งงานล่ามและงานเขียนการ์ตูน แต่ปัจจุบันเขียน WEBTOON เป็นงานหลัก ส่วนแปลภาษากลายเป็นงานรองแทนค่ะ ยังรับแปลเกมภาษาญี่ปุ่นอยู่ จริงๆ ก็รักทั้งสองงานเลยค่ะ
เริ่มเข้ามาเป็นนักเขียนการ์ตูนใน WEBTOON ได้ยังไงคะ
ความจริงตั้งแต่ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเรามุ่งเป็นล่ามมืออาชีพโดยไม่ได้สนใจอาชีพอื่นเลย และหยุดวาดรูปไปนานมากๆ พอเรียนจบก็สมัครงานล่ามอย่างที่ตั้งใจ จนอยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนสนิทที่รู้ว่าเราเคยชอบวาดการ์ตูนสมัยมัธยมได้แนะนำให้เรารู้จักแอพฯ LINE WEBTOON และมีการประกวดหานักเขียนหน้าใหม่ ตอนนั้นเรากำลังเบื่อความจำเจของงานที่ทำอยู่ จึงลองส่งผลงานดู พอผลงานได้ลงอย่างสม่ำเสมอสักระยะก็มีนักอ่านติดตามพอสมควร ทีมงานจึงติดต่อกลับจากนั้นก็ได้มาเป็นนักเขียนใน WEBTOON เต็มตัวค่ะ
คุณคิดว่าการเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยในยุคปัจจุบันนั้นยากหรือง่ายกว่าอดีต อาชีพนี้ยังอยู่ไกลเกินฝันไหม
ปัจจุบันพอมีสื่อโซเชียลทุกคนก็ติดต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น การเป็นนักเขียนการ์ตูนก็เช่นกัน เป็นได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนค่ะ หนทางสมัยก่อนมีแค่การเสนอผลงานที่สำนักพิมพ์โดยตรง แถมยังไม่ทราบเสียงตอบรับของคนอ่านด้วย แต่ปัจจุบันหากใครมีความคิดสร้างสรรค์และความตั้งใจ ก็สามารถเผยแพร่การ์ตูนของตัวเองบนพื้นที่สื่อโซเชียลได้ อีกทั้งยังทราบเสียงตอบรับจากคนอ่านในทันที อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดโตขึ้น คนเก่งๆ ก็เพิ่มขึ้น การแข่งขันย่อมทวีความเข้มข้น ในอนาคตนักเขียนการ์ตูนคงเป็นอาชีพหนึ่งที่คนรุ่นใหม่นิยม ดังนั้นถ้าพูดให้ชัดก็คือ ปัจจุบันเป็นนักเขียนการ์ตูนได้ง่ายขึ้น แต่ดังยากขึ้นค่ะ
ว่ากันว่านักเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพหมาป่าเดียวดาย จริงหรือไม่คะ
อาชีพสายเขียนน่าจะโดดเดี่ยวกันหมดนะคะ (ฮา) ส่วนตัวก็คิดว่าจริงค่ะ ที่รู้สึกโดดเดี่ยวคงเป็นเพราะงานส่วนใหญ่เราต้องใช้หัวประมวลผลเอง บางทีก็ขัดแย้งกับความคิดของตัวเอง นั่งทำงานหันหน้าเข้าคอมฯ แถมต้องรับผลกระทบหลังปล่อยงานออกสู่สาธารณะเอง ทุกข์ สุข เหนื่อยคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ นอกเสียจากจะทำงานเป็นทีมก็อาจสบายใจขึ้นที่มีคนช่วยแชร์ความรู้สึกร่วมกัน ส่วนตัวเรานั้นแก้ไขความโดดเดี่ยวโดยการหาเพื่อนสนิทในวงการนักเขียนการ์ตูนด้วยกัน เวลามีปัญหาก็ปรึกษากัน พอลดความเดียวดายลงได้ หรือคุยกับผู้ดูแลก็ได้ค่ะ
อยากให้เล่าถึงกระบวนการทำงานว่ากว่าจะเป็นการ์ตูนหนึ่งเรื่องที่ลงใน WEBTOON ผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง
ขั้นแรกคือ เขียนพล็อตเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ และออกแบบตัวละครหลัก แล้วส่งให้ทีมงานพิจารณา ถ้าพล็อตผ่าน เราต้องลงรายละเอียดของเนื้อเรื่องแต่ละตอน เมื่อได้เนื้อเรื่องโดยละเอียดแล้ว ทีมงานจะให้เราร่างสตอรี่บอร์ดของสามตอนแรก เพื่อดูการเล่าเรื่องในแบบรูปภาพ เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งหมดนี้ได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำต้นฉบับจริง อาจดูเหมือนง่าย แต่ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาร่วมๆ 3-4 เดือน โดยยังไม่นับรวมเวลาก่อนเสนองานกับทีมงาน บางคนอาจใช้เวลาเตรียมตัวเป็นปี หรือครึ่งปี ทีมงานจะพิจารณาในทุกขั้นตอน ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงแก้ไข การสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนว่าจะออกมาในรูปแบบใดระหว่างนักเขียนกับทีมงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ
การเป็นการ์ตูนรายสัปดาห์ ทำให้นักเขียนต้องมีกำหนดส่งทุกอาทิตย์ไม่มีวันหยุดเลยรึเปล่า
การ์ตูนใน WEBTOON เป็นรายสัปดาห์แถมต้องลงสีด้วย ถือว่าโหดมากค่ะ ถ้าไม่วางแผนให้ดี หลายคนที่ไม่ชินอาจปรับตัวไม่ถูก ส่งผลให้ชีวิตการทำงานรวนได้ง่าย ส่วนแผนการทำงานของ Lonely cat นั้น คือกำหนดจำนวนวันทำงานในแต่ละสัปดาห์ให้ชัดเจน หลักๆ กำหนดไว้ห้าวัน แบ่งเป็น วางสตอรี่บอร์ดหนึ่งวัน ร่างภาพละเอียดและตัดเส้นสองวัน ลงสีหนึ่งวัน และเก็บรายละเอียดและจัดหน้ากระดาษหนึ่งวัน เราพยายามควบคุมการทำงานไม่ให้เกินกำหนดเวลาในแผนงานนี้อย่างเด็ดขาด อาจมีบางสัปดาห์ที่วาดยากแล้วทำงานล่วงเวลาบ้าง แต่จะสัญญากับตัวเองว่าต้องได้หยุดอย่างน้อยหนึ่งวันเสมอ เราต้องเผื่อเวลาไว้กรณีที่ผู้ดูแลตรวจแล้วมีการปรับแก้ มีงานด่วนแทรก หรือบางสัปดาห์สุขภาพของเราอาจไม่เอื้ออำนวยในการทำงานค่ะ
แนวการ์ตูนที่ถนัดของคุณ “Lonely cat” คือแนวไหน และมีแนวใดที่อยากเขียนในอนาคต
น่าจะถนัดแนวโรแมนติก-คอเมดี้ค่ะ คนอ่านมักบอกว่าเราชอบตบมุขโบ๊ะบ๊ะ และชอบเขียนซีนจั๊กจี้หัวใจ แต่ความชอบจริงๆ ของเรานั้นคือชอบแนวดราม่า แนวลึกลับซับซ้อน ปรัชญา และการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย (โชเน็น) ในอนาคตก็อยากเขียนแนวเด็กผู้ชายที่อ่านแล้วฮึกเหิมจนอยากลุกขึ้นมาสู้ชีวิตอะไรแบบนั้นค่ะ (ฮา)
จากผลงานเรื่องแรก 365 Days จนถึง อุนจิฯ ผลงานล่าสุด มีพัฒนาการอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง
อย่างแรกสุดคือภาพค่ะ อย่างที่พูดก่อนหน้าว่าเราหยุดวาดรูปไปนาน และไม่ได้ติดตามเทคโนโลยีซึ่งช่วยในการวาดภาพเลย ตอนกลับมาวาดภาพเรื่อง 365 days เราจึงเหมือนนับหนึ่งใหม่ สารภาพตามตรงเรื่องอุนจิฯ เป็นเรื่องที่เราจับทางการทำงานกับ WEBTOON ได้มากที่สุด อีกทั้งในแง่ของการควบคุมคุณภาพตลอดเรื่องก็คงดีกว่าเรื่องที่ผ่านๆ มา
ฟา องครักษ์หญิงจำเป็น ยาวถึง 124 ตอน คุณวางแผนว่าจะให้เป็นเรื่องยาวขนาดนี้ไหม
เรื่องนี้ตั้งใจว่าจะเขียนยาวเกิน 100 ตอนตั้งแต่แรกค่ะ ด้วยความที่ 365 days เราเพิ่งขัดสนิมกลับมาลงสนามการวาดเลยวางจำนวนตอนไว้ไม่ให้ยาวมาก เพื่อประเมินกำลังตัวเอง พอมาถึงเรื่องฟาฯ เหมือนเรากลับสู่สภาพพร้อมลุยเต็มที่ บวกกับเรื่องฟาฯ เป็นการเล่าถึงตำนานเล็กๆ ของคนคนหนึ่ง ถ้าจำนวนตอนน้อยเกินไปอาจสร้างอิมแพคท์ไม่มากพอค่ะ
การเขียนเรื่องที่ยาวมากๆ มีอุปสรรคอะไรบ้าง
การควบคุมเนื้อเรื่องไม่ให้หลุดจากพล็อตที่วางไว้ค่ะ ถึงแม้จะมีการวางลำดับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ไว้ก่อน แต่พอลงมือเขียนจริง ก็ต้องปรับรายละเอียดเล็กน้อยให้เหมาะสมกับจังหวะการเล่าในลักษณะของ WEBTOON เช่น ซีนไฮไลต์ประจำตอน หรือใจความสำคัญของตอน เลยมีการปรับเร่งหรือสลับบางซีนบ้างค่ะ อีกเรื่องคือ เมื่อเล่าเรื่องยาว ตัวละครจะเยอะ คนอ่านมักสับสนหรือขี้เกียจจำ จึงต้องคิดเสมอว่าเล่าอย่างไรให้คนอ่านจดจำตัวละครทั้งหมดง่ายดาย เราต้องย่อยสารหลายๆ รอบ ค่อยๆ จ่ายบทตัวละครใหม่ๆ ที่มีความสำคัญไม่ให้โผล่พร้อมกันพรวดเดียว และต้องมีซีนเด่นที่น่าจดจำค่ะ
แนะนำผลงานเรื่องใหม่ อุนจิ เรื่องวุ่นของพระเอกหมาๆ หน่อย
พระเอกซึ่งเป็นดาราตกอับกลายเป็นสุนัขและมีสาวน้อยเก็บไปเลี้ยง แต่พี่ชายของเธอกลับเป็นดาราสุดฮอตซึ่งเป็นศัตรูหัวใจของเขาซะได้ คอนเซ็ปต์ของเรื่องคือ คำว่า “หมา” เปรียบเสมือนสภาพจิตใจของคนเรายามตกต่ำหรือจนตรอกค่ะ ความตกต่ำในวันนี้จะเชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จบางอย่างในวันข้างหน้า จึงอยากให้คนเรามองความตกต่ำเป็นมุมหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่ไม่เลวร้ายจนเกินไป เราตั้งใจเขียนงานนี้เพื่อเยียวยาจิตใจคนที่รู้สึกท้อแท้เหมือนพระเอก แม้ว่าจะวางเรื่องไว้ไม่ยาวมากประมาณ 60 ตอน ยังไงก็ฝากติดตามกันด้วยนะคะ
การเป็นนักเขียนการ์ตูนนั้นมีความยากหรืออุปสรรคอะไรที่คนนอกไม่ค่อยรู้
การทำงาน “อย่างดีที่สุด” ให้ทันภายในหนึ่งสัปดาห์ค่ะ (น้ำตาไหลพราก) ทั้งการขมวดเรื่อง วางสตอรี่บอร์ดให้น่าสนใจ วาดภาพให้สวย และแต่ละตอนไม่สั้นเกินไป ทุกกระบวนการล้วนแลกมาด้วยพลังชีวิตของคนเขียนมากๆ ค่ะ (ฮา) คนเขียนพยายามทำให้สมบูรณ์ในเวลาจำกัดเพียงเจ็ดวัน แต่บางครั้งในมุมคนอ่าน งานนั้นอาจไม่สมบูรณ์พอ การทำงานให้เร็วและดีจึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุดค่ะ
แล้วมีเหตุการณ์ประทับใจไหมเมื่อได้มาเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้ว
มีน้องแฟนคลับหลายคนซึ่งเป็นโรคซึมเศร้าบอกว่า อ่านการ์ตูนของเราแล้วเหมือนได้รับพลังใจในการมีชีวิตต่อไป ตัวเราเองก็เคยมีภาวะซึมเศร้าจนต้องรักษาระยะสั้นๆ ในงานเขียนของเราจึงพยายามแทรกความคิดบางอย่างที่ช่วยให้คนป่วยใจอ่านแล้วรู้สึกดีขึ้น แม้ว่าเราไม่ได้แทรกเข้าไปแบบชัดเจนนัก แต่บางคนที่ประสบภาวะคล้ายๆ กัน เขาสัมผัสได้ เราจึงรู้สึกประทับใจมากที่ได้มาเป็นนักเขียนการ์ตูนค่ะ
สำหรับคนที่ฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูนบ้าง ต้องเตรียมตัวและเตรียมใจอย่างไร
เตรียมใจมาเยอะเท่าไรก็คงไม่พอเท่าได้สัมผัสเองแน่ๆ ค่ะ (ฮา) แน่นอนว่าถ้าภาพสวย เนื้อเรื่องดีโดดเด่นย่อมได้เปรียบมากๆ แต่สิ่งสำคัญสำหรับการเขียนใน WEBTOON ระยะยาวคือ การทำให้คนติดตามผลงานตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่เลิกอ่านไปก่อนหรือดองไว้ค่อยมาอ่านทีหลัง แค่เนื้อหาโดยรวมสนุกหรือเปิดเรื่องน่าสนใจยังไม่พอ แต่เนื้อหา “ทุกตอน” ต้องสนุกด้วย และสำหรับคนที่อยากทำอาชีพนี้ต้องจัดสรรเวลาพักผ่อนนอนหลับและออกกำลังกายให้ดีค่ะ
ปัจจัยสำคัญอันใดที่ทำให้การ์ตูนเรื่องหนึ่งฮิต
ความกระชับในการเล่ากับการทำให้ทุกตอนอ่านสนุกค่ะ เราไม่ถึงกับเป็นคนวาดรูปเก่งโดดเด่น เลยเน้นจุดแข็งของตัวเองที่การดำเนินเรื่องมากกว่า เนื่องจากคนอ่านสมัยนี้ใจร้อนมากขึ้น การดำเนินเรื่องโดยสร้างปมและเฉลยปมอย่างรวดเร็วแต่ยังประทับใจ มีส่วนช่วยให้คนไม่เบื่อ อีกอย่างคือเสน่ห์ของตัวละคร ต้องมีมากพอที่จะทำให้คนอ่านรู้สึกรักและอยากเอาใจช่วยค่ะ
อาชีพนักเขียนการ์ตูนให้อะไรแก่ตัวคุณ
โรคปวดหลังปวดข้อมือค่ะ (ฮา) อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ทำให้ได้รับความสุข ความทุกข์ รู้จักความอดทน และการอดนอนเหมือนทุกๆ อาชีพแหละค่ะ แต่ที่แตกต่างกันคงเป็นการที่ความสุขนั้นได้มาจากเสียงตอบรับของนักอ่านที่เห็นได้ในทันที
3 เล่มในดวงใจของ “Lonely” cat
- Fullmetal Alchemist แขนกล คนแปรธาตุ
เขียนโดย Arakawa Hiromu
เป็นตำนานในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นเลยค่ะ สามารถเล่าเรื่องสเกลใหญ่ได้อย่างละเอียด มีแนวคิดเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้ง ตัวละครทุกตัวมีเสน่ห์
- Haikyu!! ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน
เขียนโดย Haruichi Furudate
ทุกตัวละครในเรื่องคือพระเอกค่ะ ทุกคนมีสตอรี่ของตัวเองที่ต้องฝ่าฟัน การอธิบายเบื้องหลังความคิดของตัวละครแต่ละตัวมีมิติมากๆ
- Jujutsu Kaisen มหาเวย์ผนึกมาร
เขียนโดย Gege Akutami
อธิบายแนวคิดเรื่องความตายภายใต้ฉากแอ๊คชั่นของเรื่องได้อย่างน่าทึ่ง
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม
ภาพ: LINE WEBTOON