ความเหงา : สิ่งคุกคามใหม่ต่อสุขภาพ

-

สิ่งคุกคามสุขภาพที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็คือการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความดันโลหิตสูง อาหารที่หวานหรือเค็มเกินไป ฯลฯ  อันนำมาซึ่งสารพัดโรค ในปี 2023 มีข่าวเกี่ยวกับสิ่งคุกคามใหม่อีกอย่างของคนอเมริกัน รวมทั้งชาวโลก นั่นก็คือความเหงา ซึ่งอยู่ในรายงานของ U.S, Surgeon General Vivek Murthy ว่าสิ่งคุกคามนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านสุขภาพ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านไปนี้ ประมาณร้อยละ 50 ของคนอเมริกันยอมรับว่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับความเหงาซึ่งส่งผลด้านลบหลายประการในด้านสุขภาพ รายงานฉบับนี้ย้ำว่าคนเหงาเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตเช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน คนนับล้านๆ คนซึ่งอยู่ในความมืดมนเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในปัจจุบันสถาบันที่สร้างความสัมพันธ์ในสังคม เช่น โบสถ์ องค์กรชุมชนสัมพันธ์ เช่น สโมสรโรตารี่ องค์กรการกุศล ฯลฯ กำลังมีบทบาทน้อยลงและอาจถึงคราวล่มสลาย นอกจากนี้การเป็นสังคมที่พึ่งตนเองมากกว่าอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย

มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาในเชิงชีวภาพให้มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เมื่อการตัดขาดทางสังคมอุบัติขึ้น ก็ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในระบบการดำรงชีวิต งานศึกษาพบว่าคนที่ขาดความสัมพันธ์ทางสังคมสุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจสูงขึ้น 29 เปอร์เซ็นต์ สุ่มเสี่ยงจะเป็นเส้นเลือดสมองอุดตันสูงขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ และสุ่มเสี่ยงจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงขึ้น 29 เปอร์เซ็นต์ มีการประเมินในแต่ละปีว่าเนื่องด้วยความเหงาผู้สูงอายุจึงต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่า 6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (237,000 ล้านบาท)

ปัจจุบันนักวิชาการมั่นใจอย่างปราศจากข้อสงสัยว่าความเหงาเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพหลายประการ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมนุษยชาติพึ่งพาการสนับสนุนจากชุมชนเสมอมาเลยอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ได้ แต่เมื่อไม่สามารถพึ่งพาได้อย่างเคย จึงเกิดปฏิกิริยาทางชีวภาพในด้านความเครียดขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าสมองของมนุษย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเมื่อเราอยู่ใกล้กับมนุษย์คนอื่นๆ

งานศึกษาหลายชิ้นพบว่าความเครียดอันเกิดจากความเหงาเกี่ยวโยงกับระดับการอักเสบที่กำเริบในร่างกาย และหากการอักเสบนี้ยังคงเรื้อรัง ก็จะนำไปสู่การทำลายล้างในระดับเซลล์จนก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ  โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ  

มีงานวิจัยโดยทีมนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา ได้ทดลองกับคน 30 คน ให้ตัดขาดหรือเลิกติดต่อคบหากับผู้อื่นโดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 8 ชั่วโมง และติดตามดูผลที่เกิดขึ้น ก็พบว่าระดับพลังงานของร่างกายลดลงไปราวกับว่าไม่ได้รับอาหารมาทั้งวัน คำอธิบายก็คือถ้าไม่กินอาหารก็จะรู้สึกอ่อนเพลียเนื่องจากขาดแหล่งพลังงานสำหรับการเคลื่อนไหวและกระทำสิ่งต่างๆ ในกรณีของการตัดขาดจากสังคมก็คล้ายกัน เพราะมนุษย์พึ่งพาการมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้อื่นเพื่อให้ชีวิตสะดวกขึ้น เมื่อถูกตัดขาดทางสังคมจึงคิดว่าต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น เลยรู้สึกเสมือนว่าหมดพลังไปมาก

คนจำนวนหนึ่งอาจเห็นว่าความเหงาเป็นเรื่องส่วนตัวอันเนื่องมาจากความล้มเหลวเฉพาะบุคคล ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่แก้ไขเองได้ แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดการตัดขาดทางสังคมนั้นเป็นเรื่องของโครงสร้างซึ่งไม่อาจแก้ไขด้วยตนเองได้ เช่น นโยบายของสถานที่ทำงานซึ่งไม่คล่องตัวพอที่จะเกื้อกูลความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  หรือถนนที่ไม่ปลอดภัยก็เป็นอุปสรรคในการติดต่อกันระหว่างเพื่อนบ้าน

หนทางบำบัดความเหงาไม่ใช่การปรับสไตล์การดำรงชีวิตทั้งหมดเพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  หากเป็นการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของชุมชน เช่น โครงการอาสาสมัครช่วยเหลือคนที่อยู่โดดเดี่ยว สร้างสถานที่อันเหมาะสมแก่การพบปะสังสรรค์ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ในโซเชียลมีเดียเพื่อสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ (มีแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มช่วยบรรเทาความเหงา)

โดยสรุป ความเหงาเป็นสิ่งคุกคามสุขภาพเช่นเดียวกับภัยทั้งหลายที่เราคุ้นหูคุ้นตา การพยายามปรับวิถีชีวิตเพื่อคลายความเหงาเป็นการลดการคุกคามเฉพาะบุคคล และความใส่ใจในการช่วยกันลดสิ่งคุกคามที่น่ากลัวเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของเพื่อนร่วมโลกทุกคน


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!