โลกนิติ แปลว่า แบบแผน (การดำเนินชีวิต) ของชาวโลก เดิมแต่งเป็นคาถาภาษาบาลี เนื้อหาเป็นวรรณกรรมคำสอน ต่อมากวีไทยสมัยอยุธยาแปลคาถาในคัมภีร์โลกนิตินำมาแต่งเป็น “โคลงโลกนิติ” ทว่าเนื้อหาในโคลงมิได้นำมาจากคัมภีร์โลกนิติเท่านั้น ยังรวมเอาสุภาษิตไทยโบราณ ภาษิตจากคัมภีร์ธรรมบท คัมภีร์โลกนัยและบางภาษิตมีที่มาจากโศลกภาษาสันสกฤต อาจกล่าวได้ว่าโคลงโลกนิติเป็นวรรณกรรมคำสอนที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในแวดวงวรรณคดีไทย
ต้นฉบับสมุดไทยโคลงโลกนิติสมัยอยุธยาบางเล่มมีเนื้อความลักลั่นตกหล่นเป็นอันมาก จนถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำราสรรพวิทยาการต่างๆ ลงบนแผ่นศิลาประดับไว้บริเวณเขตพุทธาวาสทั่วพระอาราม และโคลงโลกนิติเป็นเรื่องหนึ่งที่โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร ทรงชำระแก้ไขแล้วจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ ด้วย
กระผมขอยกตัวอย่างคาถา “แปลยกศัพท์” สมุดไทยคัมภีร์โลกนิติฉบับอักษรขอมไทย เปรียบเทียบเนื้อความกับโคลงโลกนิติสำนวนสมัยอยุธยา ซึ่งคาถาบทนี้อยู่ตอนต้น คาถาบางตัวไม่ตรงกับฉบับที่พิมพ์เผยแพร่
“๏ นิติหิโลเกปุริสสฺสสาโร มาตาปิตา อาจริโย จ มิตฺโต
ตสฺมานิติํ โยปุริโสวิชา ยานีมหาโหติพหุสฺสุโต จ ฯ
นิติ อันว่า นิตสาตร สาโร จ ชื่อว่าเปนแก่นสารก็ดี ปุริสสฺส แห่งบุรุษ มาตาปิตา จ ชื่อว่าเปนมารดาแลบิดาก็ดี อาจริโย จ ชื่อว่าเปนอาจาริยก็ดี มิตฺโต จ ชื่อว่าเปนมิตรก็ดี ปุริสสฺส แห่งบุรุษ โลเก ในโลกย หิเมาะ ยสฺมา เหตุใด ตสฺมา เหตุดั่งนั้น โยปุริโส อันว่าบุรุษผู้ใด นิติํวิชา รู้ซึ่งนิติสาตร โสปุริโส อันว่าบุรุษผู้นั้น มหาาณี จ มีปัญญามากก็ดี พหุสฺสุโต จ เปนพหูสูตรก็ดี โหตี มี ๚”
นั่นเป็นตัวอย่างวิธีแปลยกศัพท์จากคัมภีร์โลกนิติ ซึ่งกระผมคัดถ่ายถอดจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยและคงอักขรวิธีไว้ตามเดิม ทีนี้ลองพิจารณาโคลงสมัยอยุธยาที่นำเนื้อหามาแต่งขยายความ โคลงสองบทต่อไปนี้ไม่มีในจารึกวัดพระเชตุพนฯ
โลกนิติในโลกล้วน แก่นสาร
คือบิดามารดาอาจารย์ เจี่ยวแล้
เชาเจ้าจ่อมใจบาณ ฑิตร่ำ เรียนแฮ
เบิกศิลปปรีชาแท้ เลิศแล้วเมธี ฯ
นิติศาสตร์สอนสัตว์ล้ำ โลกา
ครูมิตรบิดุรมารดา ดุจแก้ว
ชายรู้นิติปรา กฏทั่ว ทิศพ่อ
เปรมปราชญ์ปรีชาแล้ว เลิศด้วยสดับธรรม ฯ
โคลงดังกล่าวมีที่มาจากคัมภีร์ภาษาบาลี บางบทมีที่มาจากภาษิตโบราณของไทย เป็นคำสอนที่มีมาจากบริบทของวัฒนธรรมไทย เช่น “ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน” คำสอนนี้ไม่ปรากฏในคัมภีร์แต่มีในโคลงทั้งสำนวนสมัยอยุธยาและสำนวนกรมหมื่นเดชอดิศร คือ
สู่เรือนท่านอย่าหนั้ง เนานาน
พูดพลอดเพียงพอการ กลับเหย้า
ขวนขวายกิจการงาน แห่งอาต มานา
กลัวยากเข็ญเป็นเค้า ยากแล้วคนฉิน ฯ
(สำนวนอยุธยา)
ไปเรือนท่านไซร้อย่า เนานาน
พูดแต่พอควรการ กลับเหย้า
ริร่ำเรียนการงาน เรือนอาต มานา
ยากเท่ายากอย่าเศร้า เสื่อมสิ้นความเพียร ฯ
โคลงโลกนิติที่มีที่มาจากภาษิตโศลกสันสกฤตมีอยู่หลายบท เช่น
ชานียานฺ เปรฺษเณ ภฺฤตฺยาตฺ ทานฺธวานฺ วฺยสนาคเม
มิตฺรญฺจาปทิกาเล จ ภารฺยาญฺ จ วิภวกฺษเย ฯ
ดูข้าดูเมื่อใช้ การหนัก
ดูมิตรพงศารัก เมื่อไร้
ดูเมียเมื่อไข้จัก จวนชีพ
อาจจักรู้จิตไว้ ว่าร้ายฤๅดี ฯ
นอกจากโคลงโลกนิติจะเป็นวรรณคดีคำสอนที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมาแต่ครั้งกรุงเก่าสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันแล้ว หนังสือแบบเรียนไทยจินดามณีบางฉบับที่มีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยายังนำเอาโคลงโลกนิติบางบทไปทำเป็นโคลงกลบทให้ผู้เรียนได้ฝึกหัด เช่น กลบทวาฬว่ายสมุทร
ว่าฟังเดื่อพึงมี ให้ดอก
กาแท้ขาวเชื่อเล่า ยังว่า
ริ้นพ่อเท่านะภู เถิดเขาฟังหวัง
แม้นฟังว่าอย่าหญิง แท้ซื่อเที่ยงแล้
จินดามณี ฉบับใหญ่บริบูรณ์ อธิบายถึงวิธีถอนโคลงวาฬว่ายสมุทรไว้ดังนี้
ว่าเดื่อมีดอกให้ พึงฟัง
เล่าว่ากาขาวยัง เชื่อแท้
ริ้นเท่าภูเขาหวัง ฟังเถิด นะพ่อ
แม้นว่าหญิงซื่อแล้ เที่ยงแท้อย่าฟัง
ภาษิตคำสอนโบราณส่วนมากดูเหมือนอะไรดีๆ ก็ยกให้ผู้ชาย อะไรที่ร้ายๆ ไม่พ้นผู้หญิง แม้แต่โลกนิติก็ไม่เว้น
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์