กุ้งมังกรและกุ้งล็อบสเตอร์ มีชื่อว่า lobster เหมือนกัน และอยู่ในไฟลัมย่อยเดียวกัน คือเป็นครัสเตเชียน (crustaceans) ซึ่งหมายถึงสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง กั้ง ปู ลักษณะสำคัญคือมีเปลือกหุ้ม ลำตัวเป็นปล้อง มีรยางค์ยื่นออกมาเป็นคู่ เช่น หนวด ขากรรไกร ขาเดิน และขาว่ายน้ำ เมื่อเจริญเติบโตจะสลัดเปลือกเดิม สร้างเปลือกใหม่
แต่ลักษณะของกุ้งทั้งสองแบบแตกต่างกัน ถ้าไปร้านซีฟู้ดแล้วสั่งมาเปรียบเทียบ จะสามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน
กุ้งมังกร 7 สี มีชื่อไทยว่า กุ้งมังกรประเหลือง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กุ้งหัวโขนประเหลือง” เป็นสายพันธุ์กุ้งที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและบริเวณเกาะในอ่าวไทย มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนหัวและหนวดมีความยาวกว่าส่วนอื่นๆ พร้อมสีสันอันสวยงาม เหตุที่กุ้งมังกรมีราคาค่อนข้างสูงเพราะมันเจริญเติบโตช้า
กุ้งมังกร 7 สี เป็นสัตว์น้ำที่สวยงาม จึงมีผู้นำมาเลี้ยงเพื่อประดับตู้ปลา บ้างก็เป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ซาชิมิ หรือซูชิ เปลือกกุ้งกับหัวกุ้งนิยมทำต้มยำหรือต้มข้าวต้มได้อร่อยอีกด้วย แม้แต่เลือดกุ้งที่เจาะจากหัวกุ้งมังกรสีฟ้าผสมม่วงแกมแดงใสๆ ผสมกับน้ำสไปรท์ทำปฏิกิริยาเหมือนวุ้นเจลลี รสออกเค็ม แต่ส่วนใหญ่จะกระดกทีเดียวหมดแก้ว ตามคตินิยมของจีนเชื่อว่าเลือดกุ้งมังกรมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงทั้งสมรรถภาพและช่วยลดอายุลงถึง 10 ปี แต่ถ้าดื่มในปริมาณที่มากพอก็จะสัมผัสได้ทันทีว่า ร่างกายรู้สึกอุ่น มีพลัง กระชุ่มกระชวย กระแสเลือดไหลเวียนดี คึกคัก กระปรี้กระเปร่า จากนั้นตามด้วยเนื้อกุ้งมังกรซาชิมิหวานๆ จิ้มกับโชยุและวาซาบิ ถ้าได้ลองแล้วจะรู้ว่าคุ้มค่าสมราคา
คนไทยที่อยู่ในเมืองบอสตัน เมื่อมีญาติมิตรจากเมืองไทยมาเยือน มักพาไปที่แหลมรูปตะขอ (Cave Cod) พร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดแบบไทย เพื่อกินกุ้งล็อบสเตอร์ที่มีชุกชุม เพราะกินแบบฝรั่งไม่แซ่บไม่ถูกปาก
กุ้งล็อบสเตอร์กับกุ้งมังกรรูปร่างและลักษณะนั้นไม่เหมือนกัน รสชาติก็ต่างกันด้วย ใครจะไปเลือกซื้อล็อบสเตอร์ต้องดูดีๆ ระวังถูกหลอกเอากุ้งมังกรมาขายให้แทน
ข้อสังเกตง่ายๆ ล็อบสเตอร์มีก้ามใหญ่โต หนวดไม่ยาว แต่กุ้งมังกรนั้นหนวดยาว และไม่มีก้าม แต่ถ้าถามว่าอะไรอร่อยกว่ากัน น่าจะแล้วแต่ความชอบส่วนตัว อันชื่อ Lobster นั้นมาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า loppestre ส่วนภาษาละตินเรียกว่า Locusta (ตั๊กแตน) และ Loppe (แมงมุม) ขึ้นชื่อว่า เป็น “ราชาแห่งท้องทะเล” อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เป็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียน แตกต่างจากกุ้งมังกร 7 สี ที่พบได้ตามทะเลเขตร้อน ข้อสังเกตลำตัวของล็อบสเตอร์มีสีดำปนแดง
กุ้งมังกรอเมริกัน (Homarus americanus) เป็นกุ้งมังกรอีกสายพันธุ์หนึ่งที่พบตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของทวีปอเมริกาเหนือ โดยมากมีชุกชุมตั้งแต่แลบราดอร์ถึงนิวเจอร์ซีย์ ทั้งนี้เป็นที่รู้จักตามชื่อท้องถิ่น เช่น แอตแลนติกล็อบสเตอร์ แคนาเดียนล็อบสเตอร์ ทรูล็อบสเตอร์ นอร์เทิร์นล็อบสเตอร์ แคนาเดียนเรดส์ หรือเมนล็อบสเตอร์ วัดความยาวลำตัวได้ถึง 64 เซนติเมตร (25 นิ้ว) และมีน้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม (44 ปอนด์) มันจึงไม่เพียงเป็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียนที่หนักที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นสัตว์ขาปล้องที่หนักที่สุดในบรรดาสัตว์ขาปล้องที่มีชีวิตอีกด้วย ญาติสนิทของมันคือกุ้งล็อบสเตอร์ยุโรป โฮมารุส แกมมารัส ซึ่งสามารถแยกแยะได้จากสีและไม่มีหนามที่ด้านล่างของลำตัว กุ้งล็อบสเตอร์อเมริกันมักมีสีเขียวอมฟ้าถึงสีน้ำตาล มีหนามสีแดง
ล็อบสเตอร์เป็นสัตว์ที่หาได้ยากกว่ากุ้งมังกร เพราะเหลือจำนวนที่น้อยในธรรมชาติ รวมถึงเจริญเติบโตช้า แต่ทว่ามีความต้องการกุ้งล็อบสเตอร์ในปริมาณสูง จึงต้องออกกฎหมายมาควบคุมการจับล็อบสเตอร์อย่างเข้มงวด เพื่อให้ล็อบสเตอร์สามารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ อีกทั้งเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค
ย้อนไปในยุคกรีกมีตำนานของเทพีแอโฟรไดต์ ผู้เป็นเทพแห่งความรักตามเทพปกรณัม เธอถือกำเนิดจากท้องทะเล แล้วมีความสัมพันธ์อย่างไรกับกุ้งล็อบสเตอร์ คำตอบคือกุ้งนั้นมีสรรพคุณทางยาที่ผู้คนคาดไม่ถึงจึงมีคำเรียกในภาษาอังกฤษว่า aphrodisiac ในทางวิทยาศาสตร์คือสารกระตุ้นความต้องการทางเพศหรือยาโด๊ปนั่นเอง ที่ช่วยความฟิตในยามค่ำคืน การได้ฮอร์โมนอะดรีนาลินช่วยทำให้หัวใจเต้นแข็งแรง
กุ้งล็อบสเตอร์ที่เราเห็นกันทั่วไปนั้น ส่วนมากเป็นแบบเนื้อแข็ง แต่มีความอร่อยตรงเนื้อแน่น หวานและฉ่ำ บางครั้งก็พบเนื้อชนิดพิเศษที่เรียกว่าล็อบสเตอร์เปลือกนิ่ม (ลอกคราบ) คล้ายกับปูนิ่มที่เราชอบกินกัน รสชาติฉ่ำหวานและนุ่ม โดยมากพบได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
แม้ล็อบสเตอร์จะเป็นเครื่องปรุงที่นำมาทำเมนูอะไร ก็ดูเลิศเลอมีราคาสุดแพง แต่ล็อบสเตอร์เคยเป็นอาหารของบรรดานักโทษและทาสที่กินกันจนเบื่อเลยต้องร้องขอกินอย่างอื่นบ้าง ย้อนไปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีบันทึกว่าหากเห็นเปลือกของล็อบสเตอร์อยู่ตามท้องถนน จะถือเป็นสัญญาณของความยากจนและความเสื่อมโทรม เพราะสมัยนั้นล็อบสเตอร์ชุกชุมจนเป็นอาหารหลักของคนยากจน เนื่องจากราคาถูก นัยว่าถ้าเดินไปตามชายหาด แถบรัฐแมสซาชูเซตส์ จะเห็นกองล็อบสเตอร์ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีใครสนใจ จึงหาวิธีกำจัดล็อบสเตอร์ด้วยการนำไปทำอาหารให้นักโทษในเรือนจำกิน เมื่อเหล่าคนร่ำรวยรู้เรื่องเข้า จึงเกิดความไม่พอใจและไม่ยอมให้ล็อบสเตอร์มาอยู่ในมื้ออาหารของพวกเขา
ต่อมาในทศวรรษ 1880 ยุคที่อาหารกระป๋องและการเดินทางโดยรถไฟเริ่มได้รับความนิยม ผู้คนในอเมริกากลางมองเห็นช่องทางการค้าใหม่ คือการทำล็อบสเตอร์กระป๋องขายในราคาถูกจนกลายเป็นอาหารกระป๋องยอดนิยม รวมถึงมีการนำกุ้งล็อบสเตอร์มาปรุงสดเป็นอาหารให้แก่ผู้โดยสารบนรถไฟ ล็อบสเตอร์เลยกลับมาเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนรวยอีกครั้ง และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เดิมเคยถูกทิ้งขว้างก็กลายเป็นสินค้าขาดตลาดเมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น แน่นอนว่ามูลค่าของล็อบสเตอร์ก็ขยับแพงขึ้นด้วย เหล่าเศรษฐีน้อยใหญ่ยอมควักกระเป๋าจ่ายเพื่อแลกมาซึ่งรสนิยมอันหรูหราและรสชาติที่นุ่มละมุนลิ้น หลายปีผ่านไป ล็อบสเตอร์เริ่มไปปรากฏในสลัดบาร์ และในทศวรรษ 1920 ก็กลายเป็นอาหารทางเลือกสำหรับชนชั้นสูง จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ล็อบสเตอร์ก็ยังคงเป็นอาหารหรูจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าล็อบสเตอร์จะเคยมีตำนานอันแสนเจ็บปวดเพียงใด แต่ความจริงอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเปลี่ยนไปเลยก็คือ ล็อบสเตอร์เป็นหนึ่งในเมนูอาหารทะเลที่อร่อยล้ำเลิศเท่าที่โลกนี้เคยมีมา แถมยังถูกอวยยศให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันล็อบสเตอร์แห่งชาติ” ด้วย
อ้างอิง
- KANCIRUK ในชีววิทยาและการจัดการกุ้งก้ามกราม: นิเวศวิทยาและการจัดการ 2523
8 Ways to Cook Lobster Tail Perfectly Every Time
Phuket Aquarium
https://en.wikipedia.org/wiki/American_lobster
คุณพนิตา สืบสมุทร
https://www.beartai.com/brief
https://shorturl.asia/Vd2SK https://shorturl.asia/mMvBT
https://www.xinhuathai.com/order/21907_20190730
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี