ภาษาลาวเป็นภาษาที่เก่าแก่ มีความเป็นมายาวนาน มีวรรณคดี วรรณกรรม นิทาน ตำนาน คลี่คลายมาตามกาลเวลา เดิมทีการตีพิมพ์หนังสือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวถูกผูกขาดโดยหน่วยงานกรมข่าวสารและโฆษณาของรัฐ แต่เมื่อ พ.ศ.2557 ทางการได้ส่งเสริมการอ่านการเขียนมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เอกชนตีพิมพ์หนังสือเพื่อแข่งขันกับกระแสเด็กวัยรุ่นลาวอ่านนิยายไทย แวดวงหนังสือของลาวจึงมีสีสันน่าสนใจและเป็นตลาดที่กำลังเติบโตในอนาคต คำภาษาลาวเกี่ยวกับหนังสือเลยควรค่าแก่การใส่ใจ
ເຈ້ຍ อ่านว่า เจี้ย แปลว่า กระดาษ คำว่าเจี้ยในภาษาลาว สันนิษฐานว่ามีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า จื้อ ในภาษาจีนกลาง หรือ จั้ว ในจีนแต้จิ๋วหมิ่นหนาน และ เกี้ย ในภาษาเวียดนาม ซึ่งล้วนแปลว่ากระดาษเช่นกัน การทำสมุดหนังสือต้องใช้เจี้ย เป็นการตั้งต้นเขียน
ປຶ້ມ ปื้ม หนังสือ คำว่า ปื้ม เป็นคำภาษาลาวเก่าแก่ที่ย้อนไปได้ถึงในพงศาวดาร หมายถึงแผ่นเอกสารที่นำมาผูกรวมกัน คล้ายคำว่า สมุด ในภาษาไทย แต่เมื่อถึงยุคที่มีการตีพิมพ์เย็บเล่มแบบสมัยใหม่ จึงนำคำว่า ปื้ม มาใช้กับหนังสือด้วย อย่างไรก็ตาม ในลาวยังมีการใช้คำว่า ຫນັງສື หรือ หนังสือ ด้วย บางครั้งก็รวมเรียกว่า ປຶ້ມຫນັງສື เป็นคำซ้อน ทั้งปื้มและหนังสือมีลักษณนามว่า หัว (ส่วนภาษาไทยใช้ว่าเล่ม) เช่น ปื้ม 1 หัว ปื้ม 10 หัว คือ หนังสือ 1 เล่ม หนังสือ 10 เล่ม
ໜັງສືພິມ หนังสืพิม หนังสือพิมพ์ เป็นคำลาวที่ใช้ใกล้เคียงกับคำไทย อย่างไรก็ตาม ในประเทศลาวไม่มีหนังสือพิมพ์เอกชนตีพิมพ์จำหน่ายอย่างเต็มรูปแบบ มีเพียงหนังสือพิมพ์ของรัฐเท่านั้น ความนิยมในการอ่านหนังสือพิมพ์จึงค่อนข้างต่ำ เพราะข่าวสารของรัฐสามารถดูทางโทรทัศน์แห่งชาติหรือวิทยุได้อยู่แล้ว
ວາລະສານ วาละสาน คือ วารสาร วารสารของลาวนั้นหมายรวมทั้งนิตยสาร (magazine) และวารสาร (journal) แวดวงหนังสือของลาวมีการตีพิมพ์ ວາລະສານ มากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะวารสารด้านธุรกิจและบันเทิงที่ชนชั้นกลางและวัยรุ่นยุคใหม่สนใจ
ນັກຂຽນ-ນັກປະພັນ นักเขียน–นักปะพัน โดยทั่วไปคนลาวเรียกผู้ที่ทำอาชีพด้านวรรณกรรมว่า ນັກຂຽນ-ນັກປະພັນ นักเขียนนักประพันธ์ อาชีพนี้เป็นอาชีพที่น่านับถือและมีหน้าตาในสังคมมาก
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข