ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้ามาของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมหนังสือ ปัจจุบันเว็บอ่านนิยายออนไลน์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก (e-book) เข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สะดวกต่อการอ่าน จึงมีคนพูดถึงประเด็น “สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” อยู่เสมอ แต่คำกล่าวนั้นเป็นความจริงหรือ?
LIT Fest ไม่เชื่ออย่างนั้น

จุดเริ่มต้นของเทศกาลหนังสือ LIT Fest เกิดขึ้นจากสองหัวเรือหลัก โจ-อนุรุจน์ วรรณพิณ แห่ง Readeryและจ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล เจ้าของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ โจกับเพื่อนๆ พูดคุยกันถึงหัวข้อสนทนานี้ และมีความเห็นตรงกันว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตายแค่ถึงเวลาปรับตัว ประจวบเหมาะกับทางมิวเซียมสยามเชิญชวนจ๊อกว่ามีพื้นที่สนใจทำกิจกรรมอะไรร่วมกันมั้ย จึงเกิดไอเดียเป็นงานหนังสือแบบ outdoor ในสวนครั้งแรกของประเทศไทย

ที่ผ่านมาเมืองไทยมักจัดงานหนังสือในลักษณะของบุ๊คแฟร์ (Book Fair) เน้นการขายหนังสือเป็นส่วนใหญ่ แต่ความพิเศษของ LIT Fest นั้น ต่างจากงานหนังสือทั่วไป เพราะนี่ไม่ใช่บุ๊คแฟร์แต่เป็นงานเทศกาล (Festival) โดยคอนเซ็ปต์ของงานคือมีพ่อเป็นงานสัปดาห์หนังสือ มีแม่เป็นเทศกาลดนตรี แต่งงานกันแล้วมีลูกเป็นงาน LIT Fest ผู้เข้าร่วมงานจึงไม่ได้แค่เสพงานวรรณกรรมเพียงอย่างเดียว แต่จะได้ทั้งชมงานศิลปะ ฟังดนตรี ชมภาพยนตร์ละครเวที อิ่มอร่อยกับอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือได้ภายในงานเดียว

ออล แม็กกาซีน มีโอกาสพูดคุยกับโจ และได้รู้ว่า LIT Fest จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในวงการหนังสือ ทั้งนักเขียน สํานักพิมพ์ ร้านหนังสือ นักอ่าน รวมถึงมิตรสหายในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน เพราะโจเชื่อว่าการสร้างมิตรภาพผ่านการอ่าน จะช่วยต่อเติมจินตนาการ เสริมสร้างแรงบันดาลใจ โจทย์ของงานคือ “ทุกสิ่งล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ” เพราะหนังสืออยู่ในทุกอณูของชีวิต ครอบคลุมตั้งแต่เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ รถยนต์ งานวรรณกรรม ปรัชญา เศรษฐกิจ ฯลฯ เราทุกคนอาจได้แรงบันดาลใจจากหนังสือโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นภายในงานจึงอยากนำเสนอเรื่องนี้เป็นหลัก

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความตั้งใจของงานคืออยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกๆ คน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักหนังสือเท่านั้น คนที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือก็มาเข้าร่วมได้เช่นกัน เพราะกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของงานคือใครก็ตามที่กำลังท้อแท้หมดหวังและอยากได้กำลังใจในการทำอะไรสักอย่าง โจอยากเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมงาน โดยบอกว่า “LIT Fest ไม่ได้มีที่มาจากคำว่า Literature Festival อย่างเดียว แต่ยังมาจากคำว่า Lit it up แปลว่าปลุกไฟด้วย สิ่งที่ทีมงานต้องการมากๆ คือต้องการให้กำลังใจทุกคนที่กำลังท้อแท้หดหู่ เมื่อมางานนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจ ปลุกไฟ เหมือนแฮชแท็ก #หนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! เพราะเราอยากส่งความรู้สึกให้กำลังใจ สู้ๆ นะ ให้กับคุณจริงๆ”

ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมให้ร่วมสนุกมากมาย แบ่งเป็น 8 โซน คือ

1. Showcase
ตลาดนัดไอเดียจาก40สำนักพิมพ์ปกติเราจะเห็นว่ากลุ่มคนทำหนังสือเป็นกลุ่มนักครีเอทีฟกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงใส่ความครีเอทีฟลงมาในงานนี้กันเต็มที่งัดไอเดียเจ๋งๆเท่ๆ มาโชว์กันแบบไม่มีใครยอมใคร

สำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมได้แก่ ยิปซี / แสงดาว / มติชน / สถาพร / นานมี / A book / Library House + Bookmoby Press / กำมะหยี่ / สมมติ / Way of Book / Bookscape / P.S. / เม่นวรรณกรรม / คมบาง / Arty House / ฟ้าเดียวกัน / สารคดี / โครงการมาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์ จำกัด (มวจ.) / BOOKTIME / JLITtle by JLIT / นาบู / Solis / Words Wonder / Earnest / Merry-Go-Round / Legend / อ่านอิตาลี / บทจร / Salmon / BUNBOOKS / BUNSHOU / Happening / Spacebar / Serindia / เคล็ดไทย / River Books / TK Park (โจแอบกระซิบมาว่ากว่าจะจบเทศกาลอาจจะมีนักเขียนและสำนักพิมพ์มาเข้าร่วมเยอะกว่าจำนวนที่ระบุไว้อีกด้วย!)

2.ART & CRAFT
– Book Factoryโดยสำนักพิมพ์ P.S. และ ภาพพิมพ์
สวมวิญญาณบรรณาธิการสร้างหนังสือด้วยตัวคุณเอง มาสนุกกับการเลือกบทที่ใช่จากเล่มที่ชอบ แล้วรวมเล่มเข้าโรงงานเย็บหนังสือ Book Factory งานนี้ความพิเศษอยู่ตรงคุณจะได้สัมผัสกับโอกาสหาได้ยากในการรวมเล่มผลงานจากหลายนักเขียนและหลายสำนักพิมพ์ให้มาอยู่ในเล่มเดียวกัน แถมยังเป็นเล่มสุดพิเศษไม่ซ้ำใคร และที่สำคัญคือมีเพียงเล่มเดียวในโลกเท่านั้น

– Book Blind Date โดย Fathom
เลือกหนังสือในธีม on the edge หนังสือที่พาเราไปที่ขอบ ไม่ว่าจะขอบฟ้า ขอบเหว ขอบของดินแดนใหม่ หรือขอบของอารมณ์ หยิบมาจากบ้านหรือมาเลือกซื้อในงานก็ได้ห่อหนังสือให้มิดชิดแล้วเอามาแลกกัน มีโต๊ะจัดเตรียมให้นั่งห่อหนังสือได้เต็มที่ มาลุ้นมาแลกหนังสือเล่มโปรดของคุณกับหนังสือเล่มโปรดของใครบางคนที่เราก็ไม่รู้ว่าเขาคือใคร แต่ถ้าความชอบของพวกเราตรงกัน มันก็ดูโรแมนติคเล็กๆ เหมือนกันนะ

3. Music & Play
พบกับ 15 วงดนตรีและ 2 ละครเวทีที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจจากหนังสือสู่บทเพลงแต่ละวงคัดมาแล้วว่าเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อาทิ PGVIM Literary Club / Harmonic Distortion / Hers / 2Pcs. / Mints / ชาติ สุชาติ / เจี๊ยบ วรรธนา / Plastic Plastic / ภูมิจิต / Bean Napason / ละคร Animal Farm / ละคร The Cult of Monte Cristo / Aomsin and The Boys / Stoondio / Young Man and the Sea / ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า & Yaak Lab

โจเล่าว่าจากการที่รู้จักนักร้องที่เขียนเพลงเอง พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชอบอ่านหนังสือกันทั้งนั้น โจเชื่อว่าศิลปะสามารถต่อยอดกันได้ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสู่วรรณกรรมหรือวรรณกรรมสู่ดนตรี ก็ต่างให้แรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน ตัวอย่างที่เห็นถึงการผสมผสานดนตรีและหนังสือเข้าด้วยกันได้คืองาน LIT Fest นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์เฉพาะในงานที่ Readery ร่วมกับ สำนักพิมพ์ P.S. ชื่อ “Paper Cut รักกลายเป็นกระดาษ” คือการรวมนักเขียน 4 คนจาก P.S. กับเจี๊ยบ-วรรธนา ออกมาเป็น 4 บทเพลง และ 4 เรื่องสั้น โดยบางเรื่องสั้นอาจเขียนมาจากบทเพลง หรือบางเพลงอาจเขียนมาจากเรื่องสั้นของนักเขียน

4. Movie (ห้องเอนกประสงค์)
สำหรับคนที่ติดตามภาพยนตร์สารคดี คงจะคุ้นดีกับชื่อ Documentary Club โครงการของคนรักสารคดีที่เฟ้นหาและซื้อลิขสิทธิ์หนังสารคดีที่ดีและที่น่าดูจากทั่วโลกมาจัดฉาย ความร่วมมือกันระหว่าง LIT Fest, Documentary Club และสมาคมฝรั่งเศสในครั้งนี้ ภายในงานจึงมีภาพยนตร์ดีๆ เกี่ยวข้องหนังสือและนักเขียนทั้ง 4 เรื่อง มาให้ได้รับชมกัน
– How to Make a Book with Steidl (2010)
ภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของ เกร์ฮาร์ดชไตเดิล (Gerhard Steidl) เจ้าของสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์เก่าแก่ในเยอรมนีผู้มุ่งมั่นผลิตหนังสือแต่ละเล่มด้วยความรัก
– Memoir of War (2017)
ภาพยนตร์จากเค้าโครงบันทึกชีวิตจริงของนักเขียนสาวชาวฝรั่งเศสชื่อดัง มาร์เกอริต ดูราส (Marguerite Duras) ในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2
– Violette (2013)
วิโอแลต เลอดุค หญิงสาวผู้ไร้ความมั่นใจ ได้พบกับซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักเขียนหญิงที่มองเห็นความสามารถในตัวเธอ
– Burning (2018)
ภาพยนตร์เกาหลีดัดแปลงจากเรื่องสั้น “มือเพลิง” (Barn Burning) ของฮารูกิ มูราคามิ(Murakami Haruki)

5. Meet the Writers: LIT Poetry – LIT Tea Time – Board Game with Writers
พบกับนักเขียน นักแปล และบรรณาธิการกว่า 100 คน ร่วมพูดคุยและจิบชาด้วยกันในสวนแบบใกล้ชิดและเป็นกันเองกับบรรดานักเขียนคนโปรด พวกเขาจะรับฟังเรื่องราวของคุณและถ่ายทอดออกมาผ่านบทกวี นอกจากนี้ยังชวนให้เล่นสนุกกับ 4 บอร์ดเกม ที่คัดสรรมาเป็นพิเศษสำหรับผู้ชื่นชอบบอร์ดเกมอีกด้วย

6.Talks (ห้องอาคารพิพิธภัณฑ์)
กิจกรรมTalks น่าสนใจหลากหลายหัวข้อ อาทิ “Museum Walk” ที่นอกจาก Talk แล้วยังพาไป Walk รอบพิพิธภัณฑ์กับสำนักพิมพ์มติชน, เสวนา “Sapiens: เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” โดย สำนักพิมพ์ยิปซี, “ข้อสังเกตบางประการ ว่าด้วยปัญหา ปัญญา และอัตตา ภาพรวมของวงการหนังสือ” โดย นิรัติศัย บุญจันทร์, “โลกในจอก ประวัติศาสตร์ในจาน” โดย ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ กับ ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากสำนักพิมพ์สมมติ และประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย

7. Book Club
ล้อมวงพูดคุยถึงหนังสือเรื่องต่างๆ กับเพจชื่อดังทั้ง The People, แกเคยอ่านเล่มนี้ยัง, จั่นเจาเล่าเรื่อง, ในสาธารณรัฐไวมาร์,ฉัน หนัง สือ, อ่านออกเสียง

8. KIDS
กิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก เด็กร่วมได้ ผู้ใหญ่มาร่วมก็น่ารัก สนุกกับนิทานหลายเรื่องหลากรูปแบบ ทั้งอ่านหนังสือนิทานกับ Mommy Puppet, นิทานของฉันยืดได้หดได้, นิทานดนตรี Toy Puppets and Music Telling, การแสดงนิทานพี่น้อง 999 ตัว, International Storytelling, TK AR ไดโนไดโน่ และมาร่วมทำบัตเตอร์เบียร์จากแฮร์รี่ พอตเตอร์

สำหรับงานกลางสนามเริ่มต้นเวลา 16.00 น. แดดตอนเย็นกำลังอ่อนๆ ไม่ร้อนจนเกินไป พอเข้าสู่ช่วงค่ำคืนลานกิจกรรมและร้านหนังสือต่างๆ จะเปิดแสงไฟสีนวลตา เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้เดินเลือกหนังสือเคล้าเสียงเพลง หรือจะนั่งฟังเพลงพร้อมจิบเบียร์เย็นๆ พูดคุยกับเพื่อนใหม่คอเดียวกันก็ได้ เรียกว่าภายในงานมีกิจกรรมมากมายรอให้ผู้คนตบเท้าเข้าร่วม ปลุกไฟความสนุกในตัวของคุณให้ลุกโชน สมชื่อเทศกาลที่แค่ได้ฟังก็รู้สึก “สนุกไฟลุกพรึ่บ!” แล้ว

ขอเตือนว่าแม้มิวเซียมสยามจะไม่ได้กว้างมากนัก แต่ LIT Fest มีกิจกรรมน่าสนใจเยอะมาก! จึงควรวางแผนให้ดี ไม่เช่นนั้นคุณอาจมาบ่นเสียดายภายหลัง ถ้าพลาดกิจกรรมไฮไลต์ไป สามารถดาวน์โหลดตารางกิจกรรมทั้งหมดหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก @LITFest.th

งาน LIT Fest จัดระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2562
เวลา: งานภายในอาคารเริ่ม 13.00 น. งานกลางสนามเริ่ม 16.00-22.00 น.
สถานที่: มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Museum Siam: Discovery Museum) ถนนสนามไชย พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เข้างานฟรีตลอดเทศกาล!!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่