สมัยผมเป็นเด็ก อ่านนวนิยายฝีมือนักประพันธ์ไทย ‘ไม้ เมืองเดิม’ แผลเก่า บางระจัน แสนแสบ ขุนศึก ฯลฯ ไม่ค่อยชินสำนวน เพราะสำนวนภาษาต่างจากนักเขียนคนอื่น ครั้นโตขึ้นอ่านอีกที พบว่าภาษาดีระดับครู เนื้อเรื่องแม้จะวนเวียนกับวถีชีวิตชาวบ้านลูกทุ่ง แต่ทำได้ดี
งานของ ‘ไม้ เมืองเดิม’ มีไม่มาก เพราะเขาตายตั้งแต่อายุ 37 ปี ทำให้นึกเสียดายว่าผลิตงานน้อยเกิดไป นวนิยายเรื่อง ขุนศึก เขียนไม่จบ
นักประพันธ์ชั้นครูอีกคนหนึ่งคือ ‘ยาขอบ’ (โชติ แพร่พันธุ์) ก็มีอายุสั้น ตายตอน 48 เขียนเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ไม่จบเช่นกัน
‘ไม้ เมืองเดิม’ ชื่อจริงคือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นชาวบางกอก บุตรของหม่อมหลวงปลี พึ่งบุญ และหม่อมหลวงแสง พึ่งบุญ ต้นตระกูลมีฐานะและฐานันดร แต่ครอบครัวของเขากลับยากไร้ ต้องเช่าบ้านญาติอยู่
หลังจากเรียนจบโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ ก็เข้ารับราชการในสังกัดกรมบัญชาการมหาดเล็ก รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รับราชการอยู่สี่ปี ก็ลาออกมาทำงานส่วนตัว แต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เที่ยวเตร่ไปตามหัวเมืองต่างๆ และเริ่มติดสุรา
ใช้ชีวิตเหมือนขอนไม้ที่ลอยยถากรรมไปตามน้ำ
ผ่านไปหลายปี เขาก็เริ่มเขียนหนังสือ ชื่อ เรือโยงเหนือ โดยอิงประสบการณ์ชีวิตของตนเอง แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ใดสนใจ
เขาเขียนอีกเรื่องหนึ่งคือ ห้องเช่าเบอร์ 13 ก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์
เขารู้สึกสิ้นหวัง
เขาโชคดีมีเพื่อนดี คือ เหม เวชกร จิตรกรมือดีของไทย เหมยังเป็นนักเขียน นักแต่งบทละคร เวลานั้น เหม เวชกร ลาออกจากสำนักพิมพ์ เพลินจิตต์ ก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตนเอง ชื่อคณะเหม ออกหนังสือรายวัน เหมให้ก้านเป็นนักเขียนประจำ ใช้นามปากกา ‘กฤษณะ พึ่งบุญ’งานชิ้นแรกที่ได้รับการตีพิมพ์คือเรื่อง ชาววัง
งานของเขาไม่เป็นที่นิยม ก้านรู้สึกสิ้นหวังอีกครั้ง
…………………
วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2479 เหมกับก้านนั่งคุยกันที่ริมทุ่งบริเวณสะพานรถไฟข้ามคลองแสนแสบ เหมบอกเพื่อนว่า อย่าเพิ่งท้อ ให้ลองเขียนเรื่องแนวใหม่
ก้านนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไร
เหมจึงชี้ไปที่กระต๊อบชายทุ่งหลังหนึ่งของชาวบ้านแถบนั้น แลเห็นแสงตะเกียงริบหรี่ลอดออกมา กล่าวว่า “ดูกระต๊อบหลังนั้น แล้วลองคิดดูสิว่า ภายในกระต๊อบเล็กๆ แสงไฟริบหรี่นั้น มีอะไรเกิดขึ้นข้างในนั้น”
คำพูดนั้นจุดประกายให้นักเขียนผู้สิ้นหวังได้คิด เขาสามารถเขียนเรื่องราวของชาวบ้านลูกทุ่ง เรื่องใกล้ตัวที่ไม่มีใครเขียนมาก่อน
ระหว่างที่เขาเดินทางเที่ยวเตร่ไปตามหัวเมืองต่างๆ เขาก็สะสมประสบการณ์ชีวิตชาวบ้าน
ไม่นาน นวนิยายเรื่องแผลเก่าก็ถือกำเนิด
นวนิยายเรื่องนี้เป็นที่นิยมอย่างสูง ด้วยสำนวนใหม่ เรื่องราววิถีชีวิตแบบไทยที่ทุกคนรู้จักดี แต่คนอ่านไม่เคยอ่านในรูปนิยายมาก่อน
เขาใช้นามปากกาใหม่คือ ‘ไม้ เมืองเดิม’
ไม้คือก้าน เมืองเดิมคือ อยุธยาในนามสกุลของเขา
แสงไฟริบหรี่ในกระต๊อบจุดไฟเป็นแสงสว่างเจิดจ้า
คนเราย่อมประสบความลำบาก อุปสรรคของงานและชีวิต แต่การใช้ชีวิตคือการพลิกแพลง การเปลี่ยนมุมมอง หากไม่ท้อถอย ลองมองดีๆ อาจพบ ‘แสงไฟริบหรี่ในกระต๊อบ‘ ที่อาจเปลี่ยนชีวิตเรา
คอลัมน์: ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/