ชีวิตหลังโควิด-19

-

ผู้คนกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 จนมักเห็นแต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จะดีหรือไม่หากเรามาลองพิจารณาดูว่าหลังเหตุการณ์โควิด-19 แล้ว มนุษย์ในโลกโดยทั่วไปจะมีพฤติกรรมอย่างไร การเข้าใจลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ในการปรับตัวเอง ตลอดจนมองเห็นโอกาสของธุรกิจใหม่ก็เป็นได้

โควิด-19 จะไม่หายไปแบบเปลี่ยนจาก 0 เป็น 1 แต่จะค่อยๆ ลดอิทธิฤทธิ์ลงในแต่ละสังคมอย่างไม่พร้อมกัน จนคลี่คลายไปสู่ภาวะปกติที่เป็นอยู่ก่อนปี 2020 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กลับสู่ภาวะปกติได้เร็วหรือไม่อยู่ที่การฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีการคาดการณ์กันว่าภาวะปกตินี้น่าจะเกิดขึ้นประมาณปี 2023 หรือ 2024

แนวโน้มแรก ที่จะเกิดขึ้นก็คือการคิดที่แปลกไปในเรื่องสาธารณสุข การดูแลรักษาสุขภาพ การระแวดระวังเรื่องความเสี่ยงจากการติดโรค การหวาดระแวงสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่แออัดและไม่คุ้นเคย การเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ที่จะยังไม่เลือนหายจากจิตใต้สำนึกของคนทั่วไป

 

แนวโน้มที่สอง คือการระมัดระวังความเสี่ยงในเรื่องการเงิน คนจำนวนหนึ่งที่ “บาดเจ็บ” จากโควิด-19 จะมีความประมาทน้อยลงในเรื่องการเงินการทอง จะรู้จักอดออมและบริหารจัดการเงินอย่างแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการก่อหนี้

แนวโน้มที่สาม คือการเดินทางระหว่างประเทศด้วยระยะทางและเวลาที่สั้นลง การท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นภายในประเทศและภายในภูมิภาคมากกว่าสถานที่ห่างไกลข้ามทวีป เนื่องจากยังหวาดระแวงการเดินทางด้วยเครื่องบินที่ดูจะมีความเสี่ยงสูงในการสูดดมเชื้อโรค

สำหรับประเทศไทย การท่องเที่ยวจะยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ นักท่องเที่ยวจะมีพฤติกรรมในการท่องเที่ยวและใช้จ่ายผิดไปจากแบบแผนเดิม กล่าวคือ จะระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องความสะอาดและการติดเชื้อโรค สถานที่ท่องเที่ยวที่แออัดไม่มีพื้นที่หายใจจะได้รับความนิยมน้อยลง เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับรสนิยมในเรื่องการสาธารณสุข การใช้จ่ายเงินในระบบดิจิตอลเพื่อไม่ต้องสัมผัสธนบัตรจะเป็นที่นิยมมากขึ้น

แนวโน้มที่สี่ รูปแบบการเรียนรู้จะมีลักษณะหลากหลายมากขึ้น เช่น ค้นหาข้อมูลและเรียนรู้จากแพลตฟอร์มใหม่ๆ (Facebook และ Line) ผสมผสานกับการเรียนรู้จากในห้องและออนไลน์ เทคโนโลยีในการเรียนรู้ออนไลน์และจากการส่งสัญญาณจะเกิดขึ้นอีกมากเพื่อสนองตอบความเคยชินในการเรียนรู้แบบใหม่ที่ได้เกิดขึ้นระหว่างการระบาดโควิด-19

แนวโน้มที่ห้า รูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยโดยทั่วไปจะแปรเปลี่ยนไป การพึ่งพาการซื้อของออนไลน์ บริการรับส่งอาหารตลอดจนสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ความจำเป็นในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น รูปแบบการทำมาหากินที่พึ่งระบบดิจิตอลมากขึ้น และประการสำคัญการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ดังกล่าวแล้วจะแพร่กระจาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่กับการท่องเที่ยวในภูมิภาค

แนวโน้มดังกล่าวข้างต้นจะเกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างแน่นอน ควบคู่กับแนวโน้มลักษณะเดียวกันที่จะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วย

“การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์” อาจเตือนใจให้ทุกคนไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยใจเกินไปกับการปรับตัวตามสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!