เพราะรักจึงลงมือทำ “สำนักพิมพ์ Library House” 7 ปีบนถนนวรรณกรรมแปล

-

“วรรณกรรมแปลพาเราเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ บนโลก ไปสัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายของวัฒนธรรมในดินแดนนั้นๆ ประดุจอ่านหนังสือนำเที่ยว แต่ที่มากกว่าคือการพาเราไปนั่งสนทนากับผู้คนที่นั่นผ่านนักเขียนและตัวละครของเขา3 7 ปีที่ยืนหยัดนำเสนอผลงานวรรณกรรมแปลจากประเทศต่างๆ  เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้แก่นักอ่านไทย และขยายพรมแดนสู่วรรณกรรมเยาวชนกับสำนักพิมพ์น้องใหม่ในเครือชื่อ Library Terrace รวมถึงสำนักพิมพ์ Bookmoby Press ซึ่งทำหนังสือเกี่ยวกับหนังสือ โดดเด่นไม่เหมือนใคร ความสำเร็จทั้งหมดนี้เกิดจากความรักสลักใจในหนังสือ และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรค

เริ่มต้นก้าวแรกแบบ “คนนอก”

เราเรียนจบวรรณคดีอังกฤษ ทั้ง ป.ตรีและโท แต่ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จบ เราทำงานในบริษัทข้ามชาติทั้งญี่ปุ่น อเมริกา สิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทค่อนข้างใหญ่ โชคดีที่มีโอกาสเรียนรู้การทำธุรกิจ การติดต่อประสานงาน และการค้าระหว่างบริษัท ซึ่งเป็นประโยชน์มากในภายหลัง  ทำงานไปได้สักพักก็อยากสานฝันที่มีตั้งแต่เด็ก คือการอยู่ในแวดวงหนังสือ แต่เราจะเข้าไปได้ยังไงล่ะ ในเมื่อเราไม่รู้จักใครในวงการ และไม่รู้ต้องติดต่อใคร เรียกว่ามืดแปดด้านเลยทีเดียว นั่งคิดจนได้ข้อสรุปว่า งานแปลน่าจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ จำได้ว่าตอนนั้นเรียน ป.โท อยู่ เรานั่ง BTS ไปสยาม เพื่อไปร้านหนังสือต่างประเทศร้านหนึ่ง แล้วเข้าไปเลือกซื้อหนังสือที่คิดว่าน่าสนใจ ลองแปลเป็นตัวอย่าง 2-3 บท แล้วส่งไปสำนักพิมพ์ต่างๆ กลับไปซื้อหนังสือเพิ่มอีก นั่งแปลอย่างไม่ลดละ และก็ถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน วนลูปอยู่แบบนี้ เหนื่อยนะแต่ไม่ย่อท้อ เราพากเพียรมากช่วงนั้น จนที่บ้านใช้คำว่ามุ่งมั่น เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าแรงฮึดที่มีเรียกว่าแพชชัน รู้แค่ว่าอยากทำสิ่งนี้มากจนหมกมุ่นคลั่งไคล้ 

จากนักแปลสู่วงการลิขสิทธิ์หนังสือ

มีบางสำนักพิมพ์ที่เราส่งงานแปลไป ถามกลับว่าหนังสือเล่มนั้นลิขสิทธิ์ว่างอยู่รึเปล่า ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของนักแปลที่ต้องเช็ก แค่เสนอก็พอ จำได้ว่าใช้เวลาช่วงสงกรานต์ที่สำนักพิมพ์ไทยหยุดติดต่อกับสำนักพิมพ์ที่อเมริกา ถามว่าเล่มนี้มีใครซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้วรึยัง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการติดต่อเรื่องลิขสิทธิ์ด้วยตนเอง  และได้รู้จักเอเจนซีหนังสือในประเทศไทย เช่น บริษัททัตเทิล-โมริ เริ่มเข้าใจธุรกิจในส่วนการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์มากขึ้น 

หลังจากเราเรียนจบ ป.โท เราก็ได้สมัครเข้าทำงานสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แล้วโชคชะตาก็พลิกผันเมื่อเราล้มป่วยจนต้องออกจากงานไปรักษาตัวอยู่สักพัก พอหายป่วยก็มีรุ่นน้องชักชวนให้ทำสำนักพิมพ์อิสระขนาดเล็ก พอเราผ่านการป่วยไข้ก็มีความรู้สึกในใจว่า จากนี้อยากทำงานที่ต้องการจริงๆ จึงออกมาตั้งสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือแปลของเราเองในนาม Library House

แนวทางหนังสือของ Library House

เราเรียนวรรณคดีอังกฤษมา ก็เริ่มจากงานแนวถนัดก่อน เช่น รวมเรื่องสั้นของเวอร์จิเนีย วุฟล์ (Virginia Woolf) และฟรันซ์ คัฟคา (Franz Kafka) เน้นงานวรรณกรรมตะวันตกคลาสสิก ทว่าระหว่างที่ทำแนวถนัดนี้อยู่ก็มองหางานร่วมสมัยด้วย แต่ว่าใครล่ะนักเขียนร่วมสมัยที่ผลงานดีระดับเดียวกับนักเขียนคลาสสิก ตอนนั้นนึกไปถึงโทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) และมาร์กาเร็ต แอ็ตวูด (Magaret Atwood) โชคดีที่ต่างประเทศค่อนข้างให้โอกาสแก่บริษัทที่เพิ่งทำธุรกิจ ตอนนั้น Library House เพิ่งก่อตั้งได้แค่ 2-3 ปี แต่เขาก็มั่นใจขายลิขสิทธิ์ให้เรา ทว่าก็เจอปัญหาโหดหินไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทนี มอร์ริสัน แกละเอียดมาก ขอโพรไฟล์ทุกคนในทีม ทั้งนักแปล บรรณาธิการต้นฉบับ คนออกแบบปก เราก็ส่งไปจนเขาอนุมัติ พอนักเขียนใหญ่ตกลงขายผลงานให้ ทีนี้เอเจนซีเสนอหนังสือจนดูไม่หวาดไม่ไหวเลยค่ะ

เปิดประตูสู่วรรณกรรมโลกวรรณกรรม

ตอนที่ทำวรรณกรรมเยอรมันคือของคัฟคา ก็ได้ขอทุนจากสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ซึ่งเขาก็สนับสนุนอย่างมาก จนเราอยากไปที่สำนักงานใหญ่จังเลย ก็บินไปมิวนิคเพื่อขอคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องการแปล ได้คุยกันไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงแต่เป็นผลดีแก่สำนักพิมพ์เราจนถึงทุกวันนี้ และเราได้ไปงานบุ๊กแฟร์ด้วย จำได้ว่าบูธของโปรตุเกสเตะตามาก มีรูปของฌูเซ่ ซารามากู (Jose Saramago) หลังกลับจากบุ๊กแฟร์เรารีบเช็กเรื่องลิขสิทธิ์ทันที และ Library House ก็เป็นเจ้าแรกที่ตีพิมพ์งานของฌูเซ่ ซารามากู ซึ่งแปลจากภาษาโปรตุเกสโดยตรง 

เรายังตีพิมพ์วรรณกรรมของตุรกี รัสเซีย อิตาลี บราซิล เช็ก ฯลฯ ยังมีประตูวรรณกรรมหลากหลายบานมากที่เราอยากเปิดเข้าไป นำเสนอให้นักอ่านไทยได้รู้จัก

การหานักแปลไม่ใช่เรื่องง่าย

การหานักแปลเป็นเรื่องท้าทายของเราเลยค่ะ อย่างงานโปรตุเกส โชคดีที่เราเคยแปลงานของนักเขียนบราซิล ซึ่งใช้ภาษาโปรตุเกส ผู้แปลอยู่ต่างประเทศ เราจึงได้รู้จักชุมชนไทยผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสนี้ แต่อย่างภาษารัสเซียเนี่ย เราไม่รู้จะหานักแปลจากที่ไหน ครั้นจะเสาะหาไปที่คณะซึ่งสอนภาษานี้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะเจอคนที่อยากทำจริงๆ ไหม เราจึงใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการทวีตในทวิตเตอร์ ว่าสำนักพิมพ์หานักแปลรัสเซียอยู่นะ ปรากฏมีน้องที่เจ๋งมากคนหนึ่งมาสมัคร เขาจบรัฐศาสตร์ แต่วิชาโทภาษารัสเซีย แล้วไปเรียนต่อที่รัสเซีย ใครจะไปคิดว่ามีเด็กรัฐศาสตร์ที่เก่งภาษา โชคดีมากที่เราได้เจอน้องคนนี้ ถ้าเราเดินดุ่มๆ ไปหาตามคณะภาษาก็อาจไม่เจอเด็กแนวนี้

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหาได่ง่ายแบบนี้ทุกครั้ง เรามีโอกาสไปเจอเอเจนซีวรรณกรรมฝั่งตะวันออกกลาง ดินแดนแถบนั้นเขามีภาษามากมายหลากหลาย ถ้าเรามีโอกาสได้เปิดประตูวรรณกรรมแถบนั้นบ้างคงสนุกดี แต่เราจะไปหานักแปลจากไหนล่ะ ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง

เอกลักษณ์อันโดดเด่นของ Library House

หนังสือที่เราทำส่วนมากเป็นงานของนักเขียนหญิง โดยเราไม่ตั้งใจ และเรามีผลงานที่ค่อนข้างหลากหลายของภูมิภาค ไม่จำกัดแค่โลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น ยังมีภาษาอื่นๆ เช่น เยอรมัน อิตาลี รัสเซีย 

นอกจากนั้นคือสตอรี่ที่เรานำเสนอ ไม่ค่อยมีใครตีพิมพ์วรรณกรรมที่เนื้อหาหนักหน่วงรุนแรงอย่างตรงไปตรงมา และไม่ถูกเซ็นเซอร์ ตัวอย่างเช่น วรรณกรรมของโทนี มอร์ริสัน เล่าถึงชีวิตทาสที่ต้องฆ่าลูกทารกของตัวเอง เพราะไม่ต้องการให้ลูกเติบโตมาเป็นทาสเช่นเดียวกับตน หรืองานของมาร์กาเร็ต แอ็ตวูด เรื่อง The Handmaid’s Tale เรื่องเล่าของสาวรับใช้ สาวใช้ซึ่งทำหน้าที่ผลิตลูก เปรียบมดลูกเป็นเครื่องจักร  เราไม่นำพาเนื้อหาต้องห้าม ยิ่งฉาวโฉ่ยิ่งอยากทำ แสดงว่าหาอ่านยาก เช่น งานอีโรติก Delta of Venus เนินนางวีนัส เราลงมือแปลเองเพราะไม่มีใครกล้า ตอนตัดสินใจทำก็กลัวจะถูกเก็บ แต่พอวางขาย คนอ่านก็เข้าใจข้อความที่จะสื่อ ที่ผ่านมาเราอาจติดอยู่ในกรอบของขนบกันเกินไปจนไม่กล้าหยิบยกมานำเสนอ ส่วนตัวมองว่าเนื้อหาเหล่านี้คือการจำลองชีวิตจริง บอกเล่าเพื่อให้เข้าใจชีวิต ให้เห็นความแตกต่างของชีวิต

การแข่งขันในตลาดวรรณกรรมแปล

ช่วงแรกที่เราทำสำนักพิมพ์ขนาดเล็กก่อนจะมาเป็น Library House ยังมีผู้จัดพิมพ์แนวนี้ไม่มาก เราจึงค่อนข้างโดดเด่น ช่วงนั้นสำนักพิมพ์เลือกพิมพ์งานคลาสสิกกัน เพื่อไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ เป็นการลดต้นทุนทางหนึ่ง พอเราเป็น Library House ก็มีเพื่อนสำนักพิมพ์ถือกำเนิดกันมากขึ้น แต่สำหรับเรานั้นยังไม่เพียงพอ เพราะเราเห็นหนังสือต้นทางจำนวนมากมายมหาศาล จนอยากมีเงินสักร้อยล้านเพื่อซื้อมาพิมพ์ทั้งหมด ทว่าหนังสือแนวเราไม่ใช่แนวหวือหวา ต้องใช้เวลาพิสูจน์ และยังมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่คนนอกไม่รู้ เช่น ค่าลิขสิทธิ์ จึงเป็นข้อจำกัดของผู้จัดพิมพ์ในตลาดนี้

Key success คือการกัดไม่ปล่อย

เรากัดไม่ปล่อยถ้าเป็นเรื่องที่เราสนใจ ยกตัวอย่างเอเจนซี สมมติว่าเราอยากทำเล่มนี้ และมีอีกสำนักพิมพ์ที่สนใจเหมือนกัน เราไม่บีบ แต่เราจะเข้าหา เราจะคุยอย่างไม่ลดละ เช่น The Time Traveler’s Wife ความรักของนักท่องเวลา เราก็สู้พรีเซนต์ตัวตนจนได้ลิขสิทธ์มา รอนานมากแต่ก็สำเร็จ 

ในส่วนคนทำงาน ถ้าตอบตกลงร่วมงานกันแล้ว ก็ต้องไปต่อด้วยกันจนจบนะ จะทิ้งงานกลางคันไม่ได้ เพราะมีเรื่องของธุรกิจด้วย เช่นเราซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้มา เราเสนอราคา 5 บาท ลูกค้าขอ 20 บาท ฉันจะหา 15 บาทจากไหนล่ะ เราก็หาวิธีต่อรอง เช่น จ่ายก่อนตอนเซ็นสัญญา 50% นะ แล้วจะจ่ายที่เหลือหลังหนังสือเสร็จ ดังนั้นเรามีกรอบเวลาที่ต้องทำตามกำหนดให้ทัน แล้วโลกของกราฟิกดีไซน์จะใช้อารมณ์ความรู้สึก อาจไม่เข้าใจกรอบธุรกิจซึ่งมีเรื่องค่าปรับหรือบทลงโทษต่างๆ อยู่ เราไม่ปรับคุณ แต่คู่ค้าปรับเรา จะมาอินดี้ โกรธ อันเฟรนด์ไม่ได้ งานก็คืองาน ต้องแยกแยะ เราเคยดุน้องว่า พี่ไม่ได้ใช้เงินพดด้วงในพิพิธภัณฑ์หรือเมล็ดโกโก้แลกนะ พี่ใช้ธนบัตรจริง เงินโอนจริงๆ ไม่ได้เล่นขายของ ไม่ได้ทำธุรกิจเล่นๆ เพราะอย่างน้อยสำนักพิมพ์ก็จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม คนทำงานกับเราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าตอบแทน เพราะเรามีการทยอยจ่ายให้ก่อน เพราะเคยมีประสบการณ์สมัยทำงานแปล 2 ปีกว่าจะได้ค่าจ้าง ผู้ร่วมงานมักจะบอกว่าทำงานกับเราค่อนข้างสบายใจ 

ไม่ตัดราคาพ่อค้าคนกลาง

ในด้านการขายเราฝากผู้จัดจำหน่ายคือบริษัทเคล็ดไทย ด้านออนไลน์เรามีเว็บไซต์ แต่ในนั้นจะขายราคาเต็มและมีค่าจัดส่ง เพราะเราอยากให้ลูกค้าอุดหนุนร้านหนังสือหรือตัวแทนจำหน่ายมากกว่า เราเคยเป็นหุ้นส่วนของร้านบุ๊คโมบี้ ช่วงงานหนังสือร้านเงียบมาก ยิ่งสำนักพิมพ์ลดเองถูกกว่าร้านอีก แต่เราจะมีช่วงเวลาพิเศษปีละครั้ง เช่น วันเกิดสำนักพิมพ์ก็ลดราคาเยอะหน่อย แต่ไม่ได้ลดบ่อยๆ 

อุปสรรคของการเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก

คือข้อจำกัดด้านบุคลากร อย่างที่กล่าวไว้ ไม่มีผู้แปล ไม่มีคนตรวจต้นฉบับแปล นักแปลหลายคนมีงานประจำก็ทำงานได้แค่เสาร์-อาทิตย์ ถ้าถามว่าเกิดจากอะไร คงเป็นโครงสร้างสังคม ซึ่งอาชีพนักแปลไม่สามารถสร้างรายได้มากพอให้เขาอยู่ได้โดยไม่ต้องทำอาชีพอื่น 

เราเชื่อว่าทุกสำนักพิมพ์อยากให้ค่าตอบแทนคนทำงานมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่มันไม่ได้จริงๆ พอได้ยินดราม่าหนังสือแพงก็ทำให้เราน้อยใจนะ สำนักพิมพ์มีค่าใช้จ่ายมากมายที่ต้องแบกรับ และไม่มีใครช่วยซัปพอร์ต  จะพูดออกมาก็ลำบากในเมื่อเลือกที่จะทำเองนี่ อย่างวรรณกรรมแปลภาษาโปรตุเกส เราทำกันนานถึง 2 ปีเสร็จ ถ้าเป็นอาชีพอื่นที่ทำรายได้เยอะๆ ระยะเวลา 2 ปีซื้อรถซื้อบ้านสร้างแบรนด์กันได้แล้ว

3 เล่มที่อยากแนะนำของ Library House, Library Terrace และ Bookmoby Press 

เขียนโดย เอลีฟ ชาฟัค; แปลโดย รังสิมา ตันสกุล และ นพเก้า ลีละศร 

งานของนักเขียนตุรกี เกี่ยวกับหลักบัญญัติสี่สิบข้อของมุสลิม ที่จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์อย่างสันติ ผ่านเรื่องเล่าแนวความรัก เป็นหนังสือที่อ่านแล้วสบายใจ ปล่อยวาง ได้กลิ่นอายความเป็นมุสลิมสมัยใหม่

 

 

 

  • Sugar Child เด็กหญิงน้ำตาล (สำนักพิมพ์: Library Terrace)

เขียนโดย โอลก้า โกรมาว่า; แปลโดย ช้องนาง ปรีชาเจริญศิลป์ 

งานวรรณกรรมเยาวชนจากประเทศรัสเซีย เป็นเล่มที่เทียบเท่าเด็กชายในชุดนอนลายทาง แต่เป็นเวอร์ชันเด็กหญิง ฉากหลังคือสงคราม เด็กหญิงที่จู่ๆ พ่อถูกจับตัวไป จึงต้องเร่ร่อนกับแม่ ธีมของเล่มคือความกล้าหาญ เราหวังว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่อ่านแล้วจะนิยามคำว่าเก่งให้เด็กๆ เข้าใจ ว่าไม่ได้หมายถึงเด็กที่สอบได้ที่หนึ่ง แต่เป็นเด็กที่…

 

 

เขียนโดย คริสโตเฟอร์ มอร์ลีย์; แปลโดย ไอริสา ชั้นศิริ 

ชายคนหนึ่งมีความตั้งใจเร่ขายหนังสือตามบ้าน ลัดเลาะไปตามเส้นทางชนบท เล่มนี้เขียนมากว่า 100 ปี แม้จะเป็นงานเขียนของซีกโลกตะวันตก แต่ก็สะกิดใจถึงสังคมชนบทไทย คงจะดีหากเรามีพ่อค้าหนังสือที่ซอกแซกไปขายยังเชิงเขาหรือชนบทห่างไกลได้บ้าง

 

 

 


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!