(1) มุมมองปรัชญาการเมืองเชิงสังคมแบ่งเป็นซ้ายขวา
ปรัชญาการเมืองเชิงสังคมฝ่ายซ้ายหมายถึง “เสรีนิยม (liberal)” หรือมุมมองความคิด “เปิดรับสิ่งใหม่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานตัวตนเข้ากับความเป็นประชากรโลก ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันของบุคคลเป็นหลัก ให้ความสำคัญแก่เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความหลากหลาย ความเสมอภาค
ปรัชญาการเมืองเชิงสังคมฝ่ายขวาหมายถึง “อนุรักษนิยม (conservative)” หรือมุมมองความคิด “สิ่งเดิมดีอยู่แล้ว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นอัตลักษณ์ของความเป็นชาติและปัจเจกชน ตระหนักว่าสังคมมีลำดับขั้นเป็นธรรมดา แต่ละคนมีบทบาทของตน ให้ความสำคัญแก่เรื่องขนบธรรมประเพณีดั้งเดิมและความเป็นชาติ
มุมมองปรัชญาการเมืองเชิงสังคมส่งผลต่อตลาดทุนน้อยกว่ามุมมองปรัชญาการเมืองเชิงเศรษฐกิจ สถาบันทางการเมืองมักพยายามตอบสนองต่อความชื่นชอบของประชาชนทั้งแบบเสรีนิยมและอนุรักษนิยม ในรูปแบบการตีความออกมาเป็นนโยบายที่สามารถบังคับใช้ได้จริง และย้อนกลับไปยังปรัชญาหลักของแนวคิดด้วย
ยกตัวอย่าง นโยบายการสร้างกำแพงกั้นชายแดนประเทศ สะท้อนความต้องการแบ่งตัวตนของชาติออกจากประเทศอื่น นโยบายการประกาศสงคราม สะท้อนความต้องการเน้นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยมีประเทศอื่นเป็นศัตรู นโยบายสมรมเท่าเทียม สะท้อนความต้องการสร้างการยอมรับความเท่าเทียมทางเพศในสังคม นโยบายเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง สะท้อนถึงความต้องการเพิ่มหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพในสังคม
เนื่องจากมุมมองปรัชญาการเมืองเชิงสังคมจะเป็นการพูดถึงอุดมคติทางอุดมการณ์มากกว่าประเด็น “เปิดรับสิ่งใหม่” หรือ “สิ่งเดิมดีอยู่แล้ว” นั่นจึงทำให้หลายครั้งนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้สะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมา แต่ประโยชน์หรือโทษที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในแต่ละนโยบาย
เช่น อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างย่อมได้รับประโยชน์จากนโยบายสร้างกำแพงกั้นชายแดนประเทศ อุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์สงครามย่อมได้รับประโยชน์จากนโยบายด้านการทหารและสงคราม อุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศเป้าหมายย่อมเสียผลประโยชน์จากนโยบายประกาศสงครามการค้าและกำแพงภาษี
ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองเชิงสังคมผนวกเข้ากับการลงทุนแล้ว นักลงทุนจึงต้องมองแยกแต่ละประเด็น หรืออาจวิเคราะห์แต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรม อย่างอุตสาหกรรมพลังงาน หากเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ภาคการเมืองมักสนับสนุนพลังงานดั้งเดิมอย่างถ่านหินหรือพลังงานจากปิโตรเลียม แต่หากเป็นฝ่ายเสรีนิยม ภาคการเมืองมักสนับสนุนพลังงานสะอาดอย่างพวกพลังงานทดแทนต่าง ๆ
เสรีนิยมหรืออนุรักษนิยมจึงไม่อาจตอบโจทย์ได้ชัดเจนว่าแบบใดประเภทใดเอื้ออำนวยตลาดทุนมากกว่า เพราะประเทศที่มีประชาธิปไตยแข็งแรงมากอย่างสหรัฐอเมริกา พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งก็สลับกันไปมาระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม แต่ในระยะยาว ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นขาขึ้นอยู่ดี
(2) มุมมองปรัชญาการเมืองเชิงเศรษฐกิจแบ่งเป็นซ้ายขวา
ปรัชญาการเมืองเชิงเศรษฐกิจฝ่ายซ้ายหมายถึง “สังคมนิยม (socialism)” หรือมุมมองความคิด “รัฐต้องเข้าไปแทรกแซงเศรษฐกิจให้มาก” มุมมองของสังคมนิยมเห็นว่าแต่ละคนในสังคมมีโอกาสเชิงเศรษฐกิจไม่เท่ากัน ดังนั้น รัฐจึงต้องเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงให้คนแต่ละคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น นโยบายสำคัญที่โดดเด่นของสังคมนิยมคือรัฐสวัสดิการ
ปรัชญาการเมืองเชิงเศรษฐกิจฝ่ายขวาหมายถึง “ทุนนิยม (capitalism)” หรือมุมมองความคิด “รัฐต้องเข้าไปแทรกแซงเศรษฐกิจแต่น้อย” มุมมองของทุนนิยมเห็นว่าตลาดเงินมีกลไกมือที่มองไม่เห็นทางเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว รัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงแบ่งประโยชน์ให้คนในสังคม คนทำมากควรได้มาก คนทำน้อยควรได้น้อย รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ระบบตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายสำคัญที่โดดเด่นของทุนนิยมคือการเพิ่มความแข็งแกร่งของภาคเอกชน
มุมมองปรัชญาการเมืองเชิงเศรษฐกิจส่งผลต่อตลาดทุนมากกว่ามุมมองปรัชญาการเมืองเชิงสังคม เพราะมุมมองของสังคมนิยมและทุนนิยมเป็นมุมมองต่อลักษณะตลาดทุนโดยตรงอยู่แล้ว รูปแบบเชิงนโยบายจึงมักมีความคล้ายคลึงกัน และทำนายถึงผลลัพธ์ที่จะตอบสนองในตลาดทุนได้ค่อนข้างง่ายกว่าเสรีนิยมและอนุรักษนิยม
สังคมนิยมนั้นมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีรายได้มากกับคนที่มีรายได้น้อย นโยบายหลักจึงมักเป็นการเพิ่มการเก็บภาษีคนที่มีรายได้มาก เช่น ภาษีการครอบครองที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีผู้ที่มีทรัพย์สินมาก
นอกจากนี้ความต้องการหลักของสังคมนิยมอย่างรัฐสวัสดิการก็จำเป็นต้องใช้เงินมาก รัฐบาลที่เน้นสังคมนิยมจึงต้องเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อนำมาใช้จ่าย นโยบายที่มักเจอคือการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีนิติบุคคล และนำมาเพิ่มสวัสดิการประชาชน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ หลักประกันสุขภาพ
ส่วนทุนนิยมมุ่งเน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งของภาคเอกชน นโยบายหลักจึงมักเป็นการลดการเก็บภาษีภาคธุรกิจเพื่อจูงใจให้เอกชนลงทุนมากและกระตุ้นให้เศรษฐกิจโต เช่น การลดภาษีนิติบุคคล การลดกำแพงภาษีระหว่างประเทศ การลดภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการสร้างเขตเศรษฐกิจ
ความคิดของทุนนิยมตรงกันข้ามกับสังคมนิยม มองว่าประชาชนทุกคนเป็นปัจเจกและรัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง รัฐไม่ได้มีหน้าที่เกลี่ยหรือจัดสรรให้คนมีสวัสดิการใกล้เคียงกัน ทุนนิยมจึงมักไม่ให้ความสำคัญแก่นโยบายรัฐสวัสดิการ เงินที่ต้องจ่ายของรัฐเลยลดลง ภาษีที่รัฐจะต้องเก็บก็ลดลง ประชาชนและภาคเอกชนก็เหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ไม่มีแนวคิดไหนทางการเมืองถูกต้องสมบูรณ์แบบ ไม่มีรัฐไหนที่เป็นสังคมนิยมสมบูรณ์ (ไม่ใช้ระบบตลาดเงินในประเทศ) ไม่มีรัฐไหนที่เป็นทุนนิยมสมบูรณ์ (ไม่ใช้รัฐบาลในการบริหารประเทศ) เฉดสีทางการเมืองของแต่ละประเทศจึงมักเปลี่ยนไปตามปัจจัยทั้งภายในและภายนอกในแต่ละช่วงเวลา นักลงทุนที่สนใจจึงต้องอ่านปรากฏการณ์ทางการเมืองให้ออกเพื่อเชื่อมโยงผลกระทบที่จะส่งต่อมายังตลาดทุน
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน
เรื่อง: “ลงทุนศาสตร์”