ปล่อยวางความรัก

-

ตำนานหนึ่งในพุทธประวัติเล่าว่า หญิงวรรณะแพศย์คนหนึ่งนามนางกีสาโคตมีเถรี ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี คร่ำครวญว่านางสูญเสียบุตร

นางต้องการยาวิเศษที่ฟื้นชีพบุตรนาง

พระพุทธองค์ทรงรู้ว่าจะกล่อมนางอย่างไรก็ยากจะคลายความโศกเศร้า จึงแนะนำให้นางไปหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย หากหาได้ก็จะสามารถฟื้นชีพบุตรนางได้

ปรากฏว่านางกีสาโคตมีเถรีก็ไปเสาะหาเมล็ดพืชนี้มาที่ต่างๆ ก็ไม่มีสักบ้านที่ไม่เคยมีคนคนตาย

พลันนางก็ได้สติ ได้คิดว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เกิดแล้วต้องตายทุกคน หลังจากนั้นนางก็สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล และในกาลต่อมาก็บรรลุอรหัตผล

การที่นางแสวงหายาฟื้นชีพบุตรนางย่อมเกิดขึ้นเพราะความทุกข์ของการสูญเสียบุตร ผลักดันให้นางหลอกตัวเองว่าโลกมีปาฏิหาริย์ที่จะทำให้ปัญหาของนางหายวับไป ในที่นี้ก็คือยาวิเศษ

ยาวิเศษก็คือความหวัง เป็นแสงสว่างเดียวของคนที่จมในโลกทุกข์

ทว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ก็ยังมีคนคาดหวังจะพบยาวิเศษดังกล่าว

…………………

ชาวโลกจำนวนหนึ่งเมื่อเสียคนที่รักไปกับความตาย ก็ปฏิเสธความจริงนั้น มุ่งเข้าหายาวิเศษ

ยาวิเศษในศตวรรษที่ 21 คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า Cryonics

มาจากคำกรีก kryos แปลว่าเย็น

แช่ศพที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อรอวันเวลาที่โลกจะมีวิทยาการคืนชีวิตคนได้

ในต่างประเทศมีบริการแช่แข็งศพ เพื่อรอวิทยาการคืนชีพคน

ในวงการวิทยาศาสตร์ Cryonics เป็นได้แค่วิทยาศาสตร์เทียม เพราะมันเล่นกับความหวังมากกว่าวิทยาศาสตร์จริงๆ

เราต้องการความหวัง เพราะเราไม่อาจทำใจกับความสูญเสียได้

นี่กระทำเพราะความรักล้วนๆ แต่บางทีก็อย่างที่ว่า ความรักทำให้ตาบอด มองไม่รอบด้าน

คนที่แช่แข็งศพคนที่รักไม่ได้คิดไกลว่า สมมุติว่าคนตายคืนชีพมาในศตวรรษที่ 23 หรือ 24 ในสภาพโลกที่เปลี่ยนไป ภาษาและเส้นพรมแดนอาจเปลี่ยนไป เขาหรือเธอจะอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีครอบครัว ยกเว้นสมาชิกทุกคนแช่เข็งไปด้วย

พวกเขาไม่รู้ว่าโลกในหลายร้อยปีข้างหน้าอยู่กันอย่างไร มนุษยชาติจะเป็นอย่างไร สภาพโลกร้อนทำลายโลกไปถึงไหนแล้ว อาจมีความเป็นไปได้ว่าสภาพโลกในอนาคตอาจเลวร้ายกว่าความตายในตอนนี้ร้อยเท่า

เราไม่รู้อะไรทั้งนั้น เพราะเราถูกบดบังด้วยความหวังและยาวิเศษ

…………………

ในปี 1950 หลังจากที่พ่อคนหนึ่งสูญเสียบุตรชายอายุน้อย เขาเขียนจดหมายถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการกับชีวิต 

ไอน์สไตน์ก็เขียนตอบพ่อคนนั้นไป ต่อมาตีพิมพ์ใน The New York Times และ The New York Post ในปี 1972

แต่ก่อนที่เราอ่านคำตอบของไอน์สไตน์ ลองสมมุติว่าพ่อคนนั้นเขียนจดหมายไปถามปราชญ์กรีก เอพิคทีตัส ที่มีชีวิตอยู่เมื่อสองพันปีที่แล้ว เขาจะได้รับคำตอบว่าอย่างไร

เอพิคทีตัสเป็นนักปราชญ์กรีกสาย Stoicism ซึ่งเป็นปรัชญาที่ใช้กับการดำเนินชีวิต เขามีคำตอบเรื่องความสูญเสียคนที่รักเช่นกัน

เมื่อใครคนหนึ่งสูญเสียคนที่เขารัก ปราชญ์เอพิคทีตัสบอกว่า “ไม่ว่าจะเป็นอะไร จงอย่าเอ่ยว่า ‘ฉันสูญเสียมัน’ แต่พูดว่า ‘ฉันได้คืนมันกลับไป’ ลูกของเจ้าตายหรือ? เด็กถูกคืนไปต่างหาก ภรรยาเจ้าตายหรือ? นางถูกคืนกลับไปต่างหาก

ปรัชญา Stoicism บอกว่าความสุขความทุกข์ไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอก มันเป็นมุมมองของเราต่างหาก

หากเรามองว่าเราสูญเสียอะไรไป ก็เท่ากับคิดว่าเราเป็นเจ้าของสิ่งนั้น แต่ในความจริงเราไม่เคยเป็นเจ้าของอะไร เราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใด ถ้าเรามีคนรัก ก็อย่าได้คิดว่าคนรักเป็นของตาย ของเราคนเดียว ให้มองว่าใครคนนั้นผ่านมา แล้วผ่านไป ไม่ยั่งยืน เหมือนนักเดินทางมองโรงแรม

Stoicism ชี้ว่าอาจจะเป็นความผิดพลาดที่คิดว่าความสุขของเรามาจากคนภายนอก มันเป็นแค่มุมมองของเราต่างหาก

…………………

ก็มาถึงคำตอบของไอน์สไตน์ เขาเขียนตอบพ่อคนนั้นว่า

“มนุษย์คนหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งรวมที่เราเรียกว่า ‘จักรวาล’ เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกจำกัดด้วยเวลาและที่ว่าง เขารับรู้ตัวตนของเขา ความคิด และความรู้สึกของเขา ว่าเป็นบางสิ่งที่แยกออกมาจากส่วนที่เหลือ เหมือนภาพลวงตาแห่งสติสัมปชัญญะ สิ่งลวงตานี้เป็นเหมือนคุกของเรา จำกัดเราอยู่ภายในความต้องการส่วนตัวและความรู้สึกของเราต่อคนไม่กี่คนที่ใกล้ชิดเรา หน้าที่ของเราจะต้องปลดปล่อยตัวเราเป็นอิสระจากคุกนี้ โดยขยายขอบเขตของวงแห่งความเมตตาต่อสรรพชีวิตและธรรมชาติทั้งมวลในความงามของมัน ไม่มีใครสามารถกระทำเรื่องนี้ได้ครบถ้วน แต่การมุ่งหาเป้าหมายนี้ในตัวมันเองคือส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยและรากฐานของความมั่นคงภายใน

ไอน์สไตน์คล้ายจะบอกว่า ประสบการณ์ความเป็นมนุษย์อาจจะกว้างกว่าแค่ตัวเราเอง

โลกรู้จัก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่ง แต่ไอน์สไตน์ก็มีมุมมองด้านปรัชญาและชีวิตที่ลุ่มลึกเช่นกัน เมื่อรวมกับความรู้เรื่องจักรวาลของเขา ก็เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจ และบางส่วนคล้ายๆ พุทธ

ในมุมมองของไอน์สไตน์ เขาน่าจะมองเรื่องนี้ในประเด็น ‘ประสบการณ์การเป็นมนุษย์’ ซึ่งเป็นท่อนหนึ่งของภาพรวมชีวิตทั้งหมดในจักรวาล

ชีวิตเป็นเช่นนั้นเอง ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปของชีวิต

การพลัดพรากจากสิ่งที่รักย่อมเป็นทุกข์ แต่ความตายเป็นเพียงการแปลงสภาพของเรา เป็นธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้นเอง

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเกิดความผูกพันกับสิ่งที่รักจนไม่ยอมปล่อยเมื่อสิ่งนั้นหมดสิ้นวาระชีวิตบนโลกไป แต่หากเราไม่ฝึกทำความเข้าใจและเตรียมใจรับ ความตายของคนที่เราผูกพันก็จะเป็นเรื่องหนักทับถมจิตใจ และเมื่อเราทุกข์มากๆ ก็อาจแสวงหายาวิเศษมาแก้ปัญหานี้

การพลัดพรากย่อมเจ็บปวด แต่หากเรารองรับด้วยความเข้าใจ มันก็อาจบรรเทาหรืออย่างน้อยระยะเวลาของความเจ็บปวดก็สั้นลง

ถ้าไม่เข้าใจสัจธรรมนี้ ก็ยากทำใจ เมื่อไม่ยอมปล่อย ก็จมในความทุกข์

การปล่อยเป็นหัวใจของแนวคิดทางพุทธ แต่เป็นเรื่องยากมาก

การสูญเสียคนรักเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่การไม่ยอมรับความจริงมีแต่ยืดให้ความเจ็บปวดยาวนานออกไป 

 

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/


คอลัมน์: ลมหายใจ

เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!