ออลฯ ภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้นำเสนอเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ครั้งนี้เราได้สนทนากับ ‘ลีโอ’ อธิป โสดา หรือ ลีโอ ไมค์หมดหนี้ฯ ลูกทุ่งรุ่นใหม่มากความสามารถผู้คว้าแชมป์รายการไมค์หมดหนี้ เสี่ยงโชค ต่อเนื่องนานถึง 200 สมัย ได้เป็นคนที่ 2 ตามรอยรุ่นพี่แชมป์เก่าอย่าง ‘ไรอัล’ กาจบัณฑิต แม้ลีโอจะอายุเพียง 19 ปี แต่ลีลาลูกเอื้อนลูกคอของเขาเก่งกาจเกินอายุ บวกกับความกตัญญู ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน และพลังบวกที่มี ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแม่ๆ แฟนคลับของเขาถึงรักและเอ็นดูกันมากขนาดนี้
ฉายแววนักร้องรุ่นจิ๋ว
ลีโอเล่าถึงพื้นเพครอบครัวให้เราฟังว่า เดิมคุณพ่อคุณแม่เป็นคนศรีสะเกษ แต่มาทำงานและสร้างครอบครัวที่กรุงเทพฯ พ่อประกอบอาชีพช่างซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ส่วนแม่มีอาชีพค้าขาย ลีโอเป็นลูกคนเดียว เกิดและโตที่กรุงเทพฯ ฐานะครอบครัวอยู่ระดับปานกลางค่อนไปทางสู้ชีวิต พอเริ่มรู้ความ ลีโอก็ช่วยงานคุณแม่ขายเสื้อผ้า ด้วยความที่คุณแม่ชื่นชอบเพลงลูกทุ่งมาก จึงอยากเห็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนร้องเพลงลูกทุ่ง
“ผมร้องเพลงครั้งแรกตอน ป.1 แม่พาไปออกงาน เป็นการขึ้นเวทีเล่นๆ ไม่จริงจัง งานจัดที่บ้านศรีสะเกษ เราเตรียมเพลงไปร้องโชว์หนึ่งเพลง ร้องจบก็ไม่ได้สานต่ออะไร จนเรียนชั้น ป.4 ที่โรงเรียนมีครคนหนึ่งมองหาเด็กที่มีแววมาฝึกร้อง ครูจะให้เด็กแต่ละคนร้องเพลงให้ฟัง บังเอิญว่าเพลงที่แม่ฝึกให้ผมร้องโชว์ตอน ป.1 คือเพลงคาถามหานิยม ซึ่งเป็นเพลงเดียวกับโจทย์ที่ครูให้ร้องทดสอบ ผมร้องได้อยู่แล้ว แค่ยังไม่มีหลักการร้องที่ถูกต้อง ก็ร้องไปตามความรู้สึก ครูเกิดสนใจ เลยเลือกผมมาฝึกฝน จากนั้นพาเดินสายประกวดในโรงเรียนและตามโรงเรียนต่างๆ”
คุณแม่ดีใจไหมที่ลีโอสนใจการร้องเพลง “ใช่ครับ แม่อยากให้ผมร้องอยู่แล้ว ทีนี้ยิ่งผลักดัน พาผมไปหาประสบการณ์ตามเวทีประกวดนอกเหนือจากการแข่งภายในโรงเรียน เช่น งานวัด ช่วงแรกที่ยังเรียนอยู่ประถมเดินสายแค่ในกรุงเทพฯ แล้วพอเข้ามัธยมก็เริ่มออกสู่เวทีต่างจังหวัด ไปทุกที่ที่มีการจัดประกวด ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ตะวันออก ตะวันตก แม่ขับรถพาไปทุกแห่ง”
สู่เส้นทางล่ารางวัลการประกวด
ถามถึงผลการประกวด ลีโอเล่าว่าช่วงแรกของการเดินสายนั้น เน้นเข้าร่วม ไม่เน้นเข้ารอบ เพราะแทบไม่ได้รางวัลติดมือเลย “เรายังเด็กมากฮะ ตื่นเวที ตื่นคน ตื่นกรรมการ เพลงลูกทุ่งที่ร้องก็ไม่ชิน ได้แม่ช่วยเทรน อันที่จริงพ่อกับแม่ร้องเพลงไม่เป็นหรอก แต่เขาชอบฟัง จึงพอจะแนะได้ว่าควรเป็นแบบไหน กล่าวได้ว่าแม่คือหนึ่งในครูสอนร้องเพลงของผม จากนั้นผมได้เรียนร้องเพลงอย่างเป็นงานเป็นการ ครูคนแรกเป็นผู้ที่เดินสายประกวดเหมือนกัน แต่เป็นรุ่นผู้ใหญ่ เขามีอายุแล้วแต่ยังล่าฝันอยู่ เราไปเจอเขาตามงานประกวด เลยฝากตัวเป็นศิษย์ ได้เรียนพื้นฐานการร้องเพลงลูกทุ่ง และเป็นครูคนเดียวที่ติวให้หน้างานเลย เพราะประกวดงานเดียวกัน (หัวเราะ) เรียนกับครูคนนี้นาน 2-3 ปี เหมือนเราสำเร็จวิชาแล้ว ก็แสวงหาความรู้เพิ่มเติมต่อ ครูคนที่สองจะลงรายละเอียด เขียนในกระดาษให้ดูเลยว่าตรงนี้เอื้อนยังไง ส่วนครูคนที่สามเน้นเรื่องจังหวะ
“ผมเรียนร้องเพลงจนถึงอายุ 15-16 ปี แต่การเรียนของผมไม่ใช่แบบสถาบันดนตรีที่เป็นคอร์ส สมมติผมจะร้องเพลงนี้ ก็ไปติวเฉพาะเพลงนั้นๆ ซึ่งเพลงที่ฝึกก็เป็นเพลงที่คนนิยมใช้ประกวดกัน”
เดินสายประกวดเป็นประจำ มีวิธีแบ่งเวลาเรียนอย่างไร เราถามนักร้องหนุ่ม “งานประกวดส่วนใหญ่จัดในงานวัด ซึ่งเป็นเวลาค่ำ เราอาจขอครูกลับบ้านไวหน่อย แต่ไม่ขาดเรียน งานที่ประกวดช่วงเช้าหรือบ่าย ก็จะเลือกไปเฉพาะที่จัดเสาร์อาทิตย์ ส่วนจันทร์ถึงศุกร์ เลือกงานที่จัดกลางคืนครับ” ด้านคุณแม่ที่คอยขับรถรับส่งนั้น ลีโอชี้แจงว่า เพราะแม่ค้าขาย เลยไม่มีเวลาทำงานตายตัว อีกทั้งสุขภาพของแม่ไม่แข็งแรง ต่อมารจึงเลิกขายของแล้วโฟกัสที่การรับ-ส่งลีโอ ปล่อยให้คุณพ่อเป็นหลักในการหาเลี้ยงชีพของครอบครัว
เราถามว่าเงินรางวัลที่ได้รับนั้นพอเพียงสำหรับจุนเจือครอบครัวไหม “แรกๆ ไม่ได้อะไรเลย แต่แม่คิดการณ์ไกลไว้ว่า ในอนาคตหากผมเก่งขึ้น สามารถได้รางวัลทุกเวที ไม่จำเป็นต้องที่หนึ่งเท่านั้น ที่สอง ที่สามก็ได้ ถือว่าคุ้มค่าเดินทางแล้ว และต่อให้ไม่ได้รางวัลติดมือเลย เราก็ยังได้ประสบการณ์ฮะ”
หัวใจลูกทุ่ง
ลีโอเริ่มเดินสายประกวดตั้งแต่อายุ 11 ปี และต่อเนื่องจนถึง 15-16 ปี นับแล้วเกินร้อยเวที นักร้องหนุ่มไม่เคยเปลี่ยนใจหรือหันเหไปร้องเพลงแนวอื่นนอกเหนือจากเพลงลูกทุ่งเลย “ต้องพูดตามตรงว่า ลูกทุ่งเป็นแนวเพลงที่มีเวทีประกวดเยอะสุด ส่วนตัวเป็นคนฟังเพลงได้ทุกแนว เลยไม่ติดที่จะร้องเพลงลูกทุ่ง ทว่าร้องไปได้สักพักเริ่มเข้าใจแก่น เริ่มหลงเสน่ห์ เพลงลูกทุ่งต่างจากแนวอื่นตรงสำเนียงการร้อง จังหวะ ทำนอง เนื้อร้อง เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในแนวอื่น พอรู้ตัวว่าชอบปุ๊บ ก็แน่วแน่ที่แนวเพลงนี้เลยครับ”
เราถามลีโอว่ามีชัยชนะหรือการพ่ายแพ้ครั้งไหนที่ยังติดตรึงใจอยู่ “ผมนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าเคยชนะที่หนึ่งเวทีไหนบ้าง ไม่ใช่ว่าชนะเยอะจนจำไม่ได้นะครับ แต่แทบไม่ค่อยได้รางวัลมากกว่า ยิ่งช่วงที่เราเป็นเด็กใหม่ ร้องสู้คนอื่นไม่ได้ ตื่นเต้น ตัวสั่น สำลักน้ำลาย แล้วยังเจอตัวเต็งอีก แต่แม่ก็คอยสอนว่าเรื่องแบบนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ ขึ้นเวทีบ่อยๆ ซ้อมบ่อยๆ เดี๋ยวก็ชิน การพัฒนาตัวเองต้องใช้เวลาฝึกฝน ส่วนการพ่ายแพ้ก็ไม่มีครั้งไหนที่จำฝังใจ เราแพ้ เราพลาดมาเยอะ แต่ค่อยๆ ปรับแก้จนพลาดน้อยลง แต่ถามว่าเสียใจไหม ตอนเด็กๆ เสียใจ แม่ก็คอยปลอบอีกว่า คนเก่งเขาไม่ได้เก่งตั้งแต่ต้น แม้ตอนนี้เรายังไม่เก่ง แต่ในอนาคตเราจะเก่งเหมือนเขา”
ลีโอเคยมีช่วงงอแง ไม่อยากเดินสายประกวด อยากไปเล่นกับเพื่อนมากกว่าบ้างไหม เราตั้งคำถาม “ไม่เคยคิดแบบนั้นเลยครับ เพราะผมสนุกกับการไปประกวด เราได้เดินทางเกือบทั่วประเทศ พบปะผู้คน เจอประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่เคยงอแงหรืออยากเลิกทำเลย จะมีแค่ตอนขึ้นร้องเพลงเนี่ยแหละที่ตื่นเต้น นอกนั้นค่อนข้างเอนจอย”
ไมค์หมดหนี้ฯ จุดเปลี่ยนชีวิต
“เริ่มต้นจากครอบครัวผมมีหนี้อยู่สองแสน เป็นหนี้ที่นาของคุณยาย และผมเคยดูตอนพี่ไรอัลแข่ง เราเคยเจอกันตอนเดินสายประกวด มาเห็นอีกทีพี่เขาไปออกรายการไมค์หมดหนี้ฯ และชนะถึง 200 สมัย ผมเลยลองสมัครดู ลองมาสู้เพื่อปลดหนี้ พอได้โอกาสเข้าแข่งขันก็ไม่คาดหวัง ปล่อยให้เป็นไปตามการตัดสินของคณะกรรมการ เราโฟกัสตรงหน้าที่ของเราพอ” ลีโอเล่าถึงการเข้าแข่งขันในรายการไมค์หมดหนี้ เสี่ยงโชค
ช่วงก่อนแข่งขัน ลีโอหยุดการเดินสายประกวดไประยะหนึ่ง เน้นการร้องเพลงเปิดหมวกเป็นหลัก ฝึกฝนให้ร้องได้หลากหลายแนว เมื่อเข้าประกวดในรายการ เขาคาดว่าความสามารถนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่การแข่งขัน ทว่าสิ่งที่เจอโหดหินยิ่งกว่านั้น “ด้วยปัจจัยความเหมาะสม และเรื่องลิขสิทธิ์เพลง จึงไม่ได้ร้องเพลงที่ถนัด เดิมคิดว่าน่าจะได้เปรียบกลับกลายเป็นไม่ได้ ผมต้องฝึกร้องหลายๆ เพลงเป็นครั้งแรก แล้วรายการถ่ายทำทุกอาทิตย์ เท่ากับว่าผมต้องฝึกร้องเพลงใหม่ทุกอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเหมือนวิ่งมาราธอนเลยครับ รู้ซึ้งถึงความเก่งของพี่ไรอัล แชมป์เก่าที่สามารถทำได้ ส่วนผมก็พยายามสุดกำลัง ไปซ้อมทุกครั้งไม่ขาด รักษาโอกาสที่ได้มาอย่างเต็มที่”
แมตช์ที่ลีโอรู้สึกจวนเจียนจะเสียแชมป์ คือการแข่งกับ ‘เจมส์บอนไซ’ ปัจจุบันเป็นศิลปินสังกัดยุ้งข้าวเรคคอร์ด “ตอนนั้นสุ่มได้เพลงพี่ไรอัล รักเก่าข้างกองฟาง ร้องยาก ทั้งเสียงสูง ทั้งเทคนิคแพรวพราว เรายังไม่ชินกับเพลงจึงทำได้ไม่เป็นที่พอใจนัก แล้วพี่เจมส์บอนยังเป็นหมอลำ เสียงดีมากอีก คะแนนเลยสูสี เป็นครั้งที่ลุ้นสุดขีดครับ”
เมื่อถามศิลปินหนุ่มว่ามีกลเม็ดอะไรที่โดนใจกรรมการจนครองแชมป์ได้นานขนาดนี้ เขามองว่าเป็นผลจากการพัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง “ผมร้องแบบลองผิดลองถูก ไม่ใช้วิธีเดิม ปรับไปเรื่อยๆ จนกรรมการถูกใจ พอจับจุดได้ก็ง่ายละ” ส่วนวิธีรับมือความกดดันจากการแข่งขันนั้น ลีโอตอบว่า “แรกๆ ยังไม่ชินก็เกร็งไปหมด ผมพูดไม่เก่งด้วย ยิ่งทำตัวไม่ถูก แถมเราไม่เคยร้องเพลงในห้องแอร์ที่เย็นขนาดนี้ ร้องไปสั่นไป ทั้งตื่นเต้น ทั้งหนาว พลอยทำให้เสียงไม่นิ่ง ต้องอาศัยความเคยชินและการปรับตัว”
ลีโอตกลงใจจบเส้นทางการแข่งขันไว้ที่แชมป์ 200 สมัย เช่นเดียวกับไรอัล “พอใกล้ๆ สมัยที่ 200 เป็นความรู้สึกดีใจและภูมิใจว่าตัวเราสามารถทำได้เหมือนกันนะ พอมองย้อนกลับไปจะเห็นทั้งอารมณ์สนุก เศร้า เสียใจ กดดัน ปะปนกันในการเดินทางนี้ แล้วเราจะเดินต่อดีไหม ถ้าเดินหน้าเราก็เหนื่อยต่อนะ (หัวเราะ) เลยตัดสินใจยุติที่จำนวนเดียวกับพี่ไรอัลซึ่งเป็นไอดอลของเรา” เงินรางวัลจำนวน 5,555,555 บาทที่ได้รับนั้น ลีโอนำไปปลดหนี้และเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เป้าหมายจากนี้คือการมีบ้านที่ไม่ต้องเช่าเขาอยู่อีกต่อไป
การเติบโตของลีโอ
หลังจากที่ต้องฝ่าฟันจนคร่ำหวอดอยู่ในสนามการแข่งขัน เพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้กรรมการประทับใจ และเพื่อให้ผู้ชมจดจำ วันนี้ลีโอเดินลงจากเวทีประกวด มุ่งมั่นกับการเป็นศิลปินเต็มตัว ความในใจที่เขาอยากบอกแก่คนที่เป็นแรงผลักดันให้เขามาไกลถึงวันนี้คือ
“อันดับแรก อยากขอบคุณตัวเองที่ไม่หยุด ไม่ท้อ ไม่ถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ยังทำไม่ได้ ขอบคุณที่พยายาม และไม่หยุดศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่สนใจ ไม่หยุดฝันที่จะเป็นให้ได้ในแบบที่ต้องการ
“นอกเหนือจากตัวเอง คนแรกที่อยากขอบคุณคือคุณแม่ ทั้งผลักดัน สั่งสอน ชี้ทาง และอยู่เคียงข้างผมเสมอ ผมมีทุกวันนี้ได้เพราะแม่ และขอบคุณแฟนคลับทุกคนที่ให้กำลังใจกันตลอด ซัปพอร์ตในทุกๆ ด้าน”
เราถามลีโอว่ามีคติประจำใจที่ยึดถือไหม ลูกทุ่งรุ่นใหม่คนนี้ตอบว่า “ผมไม่มีหลักคำสอนที่จดจำ ทุกอย่างย่อมแล้วแต่ใจล้วนๆ ถ้าใจเราไม่สู้ เราหยุด เราก็ย่ำอยู่แค่ตรงนั้น ผมเป็นคนที่ถ้าสนใจเรื่องใด ก็จะลงมือทำโดยไม่ต้องคอยบอกคอยย้ำ จนถึงวันนี้ไม่มีความคิดจะเลิกร้องเพลงเลยสักครั้ง ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ผมอยากหยุด” ทั้งนี้สิ่งที่ลีโอเรียนรู้จากประสบการณ์และเป็นบทเรียนสอนใจเขาคือ “ความผิดพลาดมีไว้แก้ไข ความพยายามและอดทนจะพาเราไปถึงฝั่งฝัน และอย่าลืมที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น”
ลีโอฝากผลงานเพลงให้แฟนๆ ได้ติดตามซิงเกิลแรกคือขอลา และซิงเกิลล่าสุดคือมาลัย แม้เพลงช้าจะเป็นแนวถนัดของเขา แต่เพลงที่มีจังหวะให้กระโดดโลดเต้นพอหอมปากหอมคอ ศิลปินคลื่นลูกใหม่คนนี้ก็เอาอยู่ ในอนาคตเขายังวาดฝันว่าอยากสืบสานสำเนียงเพลงลูกทุ่ง พร้อมพัฒนาด้านดนตรี ซึ่งเขากำลังศึกษาเรียนรู้ ให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และน่าสนใจยิ่งขึ้น
เชื่อว่าอนาคตของวงการเพลงลูกทุ่งคงสดใสเรืองรองเป็นแน่ เพราะเด็กรุ่นใหม่ยังหวงแหนและสืบสาน พร้อมพัฒนาให้คงอยู่ในโลกสมัยใหม่ต่อไป
Costume: Stylist Workpoint
Makeup: Workpoint Team
Location: MeStyle Museum Hotel
99 ซอยประชาราษฏร์บำเพ็ญ19 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
Tel: 02 690 8899
Line Official: @mestylehotelgroup
E-mail: rsvn@mestylehotelgroup.com
Website: www.mestylemuseum.com
Facebook: MeStyle Museum Hotel
Instagram: Mestylemuseum
คอลัมน์: เรื่องจากปก