เทคโนโลยีใหม่ไม่ว่าจะเป็น Chat GPT หรือโซเชียลมีเดีย หรือการมี “กระดานดำอิเล็กทรอนิกส์” หรือการใช้อุปกรณ์ iPad หรือเครื่องมือค้นหา Google ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การศึกษาหรือการเรียนรู้ แต่เป็นเครื่องมือของการได้มาซึ่ง 4 เป้าหมายของการศึกษาที่มีความสำคัญมาก นั่นก็คือ K (knowledge-ความรู้) S (skills-ทักษะ) A (attitudes-ทัศนคติ) B (behavior-พฤติกรรม) และ V (value-คุณค่า หรือค่านิยม)
K-S-A ทำให้เป็นคนที่มีสมรรถนะ (competency) ในการประกอบอาชีพ และเป็นพลเมืองที่มีผลิตภาพในการผลิตและสร้างสรรค์ให้แก่สังคม ส่วน B คือพฤติกรรมอันเหมาะสมแก่การเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมซึ่งถูกกำกับโดย V อันหมายถึงการมีความเชื่อในหลายคุณค่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณธรรม
อย่างไรก็ดี ผู้คนจำนวนมากมีความเข้าใจผิดว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเหล่านี้คือการศึกษาหรือการเรียนรู้ ห้องเรียนต้องมีอุปกรณ์อันทันสมัยเช่นเดียวกับผู้เรียนต้องสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีไอทีที่ก้าวหน้าได้จึงจะเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ พูดง่ายๆ คือถ้าขาดไฮเทคแล้วก็ไม่สามารถทำให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพได้
ความเข้าใจผิดนี้ทำให้สังคมเสียทรัพยากรที่ไม่จำเป็นอย่างมากมาย รัฐบาลต้องเสียงบประมาณและพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียเงินทองเพื่อให้ลูกหลานเข้าถึงเทคโนโลยีอันก้าวหน้า แต่แท้จริงแล้วการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีธรรมดา ตราบใดที่ผู้บริหารและครูสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่จำกัด เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่พอใช้งานได้ คุณภาพของครู ทรัพยากรการเรียนการสอนต่างๆ การจัดตารางเวลาการเรียนการสอน การใช้ครู การมีกฎกติกาที่เหมาะสมของสถาบันการศึกษา การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียนรู้ การร่วมมือของผู้ปกครอง ฯลฯ
“กฎกติกาที่เหมาะสม” อันหนึ่งซึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์จากการเรียนการสอนนักศึกษาก็คือการอนุญาตให้นักศึกษาหรือนักเรียนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อินเทอร์เน็ต เช่น laptop หรือ iPad ได้ในขณะที่กำลังเรียนในห้อง การอนุญาตนี้เป็นความผิดพลาดอย่างมากเพราะทำให้ผู้เรียนเพิกเฉยต่อการเรียนรู้ที่อยู่ข้างหน้าจากครูและเพื่อน เท่าที่สังเกตพบว่าผู้เรียนใช้เวลากว่าร้อยละ 50 ในห้องเรียนกับการ “ออกไปนอกห้องเรียน” ด้วยอุปกรณ์เหล่านี้อย่างมิได้เกี่ยวพันกับการเสริมเพิ่มเติมการเรียนรู้ที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าแต่อย่างใด ตัวเลขนี้สอดคล้องกับผลงานวิจัยหลายชิ้นทั้งต่างประเทศและในประเทศ
หากเราต้องการการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มด้วยการห้ามใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างเด็ดขาด (อาจารย์และผู้เรียนตกลงกันไว้ก่อนเริ่มเรียนวิชาว่าจะมีกฎกติกาในการเรียนรู้กันอย่างไร ผู้เรียนมีสิทธิเสนอแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับผู้สอน) ซึ่งจะทำให้มี “สิ่งดึงดูดใจนอกห้อง” ลดลงไปอย่างมาก ถ้าครูทำหน้าที่แบบสมัยใหม่คือ เป็นผู้อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ มิใช่ครูสมัยก่อนที่เป็นแหล่งของข้อมูลโดยถ่ายทอดจากปากครูสู่ผู้เรียนอยู่ฝ่าย อีกทั้งฝึกฝนและปลุกเร้าให้เกิดการคิดเป็น เกิดการอยากเรียนรู้ ส่งเสริมการแสดงความเห็นอย่างเสรีและสร้างสรรค์ ก็จะเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงขึ้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ราคาแพงแต่อย่างใด
ผู้เขียนมิได้ต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ต้องการบอกว่ามันเป็นแค่เงื่อนไขจำเป็น (necessary conditions) แต่ไม่เพียงพอ (sufficient conditions) ต่อการเกิดขึ้นของการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
การทุ่มเทของครูด้วยใจ ด้วยความมุ่งมั่นและความปรารถนาดีต่อผู้เรียน และการบริหารทรัพยากรอย่างเหมาะสมคือคำตอบ
คอลัมน์: สารบำรุงสมอง / เรื่อง: วรากรณ์ สามโกเศศ