โบโฌเลส์ นูโว เป็นไวน์แดงทำจากองุ่นกาเมย์ (Gamay) ซึ่งแหล่งผลิตอยู่ในภูมิภาคโบโฌเลส์ (Beaujolais) ตอนเหนือของแคว้นลียงในฝรั่งเศส และปลูกในดินที่เป็นหินแตกร่วน หลังการเก็บเกี่ยวองุ่นนี้ ก็หมักไว้เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนนำออกขายในวันพฤหัสบดีที่สามของทุกปี เหล่าผู้จัดจำหน่ายต่างแข่งขันกันเพื่อให้ได้ขวดแรกส่งไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลก ความสำคัญของไวน์โบโฌเลส์ นูโวมี 2 ประการ คือหนึ่งนิยม “ดื่ม” กันอย่างจริงจังแทนที่จะ “จิบ” เหมือนไวน์ทั่วไป สองไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถือเป็นไวน์สำหรับการฉลอง จึงไม่ต้องคำนึงถึงพิธีรีตองใดๆ ไวน์ชนิดนี้มีคุณภาพยอดเยี่ยมอยู่ที่ประมาณ 6 สัปดาห์หลังวางตลาด หากนานกว่านั้นคุณภาพจะเริ่มลดลงตามลำดับ
ไชโยโห่ฮิ้ว โบโฌเลส์ นูโว มาแล้ว (Cr. Foodmakers.it)
ย้อนไปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ไร่องุ่นจากแหล่งผลิตไวน์ โบโฌเลส์ (Beaujolais) ตั้งอยู่ตอนใต้ของแคว้นเบอร์กันดี ชาวสวนโบโฌเลส์รวมตัวกันฉลองการสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวโดยดื่มเหล้าองุ่นจากไวน์สดใหม่ที่ใช้มือปลิดจากเถาองุ่นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผลิตในปีนั้น เพื่อให้ไวน์สามารถวางตลาดให้ดื่มได้ทันในเดือนพฤศจิกายน แต่การจัดส่งไวน์จำนวนมากในเวลาอันสั้น จำเป็นต้องพึ่งระบบขนส่งทุกชนิด เช่น ใช้ช้าง บอลลูน รถลาก เครื่องบินคองคอร์ด เฮลิคอปเตอร์ เจ็ตส่วนตัว เครื่องบินเจ็ตทหาร โบอิ้ง747 รถบรรทุกรถไฟ รวมทั้งส่งทางเรือหรือปล่อยให้ลอยไปตามแม่น้ำ เพื่อให้ถึงทันกาลก่อนจะเริ่มรินแก้วแรกในเวลา 00:01 น. ของวันพฤหัสบดีที่สาม อันเป็นวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการตามกฎหมายฝรั่งเศส งานปาร์ตี้จะจัดขึ้นทั่วประเทศและทั่วโลกเพื่อฉลองไวน์แก้วแรกของฤดูกาล โดยมีดอกไม้ไฟ ดนตรี การเริงระบำ เฉกเช่นเทศกาลรื่นเริงตามภูมิภาคต่างๆ เจ้าของบาร์และภัตตาคารในเมืองลียงนิยมซื้อไวน์โบโฌเลส์ใหม่ทั้งถังตั้งแต่เดือนกันยายนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเสิร์ฟในเดือนพฤศจิกายน
เส้นทางการขนส่งเหล้าองุ่นอย่างรวดเร็ว เริ่มจากการแข่งขันกันเพื่อให้ไวน์ขวดแรกไปถึงปารีส ในปี 1960 สโมสรในอังกฤษให้รางวัลชนะเลิศแก่นักแข่งรถด้วยไวน์มากมาย อีกทั้งมีการรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 1970 ก็กลายเป็นงานระดับนานาชาติ เพื่อฉลองการแข่งขันต่างๆ แพร่หลายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป ตามมาด้วยอเมริกาเหนือในทศวรรษ 1980 และทวีปเอเชียในทศวรรษ 1990
ในปี 1972 นิวยอร์กเป็นเมืองเดียวในสหรัฐอเมริกาที่นำเข้า Beaujolais nouveau ต่อมา มินนิอาโพลิสกลายเป็นเมืองที่สองของสหรัฐฯ ที่นำเข้า จนขณะนี้มีขายในเมืองส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ และในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ส่วนในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่ได้ดื่มโบโฌเลส์ นูโว เพราะการกำหนดวันแรกของการดื่มนั้นเริ่มนับตามเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ชาติตะวันออกจึงเริ่มวันใหม่ก่อนชาติตะวันตกอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา คนญี่ปุ่นชื่นชมกับการได้ดื่มโบโฌเลส์ นูโว ซึ่งเป็นเครื่องแสดงความมีรสนิยมของคนดื่ม ขณะที่หนุ่มสาวบอกว่าการได้ดื่มโบโฌเลส์ นูโว ถือว่าโก้มาก
ในเมืองไทยยุคที่เศรษฐกิจพองเป็นลูกโป่ง ระหว่าง พ.ศ.2537 – 2539 เคยมีผู้สั่งโบโฌเลส์ขึ้นเครื่องบินมาจากฝรั่งเศส พอถึงสนามบินดอนเมืองก็รีบลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงบนดาดฟ้าของโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งหนึ่ง จนเป็นที่ฮือฮากันมาก ต่อมาหลังฟองสบู่แตกเมื่อ พ.ศ.2540 ก็แทบไม่มีกิจกรรมนี้อีกเลย เดิมทีมีผู้สั่งนำเข้ามาขายประมาณ 7-8 ยี่ห้อ ก่อนจะทยอยเลิกรากันไปเพราะคนไทยชอบไวน์หนักแน่น ประกอบกับภาษีไวน์ที่แพงขึ้นเรื่อยๆ เหลือที่ยังยืนหยัดนำเข้าในปัจจุบันคือ จอร์จ ดูเบิฟ (George Duboeuf) และโจเซฟ ดรูฮิน (Joseph Drouhin) แม้ว่าโบโฌเลส์ นูโว เป็นหนึ่งในสีสันที่จางหายจากเมืองไทย แต่ไม่เคยจางหายจากวิถีแห่งวัฒนธรรมของชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในไทย
การผลิตไวน์นี้เป็นการหมักชนิดไม่ใช้ออกซิเจน หมักทั้งผลเบอร์รีซึ่งเน้นรสชาติของผลไม้โดยไม่ดึงเอาแทนนิน (tannin) ที่มีรสฝาดออกจากเปลือก องุ่นถูกเทใส่ในภาชนะปิดผนึกขนาดใหญ่ ลูกองุ่นจะถูกบีบเบาๆ ลงก้นภาชนะ จากนั้นองุ่นก็เข้าสู่กระบวนการหมักโดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (maceration carbonic) ซึ่งเป็นการหมักองุ่นที่เรียก “การหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน” ดังนั้นไวน์ที่ได้จึงมีสีแดงสดใสรสสดชื่น เช่น เชอร์รี สตรอเบอร์รี และราสป์เบอร์รี พร้อมกับกลิ่นผลไม้ของกล้วย องุ่น มะเดื่อ และลูกแพร์ แต่มีสีม่วงเข้มกว่าเล็กน้อย เพราะรสผลไม้ที่เข้มข้นกว่าและมีแทนนินต่ำมาก เหมาะสำหรับดื่มทันที มีผู้พรรณนาว่า “ไวน์จากเหล้าองุ่นนี้ สดเหมือนความทรงจำของการเก็บเกี่ยวในรอบปี ซึ่งไม่ถูกขัดเกลาตามกาลเวลา สะท้อนภาวะอารมณ์ในช่วงเวลานั้น” ดังนั้นควรบริโภคภายในไม่กี่เดือนแม้ว่าจะสามารถเก็บรักษาไว้ได้สองสามปี แต่รสก็ไม่ดีขึ้นตามอายุ
นอกจากใช้สำหรับดื่มแล้ว โบโฌเลส์ นูโว ยังเหมาะสำหรับเชฟในการปรุงอาหารด้วยไวน์ เนื่องจากเป็นไวน์เยาว์วัย อาหารที่ปรุงด้วยไวน์นี้มักออกสีม่วงคล้ำกว่าสีแดงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมนู Coq au Vin (ไก่ตุ๋นแบบฝรั่งเศสกับไวน์ เห็ด และกระเทียม) และเหล้าลูกแพร์ ซึ่งเป็นอาหารดั้งเดิมจากเบอร์กันดี
อ้างอิง:
ธวัชชัย เทพพิทักษ์ / Drink & Culture19 พ.ย. 2565
winespectator.com
Parkinson, Justin (20 November 2014). “Is Beaujolais Nouveau making a comeback?”. BBC News magazine.
“Beaujolais Nouveau: History Behind the Third Thursday in November” (Flash). IntoWine. Retrieved 15 March 2007.
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี
ภาพ: อินเทอร์เน็ต