เมื่อหมดฤดูฝน ลมหนาวเริ่มพัดมาวอนวอย ก็เป็นสัญญาณของเทศกาลงานบุญและการรื่นเริงพี่น้องสองฝั่งโขง งานเทศกาลหรือ ບຸນ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมลาว-ไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิม มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันในประเพณีวิถีชีวิตตามฤดูกาลและความเชื่อที่น่าศึกษาทำความเข้าใจ
ບຸນມະໂຫລານ บุนมะโหลาน คือ งานเทศกาล คำว่า ‘บุน’ ก็คือ ‘บุญ’ ในภาษาไทย แต่ในภาษาลาวไม่ได้มีความหมายจำกัดเพียงกุศลกรรมความดี ทว่ายังหมายรวมถึงงานฉลองเทศกาลหรืองานรื่นเริง หรือการจัดงานที่มีคนมาร่วมจำนวนมากใดๆ ทั้งหมด คำว่า บุนมะโหลาน อาจเทียบได้กับ festival ในภาษาอังกฤษ
ບຸນຄູນເຂົ້າ บุนคูนเข้า หมายถึง เทศกาลบูชาข้าว จัดขึ้นในราวเดือนยี่ หรือเดือนมกราคมตามปฏิทินสากล บุนคูนเข้าในลาวเทียบได้กับบุญคูนลาน หรือบุญคูนข้าว ตามประเพณีอีสาน เพื่อทำขวัญนา บูชาพระแม่โพสพหลังเก็บเกี่ยวและเอาข้าวขึ้นเล้าเข้ายุ้งฉาง
ບຸນຜະເຫວດ บุนผะเหวด หมายถึง บุญฟังสวดพระเวสสันดรชาดก จัดขึ้นในราวเดือนสี่ หรือประมาณเดือนมีนาคมต่อเมษายน เป็นเทศกาลฟังพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกให้เป็นสิริมงคล เป็นที่ระลึกถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อกันว่าหากฟังเทศน์ผะเหวดครบทุกกัณฑ์จะได้ไปสวรรค์ นอกจากนี้ในบุนผะเหวดยังอาจมีการแห่ผะเหวดหรือพระเวสสันดรเข้าเมืองด้วย
ບຸນຫ່ອເຂົ້າປະດັບດິນ บุนห่อเข้าปะดับดิน หมายถึง บุญอุทิศทานแก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการห่อข้าวใส่กระทงเก้าช่องวางไว้ตามทางสามแพร่ง ให้ดวงวิญญาณของผู้ตายและภูตผีทั้งหลายในปรภพมารับไป จัดขึ้นในราวเดือนสิบหรือกันยายนถึงตุลาคม
ບຸນສ່ວງເຮືອ บุนส่วงเฮือ หมายถึง บุญแข่งเรือ เป็นการแข่งเรือยาวในลำน้ำเพื่อเสี่ยงทายผลการเก็บเกี่ยว และบูชาเทพเจ้าแห่งแม่น้ำอันเป็นที่สรณะหรือพึ่งของชาวลุ่มน้ำโขง และยังเป็นการฝึกฝนฝีพายชายหนุ่มให้คล่องแคล่ว จัดขึ้นในช่วงก่อนออกพรรษา
ບຸນທາດຫຼວງ บุนทาดหลวง หมายถึง เทศกาลบุญพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ เป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวลาวเพื่อบูชาและระลึกถึงการก่อสร้างพระธาตุหลวงของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จัดขึ้นช่วงวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ບຸນກິນຈຽງ บุนกินเจียง หมายถึง เทศกาลปีใหม่ของชาวม้งลาว เป็นเทศกาลลาวของชนเผ่าม้งบนที่ราบสูงในแขวงทางตอนเหนือ มีการแต่งกายตามแบบชาวม้งและการละเล่นมากมายแตกต่างจากชาวลาวพื้นราบ
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญุสุข