ยามเมื่อลมหนาวเริ่มพัดมา รวงข้าวในนาถูกเก็บเกี่ยว เทศกาลงานบุญฉลองต่างๆ ของชาวลาวและชาวอีสานก็เริ่มต้นขึ้น คนลาวโดยมากเป็นคนรักในศีลกินในธรรม ทำนุบำรุงรักษาวัดวาอารามให้สะอาดสวยงามอยู่เสมอ และยังดำรงขนบธรรมเนียมประเพณีแบบพุทธลาวดั้งเดิมได้น่าชื่นชม ภาษาลาวที่ใช้ในวัด มักมาจากภาษาบาลีที่ปริวรรตตัวสะกดเป็นเสียงลาว ดังนั้นจึงคล้ายคลึงกับไทยอย่างมาก ยกเว้นบางคำที่เป็นคำลาวประสม หรือเพี้ยนเสียงใช้เฉพาะและน่าศึกษาทำความเข้าใจ
ພະເຈົ້າ พะเจ้า คือ พระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูป ภาษาลาว หรือภาษาล้านนา (คำเมือง) มักเรียกพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปรวมย่อว่า พระเจ้า หรือ พะเจ้า แสดงถึงความเคารพนบนอบนับถืออย่างสูงสุด และนำคำเรียกนี้มาใช้กับเจ้าผู้ครองนครหรือพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน ในความเชื่อพุทธแบบลาวมีความนับถือ ພະເຈົ້າຫ້າພະອງ พระเจ้าห้าพระองค์ คือพระพุทธเจ้าที่ได้มาบังเกิดและเผยแผ่พระศาสนาในภัทรกัปนี้ ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสปะ พระสมณโคดม และพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นหัวใจความเชื่อเพื่อคุ้มครองตน โดยมีคาถาคือ “นะ โม พุท ธา ยะ” ศักดิ์สิทธิ์สลักเขียนไว้ในวัดวาอารามส่วนมาก ต่อมาเมื่อศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแผ่ก็ได้ใช้คำเดียวกันนี้เรียกพระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์ฉบับแปลลาวเช่นกัน
ທາດ ทาด คือ ธาตุ หรือเจดีย์ นอกจากเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุพระบรมอัฐิพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าของชาวลาว ยังรวมถึงอัฐิธาตุของผู้ล่วงลับไปแล้ว เจดีย์อนุสรณ์ที่สร้างไว้เพื่อรำลึกในเหตุการณ์ หรืออุทิศให้แด่พระธรรมคำสอน หรือบุคคลสำคัญต่างๆ โดยไม่มีอัฐิธาตุอยู่ภายใน ทาดมักตั้งอยู่ในเขตวัดเพื่อเป็นที่บูชาสักการะ และเป็นหมุดหมายปูชนียสถาน เช่น ພະທາດຫລວງ พระธาตุหลวงเวียงจันทร์ ທາດດຳ ธาตุดำ ທາດຂາວ ธาตุขาว ພະທາດພູສີ พระธาตุภูสีหลวงพระบาง
ບຸນ บุน ในภาษาลาวแปลความหมายได้สองทาง คือ คุณความดีที่ได้ประกอบกระทำ เหมือนคำว่า ‘บุญ’ ในภาษาบาลีและภาษาไทย แต่ความหมายอีกทางหนึ่ง คือ งานเลี้ยง งานฉลอง เมื่อเสียงดังเอิกเกริกก็เปรียบเทียบเป็นสำนวนว่า ປ່ານວ່າບ້ານງານບຸນ ป่านว่าบ้านงานบุน หมายถึง เหมือนอยู่ในงานเลี้ยง รวมทั้งคำขยายว่า ບຸນມະໂຫລານ หมายถึงงานเทศกาลขนาดใหญ่ เดือนธันวาคมในนครหลวงเวียงจันทน์ จะมีการฉลองใหญ่ ณ วัดทาดหลวง หรือวัดพระธาตุหลวง เป็น ບຸນມະໂຫລານພະທາດຫລວງ งานประจำปียิ่งใหญ่ที่สุดของชาวลาว
ແມ່ອອກ แม่ออก คือ โยมอุปัฏฐากที่เป็นผู้หญิง หรืออุบาสิกาที่ช่วยดูแลอยู่ในวัด ธรรมเนียมลาวนั้นแยกแม่ออกอุบาสิกากับแม่ชีออกจากกัน และแม่ออกเป็นคนทำงานดูแลความสะอาดเรียบร้อยช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์และแม่ชี ตลอดจนจัดกิจกรรมกิจการต่างๆ หากเป็นอุบาสกเพศชาย จะเรียก ພໍ່ອອກ พ่อออก
ຕາປະຂາວ ตาปะขาว คือ ชีปะขาว หรือชีผ้าขาว หมายถึงอุบาสกที่นุ่งขาวห่มขาวช่วยงานในวัด และอาจรวมถึงมัคทายกที่คอยนำสวดมนต์อาราธนา ถวายภัตตาหารต่างๆ และทำพิธีฝ่ายฆราวาส ตาปะขาวแตกต่างจากพ่อออกตรงที่ ตาปะขาวถือศีล 8 เป็นขั้นต่ำ และเชี่ยวชาญด้านคาถาคำสวดพระพุทธมนต์ต่างๆ ด้วย จึงได้รับความนับถือรองจากพระสงฆ์
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข